จับตา ‘สหภาพยุโรป’ กับอิทธิพลใหม่ในอาเซียน

บทความต่างประเทศ

 

จับตา ‘สหภาพยุโรป’

กับอิทธิพลใหม่ในอาเซียน

 

ทุกปีราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ ศูนย์อาเซียนศึกษาของสถาบันไอเซียส-ยูซอฟ อิซฮัค องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ จะเผยแพร่รายงานผลการวิจัยด้วยการสำรวจประจำปีเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียนออกมาชิ้นหนึ่ง เรียกว่า The State of Southeast Asia survey report

รายงานประจำปี 2023 ซึ่งมี เมลินดา มาร์ตินัส เป็นหัวหน้าทีมวิจัยและเป็นผู้เขียนรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ เผยแพร่ออกมาเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลสะท้อนที่ชัดเจนอันเนื่องมาจากการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลเหนือกลุ่มประเทศอาเซียนมานานปีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่ว่านั้นก็คือ การที่อิทธิพลของ “มือที่สาม” อย่างสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดในหมู่ชาติอาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมา

อียูกลายเป็น “หุ้นส่วน” ที่ชาติอาเซียนต้องการปฏิสัมพันธ์ด้วย แถมความไว้วางใจต่ออียูในฐานะ “ผู้เล่น” สำคัญบนเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลกก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามซึ่งมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ, นักธุรกิจ, นักวิชาการ และบรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันวิชาการอิสระ และสถาบันเพื่อการวิจัยทางวิชาการต่างๆ ใน 10 ชาติอาเซียน สูงถึงเกือบ 43 เปอร์เซ็นต์ มองอียูในฐานะที่เป็น “หุ้นส่วนทางเลือก” แทนการเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาของอาเซียน

สัดส่วนที่ว่านั้นสูงกว่าประเทศที่คุ้นเคยกันดีหรือประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และอินเดีย อยู่มากมายเลยทีเดียว

 

เมลินดาบอกเหตุผลไว้ว่า การขับเคี่ยวระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา กลายเป็นปัจจัยบีบบังคับให้ชาติในอาเซียนต้อง “ขยายทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์” ของแต่ละประเทศออกไปมากกว่าเดิม

ปฏิสัมพันธ์กับอียูสามารถนำมาใช้เป็น “กันชน” รองรับแรงกระแทกรุนแรงจากการแข่งอิทธิพลของสองมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ

ในเวลาเดียวกัน จุดยืนของอียูในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน, สิทธิมนุษยชน, หลักการปกครองด้วยกฎหมายและสุดท้ายก็คือเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดน ซึ่งอียูยึดถือมานานและต่อเนื่อง ก็กลายเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า อียูเป็นหุ้นส่วนในระดับโลกที่ “รับผิดชอบ”

ซึ่งตรงกับความต้องการของอาเซียน ที่ต้องการรักษาระเบียบโลกในเวลานี้เอาไว้

4.2 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด คิดว่า อียูเป็น “ผู้เล่น” ในทางด้านเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูงสุดในภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจเมื่อ 1 ปีก่อนหน้ามากเลยทีเดียว

และยิ่งเห็นนัยสำคัญได้มากยิ่งขึ้นหากนำตัวเลขสัดส่วนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้ที่มีความคิดเห็นว่า สหรัฐอเมริกาคือชาติที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งมีเพียงแค่ 10.5 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น เกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า อียูเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดทางการเมืองและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียงแค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นด้วยว่า จำนวนผู้ที่มีความเชื่อมั่นต่ออียูในฐานะ “แชมเปี้ยนของการค้าเสรี” และการเป็นผู้นำในการดำรงระเบียบโลกอันอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและการยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ มีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน มากจนส่งอียูให้กลายเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดลึกลงไปในรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ จะพบว่า อิทธิพลและความนิยมชมชอบต่ออียูนั้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดและเร็วที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจกับอียูอยู่น้อยมากในเวลานี้

ตัวอย่างเช่น ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการสำรวจเมื่อปีก่อน ชาวลาวเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีความเชื่อมั่นว่า อียูจะทำ “ในสิ่งที่ถูกต้อง” เพื่อนำโลกไปสู่สันติภาพ, มั่นคงปลอดภัย, รุ่งเรืองและเต็มไปด้วยธรรมาภิบาล

แต่ในปีนี้ ผลสำรวจกลับแสดงให้เห็นว่าชาวลาวมากถึงเกือบ 2 ใน 3 เชื่อมั่นว่าอียูจะทำเช่นนั้น

ความเชื่อมั่นต่ออียูในกัมพูชาก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกัน ราว 4 ใน 5 ของชาวกัมพูชามั่นใจว่าอียูคือ “ทางเลือกที่สาม” แทนที่การเลือกข้างระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ถือเป็นระดับความเชื่อมั่นสูงสุดเท่าที่ปรากฏใน 10 ชาติอาเซียน

เซือน สม นักวิเคราะห์นโยบาย ประจำราชวิทยาลัยแห่งกัมพูชา ชี้ว่า เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา อียูเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากกัมพูชารายใหญ่ และความสัมพันธ์ทางด้านการทูตก็ดีขึ้นมากหลังจากกัมพูชารับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับการยกย่องอย่างมากจากการแสดงท่าทีชัดเจนให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรตะวันตกในการต่อต้านรัสเซียที่ส่งกำลังทหารบุกยูเครน

เซือน สม ระบุว่าที่ผ่านมา กัมพูชาถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด บ้างก็ว่าใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป หรือไม่ก็ตามหลังสหรัฐอเมริกามากเกินไป แต่ตอนนี้ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กัมพูชาใกล้ชิดกับอียูมากเกินไปออกมาเลย

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อียูรักษาหรือกระชับเพิ่มความสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้ด้วยดี เช่น กลับมารื้อฟื้นการเจรจาการค้ากับไทยเมื่อต้นเดือนมีนาคม และแสดงท่าทีว่าจะกลับไปเจรจาการค้ากับฟิลิปปินส์อีกเช่นกัน c9jความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับอินโดนีเซียและมาเลเซียกลับลดลง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศทั้งสองเป็นชาติผู้ผลิตน้ำมันปาล์มระดับต้นๆ ของโลกและมีปัญหากับอียูซึ่งต้องการลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากทั้งสองประเทศ โดยให้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นกรณีขัดแย้งกันในองค์การการค้าโลกอยู่ในเวลานี้

บริดเจท เวลช์ นักวิเคราะห์ประจำสถาบันวิจัยเอเชียของมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ชี้ว่านอกจากปัญหาปาล์มน้ำมันแล้ว กรณีนี้ยังเกิดขึ้นจากกรอบคิดที่หยั่งรากลึกว่า โลกตะวันตกยึดถือชาติมุสลิมเป็นเป้าในการบังคับให้รับเอา “ค่านิยม” ตามแบบฉบับตะวันตกไปใช้

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียแสดงออกถึงท่าทีเช่นนี้อย่างชัดเจนในระหว่างการประชุมสุดยอดอียู-อาเซียนที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการประกาศว่า ตนไม่ต้องการมาฟังการ “เล็กเชอร์” ใดๆ จากอียู ต้องไม่มีใครยัดเยียด “ทัศนคติ” ใดๆ ให้ใคร และต้องไม่มีใครบังคับให้คนอื่นๆ เห็นว่ามาตรฐานของตัวเองดีกว่ามาตรฐานของผู้อื่น

ประเด็นที่น่าจับตามองอย่างมากก็คือ อินโดนีเซียคือประธานอาเซียนในปีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่

หรือจะชะงักงันอยู่แค่นี้อย่างน่าเสียดาย