2566 ใครคือนายกฯ…ตัวจริง

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

2566 ใครคือนายกฯ…ตัวจริง

 

เพื่อไทยใช้กระแสการเมืองสร้างแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร 2564 และ…เศรษฐา ทวีสิน 2566 หวังได้ ส.ส.แบบชนะแลนด์สไลด์

พลังประชารัฐ สร้าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งแต่ 2564 สุดท้าย จะเหลือ ส.ส.กี่คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมเป็นนายกฯ ต่อ ตั้งแต่ 2564 แต่มาตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ปลายปี 2565

ผู้คนเข็ดขยาดผลงาน 8 ปี ครั้งนี้จะได้ ส.ส.กี่คน

มาดูสถานะทางการเมืองของแคนดิเดตนายกฯ เวลานี้

 

คำพูดของเศรษฐา ทวีสิน

คือการประกาศไม่แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกับผู้ใด

การเข้าสู่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการของเศรษฐา ทวีสิน และประกาศว่าตำแหน่งอื่นไม่เอา สนใจแค่ตำแหน่งนายกฯ

มีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าแบบนี้จะเป็นการบีบพรรคเพื่อไทยมากไปหรือไม่

แต่จากการวิเคราะห์และข่าวสารที่ได้รับทีมงานพบว่า เหตุผลที่เขาให้สัมภาษณ์ คือ

1. นับตั้งแต่เปิดตัวแพทองธาร ชินวัตร ในเดือนตุลาคม 2564 จนมาถึงการหาเสียงในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กระแสของแพทองธารได้ติดอันดับต้นหรืออันดับ 1 ของการสำรวจความนิยมในระยะ 1 ปีหลัง จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าขี่กระแสการเมืองลอยติดลมบนไปแล้ว

สามารถจะชูธงพรรคเพื่อไทยเข้าแข่งขันโดยหวังชัยชนะในการเลือกตั้งจริงได้

แม้กติกาจะบอกว่าสามารถส่งแคนดิเดตนายกฯ ได้ 3 คน แต่ที่เป็นตัวหลัก ก็คือแพทองธารนี่แหละ

แต่การต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า ต้องมีตัวสำรองที่มีไว้ ก็เผื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นนายกฯ จริงได้

ขณะหาเสียงก็เป็นตัวเสริมที่สร้างคะแนน ความแข็งแกร่งให้พรรคเพื่อไทย

2. การประกาศของเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะไม่รับตำแหน่งบริหารอื่นนอกจากนายกรัฐมนตรี ก็คือการประกาศโดยอ้อมว่าจะไม่ลงไปแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกับผู้ใดในพรรค

เพราะอาจมีบางคนคิดไปว่าเขาหวังตำแหน่งรองนายกหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลัก

การประกาศเช่นนี้เท่ากับลดแรงกดดันภายในพรรค ยืนยันว่าเป็นการเข้ามาเพื่อช่วยงานพรรคอย่างแท้จริง

ถ้าเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาก็คงจะเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นรูปแบบการบริหารที่เคยดำเนินมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย

คือจะใช้ทีมงานที่ปรึกษาที่มีความสามารถหลายคนช่วยงานฝ่ายบริหาร

 

พรรคเพื่อไทยและแพทองธาร

จะรักษากระแสสูง

ไว้จนถึงวันเลือกตั้งได้หรือไม่?

วันนี้แพทองธาร ชินวัตร เต็งหนึ่ง แต่ถ้าย้อนดูหลังเลือกตั้ง 2562 จนถึงกลางปี 2564 พรรคเพื่อไทยยังไม่แสดงอย่างแจ่มชัดว่าจะกำหนดให้ใคร ขึ้นเป็นหัวขบวนเพื่อชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

กลางปี 2564 นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยเข้มแข็งเสียงดีแต่ปัญหาคือ…ไร้หัว ยังมองไม่เห็นผู้นำที่จะเข้าไปแข่งขันในการเลือกตั้ง

ในขณะนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกฯ ก็แสดงเจตนารมณ์ชัดแล้วว่าจะลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ

แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าและกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทย แต่ทุกคนก็รู้ว่านั่นยังไม่ใช่คนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม 2564 จึงปรากฏตัว…แพทองธาร ชินวัตร…ขึ้นในฐานะที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความตกตะลึงของหลายส่วนหลายฝ่าย

กระแสที่ตอบรับกลับมา ถือว่าใช้ได้ ก็คือตระกูลชินวัตรเอาจริงไม่ทิ้งพรรค

จากนั้นก็มีการเสริมบทบาทแพทองธาร และไต่ตามกระแสขึ้นไปเรื่อยๆ พอถึงปี 2565 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อไทยได้ ส.ก.ใน กทม.มากที่สุด

กระแสพรรคเพื่อไทยพุ่งขึ้นเหนือฝ่ายตรงข้าม

จากนั้นมีการสร้างกระแสผ่านการยกกำลังพลไปปราศรัย ณ จังหวัดใหญ่ๆ และมีผู้เข้าฟังจำนวนมาก ทำให้กระแสพรรคเพื่อไทยดีวันดีคืน จากการเคลื่อนไหวของครอบครัวเพื่อไทยนำไปสู่การสร้างกระแสแลนด์สไลด์

เพื่อไทยและแพทองธารสร้างกระแสทางการเมืองมานานถึง 16 เดือน และดันกระแสขึ้นสูงมาได้ใน 3 เดือนหลังนี้ แต่การหาเสียงยังต้องอีกไม่น้อยกว่าสองเดือน โอกาสแลนด์สไลด์ คือต้องประคองกระแสสูงให้อยู่ตลอดถึงวันเลือกตั้ง…เป้าหมาย 265 เป็นงานหนักของทีมเสนาธิการ

 

แคนดิเดตนายกฯ ของฝ่ายรัฐประหาร

ผลประโยชน์ขัดกัน ต้องแยกทาง

2561 พลังประชารัฐ สร้างพรรค โดยรวบรวมเอานักเลือกตั้งจากหลากหลายกลุ่มการเมือง โดยใช้อำนาจ คสช. กลไกรัฐ ทั้งให้ ทั้งบีบ ส.ส.เก่ามาร่วม ได้นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลประยุทธ์ เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก

กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในบัญชีของ พปชร. เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

มิถุนายน 2562 พปชร. ตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค แม้เป็นพรรคอันดับ 2 ในสภา พปชร.จัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค รวมเสียงเกินครึ่ง 254 เสียง (โดยมีกรรมการช่วย) การที่ต้องเอาใจพรรคร่วมเต็มที่ ทำให้เก้าอี้ รมต.ไม่พอแบ่งในพรรค

มิถุนายน 2563 กก.บห. ชุดนายอุตตม สาวนายน ถูกยึดอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และนายอนุชา นาคาศัย จากกลุ่ม เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่

กรกฎาคม 2563 กลุ่ม “สี่กุมาร” ถูกบีบให้ออกจากรัฐบาล มีการปรับ ครม. แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้คุมตำรวจ ทหาร และมหาดไทย

กุมภาพันธ์ 2564 ศาลพิพากษาจำคุก กปปส. ในคดีชุมนุมการเมืองปี 2556-2557 ส่งผลให้ 3 รัฐมนตรีกลุ่ม กปปส. คือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายถาวร เสนเนียม ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันที

มีการปรับ ครม.อีกครั้ง แต่ พล.อ.ประวิตรก็ยังไม่ได้คุมกระทรวงหลัก พลพรรคต่างก็ไม่พอใจ

 

แผนยึดพรรค

พยัคฆ์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้

ตัวหนึ่งอยู่ที่พรรค อีกหนึ่งพยัคฆ์ต้องอยู่ทำเนียบ

มิถุนายน 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งผลให้นายอนุชา นาคาศัย เลขาฯ พรรค และ กก.บห. ออกยกชุด แต่ พล.อ.ประวิตรกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคดังเดิม และได้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค

กันยายน 2564 เกิดขบวนการล้มนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลคือ 2 รัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ถูกปลดพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหว นี่คือจุดเริ่มต้นของการยึดพรรค พปชร. และแยกพรรค

ผลของการต่อสู้ในปี 2565

พล.อ.ประวิทย์ยึดพรรคพลังประชารัฐสำเร็จและก็ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนประยุทธ์ก็ยึดทำเนียบเป็นฐานที่มั่นและต้องตั้งพรรคใหม่ซึ่งเปิดตัวในปี 2566 คือพรรครวมไทยสร้างชาติ

ถ้ามองโดยโครงสร้างและตัวบุคคลแล้วถือเป็นพรรคฝ่ายขวา

พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นตัวแทนของฝ่ายขวาซึ่งเข้ามาชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ทั้งสองพลเอกมีโอกาสจะเป็นนายกฯ ก็เพราะมี 250 ส.ว.คอยหนุน ลำพังถ้าให้ประชาชนเลือก แต่ละพรรคคงไม่ได้ ส.ส.ถึง 10% ของสภา

ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพายเรือให้ลูกพรรคนั่ง ไม่ว่าจะได้ ส.ส.กี่คน ถ้า พล.อ.ประวิตรไม่หนุน ประยุทธ์ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล