‘พี่ชายที่แสนดี’ เพลงดังที่เคยถูกมองว่า ‘ซูเปอร์ป๊อป’ ไม่พอ

คนมองหนัง

“พี่ชายที่แสนดี” คือเพลงฮิตที่สุดเพลงหนึ่งจากยุค 80 ที่ยังคงเป็นที่รักของแฟนเพลงไทยจำนวนมากในปัจจุบัน

เพลงนี้บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “รุ้งอ้วน” ของ “อุ้ย-รวิวรรณ จินดา” ซึ่งออกวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2529 ในสังกัด “ครีเอเทียร์ อาร์ติสต์”

เป็นผลงานการแต่งทำนองของ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” (โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มชุดนั้น) เขียนเนื้อร้องโดย “ประภาส ชลศรานนท์” และเรียบเรียงดนตรีโดย “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร”

พนเทพเล่าไว้ในกิจกรรม “เล่นไป คุยไป” ที่ร้านอาหารอิมเมจิ้นเฮ้าส์ บ้านสวน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ว่า แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาเริ่มแต่งทำนองเพลง “พี่ชายที่แสนดี” ก็คือ เพลง “The Way We Were” ของ “บาร์บรา สไตรแซนด์”

นักแต่งเพลงผู้เรียนรู้เรื่องดนตรีมาจากการแกะเพลงสากล บอกว่าจุดเด่นในเพลงที่ขับร้องโดยสไตรแซนด์ จะอยู่ตรงการวางแพตเทิร์นของคอร์ดที่เค้นอารมณ์คนฟังแบบสองชั้น

ดังนั้น เขาจึงลองนำเอาแพตเทิร์นดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการแต่งทำนองเพลง “พี่ชายที่แสนดี” โดยพยายามเขียนเมโลดี้ในแบบฉบับของตนเองที่ไปกันได้กับทางคอร์ดแบบนี้

ไม่เพียงแต่ท่วงทำนองที่ไพเราะฝีมือพนเทพซึ่งเป็นอมตะ แต่คนฟังเพลงหลายรุ่นยังรู้สึกประทับใจกับเนื้อร้องของเพลง “พี่ชายที่แสนดี” ที่เขียนโดยประภาส

คนแต่งทำนองเช่นพนเทพเผยว่า เขาไม่ได้กำหนดถ้อยคำหรือเนื้อความพิเศษเฉพาะใดๆ ไปตีกรอบความคิดของคนเขียนคำร้อง

“จิก (ประภาส) เขานักเขียนอยู่แล้ว ก็เลย (บอกว่า) จิกใช้มโนของจิกเลย ว่าจิกฟัง (ทำนอง) แล้วควรจะเขียนเรื่องอะไร”

หลายปีที่แล้ว ทั้งตัวประภาสเองและเพื่อนนักแต่งเพลงของเขา คือ “นิติพงษ์ ห่อนาค” ได้เขียนเล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกันว่า ก่อน “พี่ชายที่แสนดี” จะกลายเป็นเพลงฮิต ผู้บริหารบางคนของค่ายครีเอเทียร์เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนเนื้อร้องของเพลงนี้ จากเนื้อหาเรื่อง “พี่กับน้อง” ที่เขียนโดยประภาส เป็นเนื้อหาฉบับอื่นที่มีลักษณะเป็น “เพลงรักแบบตลาด” มากกว่า

พนเทพก็จดจำสถานการณ์ช่วงนั้นได้ค่อนข้างแม่นยำ และถ่ายทอดเรื่องราวออกมาว่า

“เพลงนี้อยู่ในชุดอุ้ยซึ่งเป็นค่ายครีเอเทียร์ ค่ายครีเอเทียร์ตอนนั้นก็จะมีทีมจิกนี่แหละเขียนเนื้อ พี่ก็เอาเพลงนี้ให้จิกเขียนเนื้อให้อุ้ย ในชุดอุ้ยก็จะมีหลายเพลงอยู่แล้วแหละ

“ทีนี้ พอทีมครีเอทีฟของบริษัทเขาฟังทำนอง-เมโลดี้เพลงนี้ เขาคาดหวังว่าเพลงนี้ควรจะเป็นเพลงรักที่มัน ‘ซูเปอร์ป๊อป’ เพราะว่าตอนนั้น พวกการตลาดกับพวกครีเอทีฟเขาก็จะคิดเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าจะทำให้มันขายได้เยอะๆ

“พอมันออกมาเรื่องพี่กับน้อง ตอนนั้นแบบว่าพอที่ประชุมทีมงาน (รู้สึกว่า) ตายแล้ว ทำยังไงดีวะ? เราอยากจะได้เป็นเพลงรัก ขายใช่ไหม แต่พอเป็นเพลงพี่น้อง น้องรักพี่ แล้วมันจะฮิตได้ยังไง? ก็เกิดมีปัญหากันเยอะ แต่จิกเขาไม่ยอมไง จิกเขาค่อนข้างที่จะมั่นว่าผมอยากจะเขียน ผมเขียนเรื่องนี้แล้วต้องเป็นอย่างนี้

“สรุปสุดท้าย ทางทีมครีเอทีฟก็ยอม ก็ออกมาอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้น เพลงนี้ในอัลบั้มชุดนี้ ตอนแรกไม่มา (ไม่ฮิต) นะ แต่มันกลายเป็นเพลงที่แบบว่ามันใช้เวลาอยู่ยาวนานสุด”

 

ณ ต้นปี 2566 ที่เชียงใหม่ เมื่อ “ปิติ ลิ้มเจริญ” นักแต่งเพลงฝีมือดีอีกคนซึ่งเป็นสมาชิกของ “วงนั่งเล่น” ร่วมกับพนเทพ ทั้งยังเริ่มต้นการประกอบวิชาชีพทางด้านดนตรีกับค่าย “คีตา เรคคอร์ดส์” ที่มีประภาสเป็นหนึ่งในผู้บริหาร เอ่ยถามคนแต่งทำนองเพลง “พี่ชายที่แสนดี” ว่า

“ในฐานะที่พี่เขียนทำนอง ตอนนั้นที่พี่จิกเขียนเนื้อพี่ชายที่แสนดีมา แล้วพี่รู้สึกยังไง?”

คำตอบที่พนเทพบอกกับปิติก็คือ

“ตอนนั้น พี่รู้สึกว่ามันก็ไม่ใช่ความรู้สึกแบบที่พี่เขียนเมโลดี้ตอนแรก เพราะพี่เขียนเพลงรัก แต่พี่ก็รู้สึกว่ามันเป็นเพลงที่ดีเพลงหนึ่ง เพราะว่ามันไม่เหมือนใคร พี่ชอบอะไรที่แบบว่ามันพิเศษอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พี่โอเค” •

 

 

| คนมองหนัง