อักษรไทย มิได้เกิดจากปาฏิหาริย์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

อักษรมิได้เกิดจากปาฏิหาริย์การประดิษฐ์คิดค้นของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่ตัวอักษรจะถูกประดิษฐ์ดังเนรมิตสำเร็จในปีหนึ่งปีใดเพียงปีเดียว แต่อักษรไทยต้องเกิดจากความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม ด้วยพลังผลักดันของอำนาจการเมืองเป็นระยะเวลายาวนานมากก่อนเป็นอักษรไทย โดยวิธีดัดแปลงจากอักษรที่มีอยู่ก่อนและใช้กันมาก่อนอย่างคุ้นเคย

อักษรไทย คือ อักษรเขมร (หรือมอญ) ที่ถูกทำให้ง่ายด้วยอักขรวิธีที่ง่ายที่สุดในบรรดาตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ สมัยแรกใช้เขียน (ตวัดหาง) บนสมุดข่อย หลังจากนั้นจึงมีผู้ปรับปรุงใช้สลักหินด้วยตัวเหลี่ยมมนในบ้านเมืองตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ถ้านับจากอักษรไทยย้อนกลับไปหารากเหง้าจะพบว่าอักษรไทยได้แบบจากอักษรเขมรที่เรียก “อักษรขอม” ซึ่งวิวัฒนาการจากอักษรทวารวดี, อักษรปัลลวะ (ทมิฬ) ตามลำดับ [สรุปจากหนังสือหลายเล่ม] ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นแบบให้มีอักษรไทยขึ้นที่รัฐ อโยธยา-ละโว้ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยประมาณกว้างๆ เมื่อเรือน พ.ศ.1800

กว่าจะเป็นอักษรไทย คนพูดภาษาไทยขอยืมอักษรเขมรเขียนภาษาไทยเรียก “ขอมไทย” อย่างคุ้นเคยอยู่นานมาก ซึ่งบอกไม่ได้ว่านานเท่าไร? อาจเป็นร้อยปี หรือมากกว่านั้น (ระหว่าง พ.ศ.1600-1900)

ครั้นถึงช่วงเวลาหนึ่งเมื่ออำนาจของภาษาและวัฒนธรรมของคนพูดภาษาไทยมีมากขึ้น (ขณะนั้นยังไม่พบหลักฐานว่าเรียกตนเอง “คนไทย”) จึงปรับปรุงอักษรเขมร (และอาจมีอักษรมอญกับอักษรอื่นๆ ด้วย) เพื่อใช้ถ่ายเสียงภาษาไทยที่พูดในชีวิตประจำวัน แล้วเรียกต่อมาสมัยหลังว่า “อักษรไทย”

เบื้องต้นของการปรับปรุง ได้แก่ ส่วนใดไม่มีในอักษรเขมรก็คิดดัดแปลงแต่งเพิ่มเข้ามา เช่น ฃ, ฅ เป็นต้น ส่วนใดถูกใช้จนเคยชินตามอักษรเขมรแล้วก็คงรูปเดิมไว้ซึ่งมีทั้ง “ศก” และ “เชิง” ได้แก่ ฎ, ฏ, ฐ, ญ เป็นต้น สำหรับเลข ๑ ถึง ๙ คงรูปเดิมของเลขเขมร ส่วนเลข ๐ รับจากอินเดียหรืออาหรับตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก

อักษรไทยที่พัฒนาจากอักษรเขมรและอื่นๆ ถูกใช้งานในกลุ่มคนชั้นนำ (ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต) โดยเขียนบนสมุดข่อย (สีดำ) จนเป็นที่คุ้นเคยอย่างดีด้วยแท่งดินสอ (คำว่า สอ เป็นภาษาเขมร แปลว่า ดินขาว)

ต่อมาอักษรไทยแบบเขียนบนสมุดข่อยถูกดัดแปลงอีกทอดหนึ่งเป็นแบบสลักบนแผ่นหิน โดยปรับตัวอักษรมีลักษณะเหลี่ยมมนเพื่อง่ายต่อการแกะสลักหิน (ตามประเพณีในอาณาจักรกัมพูชา) จากนั้นแพร่หลายขึ้นไปรัฐสุโขทัย บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน (หรือลุ่มน้ำยม-น่าน) มีความทรงจำอยู่ในพงศาวดารเหนือว่า “พระร่วงทำหนังสือไทย” ดังนี้

“เมื่อพระองค์จะลบศักราชพระพุทธเจ้า จึงให้นิมนต์พระอชิตเถระ และพระอุปคุตเถระ และพระมหาเถรไลยลาย คือพราหมณ์เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ และพระอรหันต์เจ้าทั้ง 500 พระองค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองศรีสัชนาลัย และท้าวพระยาในชมพูทวีป คือไทยและลาวมอญจีนพม่าลังกาพราหมณ์เทศเพศต่างๆ พระองค์เจ้าให้ทำหนังสือไทย เฉียงมอญ พม่า ไทย และขอม เฉียงขอม มีมาแต่นั้น”

ข้อความมีตอนหนึ่งกล่าวถึงบุคคลสำคัญว่า “พระมหาเถรไลยลาย คือพราหมณ์เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ” น่าจะหมายถึง “พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ” อดีตขุนศึกผู้คงแก่เรียน เชื้อสายเมืองละโว้ (อโยธยาศรีรามเทพ) ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมืองในวงศ์ศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนารัฐสุโขทัยโดยรับสนับสนุนจากรัฐละโว้

พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เป็นเจ้าของเนื้อความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) หรืออาจเป็นไปได้ว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เกี่ยวข้องกับการทำจารึกวัดศรีชุมหลักนี้ ซึ่งหมายถึงเป็นเรื่องเดียวกับ “พระร่วงทำหนังสือไทย” (พระร่วงในตำนานไม่เจาะจงหมายถึงกษัตริย์เมืองสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งเพียงองค์เดียว แต่หมายถึงเจ้านายเมืองสุโขทัยและวงศ์เครือญาติที่อยู่เมืองอื่นก็ได้ ดังกรณีนิทานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน หมายถึงเจ้านครอินทร์แห่งเมืองสุพรรณภูมิมีเชื้อสายใกล้ชิดวงศ์สุโขทัย เมื่อกลับจากเมืองจีนได้ช่างจีนทำเครื่องสังคโลก ผลิตที่เมืองสุโขทัยและเมืองเครือญาติ)

อักษรไทยของเพศชาย กีดกันเพศหญิง อักษรไทยสมัยแรกเป็นสมบัติของคนชั้นนำเพศชาย จึงไม่เป็นเครื่องมือสื่อสารแสวงหาความรู้ของสามัญชนคนทั่วไปที่เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก โดยเฉพาะเพศหญิง

การเรียนรู้อักษรไทยสมัยแรกกีดกันเพศหญิง ดังเป็นที่รู้ทั่วไปว่าผู้ชายเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้อง “บวชเรียน” ตามประเพณี หมายถึงบวชเป็นภิกษุแล้วได้เรียนอักษร “ขอมไทย” และอักษรไทย ส่วนผู้หญิงไม่อนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี จึงไม่ได้เรียนอักษรเหมือนเพศชาย

ในกลุ่มคนชั้นนำของไทยเป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าการเรียนรู้อักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์เป็นสมบัติของ “ผู้ดี” ที่เป็นเพศชายเท่านั้น โดยกีดกันเพศหญิงอย่างเข้มงวด จึงมีคำสอนอย่างแข็งขันว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” คำว่า “ลายมือ” ในกลอนเสภาที่ยกมาหมายถึงอ่านเขียนเรียนหนังสือ (จากกลอนเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองสอนลูกชายชื่อ “พลายงาม” ขณะสั่งเสียให้เดินดงคนเดียวหนีขุนช้างจากเมืองสุพรรณบุรีไปอยู่กับย่าทองประศรีที่เมืองกาญจนบุรีสมัยนั้นอยู่ลาดหญ้า)

 

วรรณกรรมชนชั้นนำ

วรรณกรรมไทยสมัยแรกยังไม่มีอักษรไทย จึงเขียนเป็นภาษาไทยด้วยอักษรเขมรเรียก “ขอมไทย” เป็นคำอธิบายของนักปราชญ์และนักค้นคว้ารุ่นก่อนๆ แล้วเชื่อสืบต่อกันมานานมาก แต่ยังไม่พบหลักฐานสมุดข่อย จึงพบเพียงฉบับคัดลอกตกทอดมาที่เขียนด้วยอักษรไทย

วรรณกรรมเรื่องแรกสุดที่เป็นภาษาไทย อักษรไทย คือเรี่องอะไร? ใครแต่ง? เมื่อไร? ไม่น่าจะหาพบ และด้วยเงื่อนไขหลายอย่างไม่น่าจะมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ยังเหลือให้เห็นถึงปัจจุบัน (ยกเว้นเสียแต่จะสถาปนาขึ้นเองตามต้องการของผู้มีอำนาจรวมศูนย์)

สมุดข่อยวรรณกรรมไทยสมัยแรกสร้าง น่าจะมีชุดเดียวเก็บไว้ใน “หอหลวง” (หอสำหรับรักษาสมุดข่อยของราชสำนัก) โดยอนุญาตให้คัดลอกใช้งานพิธีกรรมในราชสำนัก

วรรณกรรมไทยไม่อยู่โดดเดี่ยว แต่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมนานาชาติตามลักษณะความสัมพันธ์ทางการค้าและอื่นๆ

ดังนั้น วรรณกรรมไทยจึงได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมของชาติต่างๆ ได้แก่ อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), จีน, อินโดนีเซีย (ชวา), พม่า (มอญ), ตะวันตก (ยุโรป, อเมริกา) เป็นต้น

[สรุปจากหนังสือ ประวัติวรรณคดีไทย ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565]

วรรณกรรมไทยของชนชั้นนำเหล่านี้มีขึ้นในรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภาคกลาง) ที่แพร่หลายลงไปรัฐบริเวณคาบสมุทร (ภาคใต้) แต่ไม่ได้ศึกษารวมถึงรัฐลุ่มน้ำอื่น ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง-วัง (ภาคเหนือ) และลุ่มน้ำโขง-ชี, มูล (ภาคอีสาน)

วรรณกรรมครั้งนั้นไม่ได้มีเพื่ออ่านคนเดียวในใจอย่างสังคมสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และที่สำคัญคนทั่วไปในสังคมสมัยนั้น “เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก” แต่มีเพื่อพิธีกรรมทางการเมืองการปกครอง ซึ่งชนชั้นนำอ่านออกเขียนได้ร่วมกันสร้างไว้เป็นข้อกำหนดบทบัญญัติอย่างหนึ่ง ส่วนอีกอย่างหนึ่งเพื่ออ่านออกเสียงป่าวประกาศถ้อยคำขลังและศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณี

ชนชั้นนำรู้หนังสือไม่เสมอกัน เพราะบางคนหรือหลายคนเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เนื่องจากระบบการเรียนการสอนไม่มีเป็นทางการและที่มีก็ไม่เป็นที่รับรู้กว้างขวางทั่วไปอย่างปัจจุบัน ดังนั้นการรับรู้วรรณกรรมไม่เป็นสาธารณะ

คนทั่วไป “เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก”

สามัญชนชาวบ้านทั่วไปเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก จึงไม่รู้จักและไม่เข้าใจวรรณกรรมของชนชั้นนำที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าจะรู้บ้างในบางเรื่องก็รู้จากฟัง “สวด” หรือฟังคำบอกเล่าปากต่อปากตกทอดต่อๆ กันมา ซึ่งส่วนมากจะคลาดเคลื่อนจากต้นแบบเหมือน “บอกเก้า เล่าสิบ” (หมายถึงบอกแค่เก้า คนเล่าต่อเพิ่มเป็นสิบ) ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ หรือหายหกตกหล่นในสาระสำคัญ

“สวด” หมายถึงเล่านิทานทั้งชาดก และ “ไม่ชาดก” ด้วยการอ่านเป็นทำนองเสนาะอย่างหนึ่งซึ่งชาวบ้านบางกลุ่มเรียก “ลำสวด” กล่าวคือ ผู้รู้หนังสือหรือผู้คงแก่เรียนทำหน้าที่อ่านหนังสือหรือเล่าเรื่องเป็นทำนองอย่างหนึ่งให้ผู้ไม่รู้หนังสือ (คือ ประชาชนชาวบ้านทั่วไป) ได้ฟังอย่างเพลิดเพลิน มีตัวอย่างในประเพณีชาวนครศรีธรรมราชเรียก “สวดด้าน” หมายถึง ผู้รู้หนังสืออ่านชาดกเป็นทำนองเสนาะให้ชาวบ้านฟังซึ่งมีประจำด้านต่างๆ 4 ด้านรอบพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช (ตรงนี้เป็นเหตุให้ต่อไปข้างหน้าทางภาคใต้มีวรรณกรรมส่วนมากแต่งด้วยกาพย์ เพราะเหมาะสำหรับ “สวด” เล่านิทาน)

วรรณกรรมชาวบ้านเป็นคำบอกเล่ามีหลายพันปีแล้วก่อนหน้านั้นทำให้บางเรื่องถูกลืมเกือบหมด แต่หลายเรื่องยังอยู่ในความทรงจำสืบมา และนอกจากนั้น อาจมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมแต่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

การรับรู้ของชาวบ้านในเรื่องราววรรณกรรมเหล่านั้นไม่ได้มาจากการอ่าน แต่มาจากกิจกรรม “ตาดู หูฟัง” โดยผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก (รวมกิจกรรมสวด, เทศน์ของพระสงฆ์) และการละเล่น ได้แก่ เพลงโต้ตอบแก้กัน, ละครชาวบ้าน (คือ เล่นเพลงเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ละครชาตรี และไม่ใช่ละครนอกอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน), เพลงร้องเล่น (แต่มักเรียกเพลงกล่อมเด็ก) และเพลงกล่อมเด็ก ฯลฯ

[บางตอนจากหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ กำลังพิมพ์ จะเสร็จมีนาคม 2566] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ