‘เสียง’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ในสายงานที่ผมทำ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่า คนทำงานสายนี้จะรู้สึกเหมือนๆ กัน คือ ทุกวันคล้ายกับการปฏิบัติธรรม นั่นคือ นั่งนิ่งๆ อยู่ในพื้นที่แคบๆ อดทน รอคอย ดูลมหายใจเข้า-ออก ไม่ต่างจากการฝึกฝนเพื่อการรับรู้ในบางสิ่ง

อยู่ในที่ทำงาน โดยเฉพาะหากอยู่ลำพัง จะรู้สึก รวมทั้ง “รับรู้” ได้ชัดเจน

จะรับรู้ได้ถึงความกว้างใหญ่ของป่า รับรู้ถึงความอ่อนด้อย หากเทียบกับสัตว์ป่า ไม่มีสิ่งใดที่ผมจะทัดเทียมพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นจมูกรับกลิ่น การได้ยินของหู และความอดทน เพื่อการรอคอย การเดิน และอื่นๆ

แม้แต่ “ความฉลาด” ในบางสถานการณ์ ไม่แน่นักว่า ผมจะฉลาดกว่า

ถึงที่สุดความกว้างใหญ่ของป่า ก็สอนให้รู้และยอมรับว่า ผมคล้ายจะไม่มีตัวตน

 

สําหรับผม ป่ากว้างเกินกว่าจะพูดได้ว่า รู้จักป่าอย่างลึกซึ้ง

ทุกครั้งที่เข้าไปทำงาน ผมได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเสมอ

ป่าจึงไม่ใช่ที่เข้ามาผจญภัยเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ภู และดอยสูง ไม่ใช่ที่พิชิต ไม่ใช่ยอดเขาสูงที่ก้าวข้ามไปได้

สิ่งที่ “ก้าวข้าม” ได้คือตัวเอง

ทำงานอยู่ในป่าเดิมๆ ได้ใช้เวลากับสิ่งที่พบเจอทุกวันมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ สร้างให้เกิดความเข้าใจ ในป่าไม่เคยเงียบ มีสารพัดเสียงเกิดขึ้น ยิ่งหากตั้งใจฟัง

เสียงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยดวงตา จึงเป็นการง่ายที่จะเข้าใจผิด รวมทั้งสร้างจินตนาการไปไกล

 

คืนหนึ่ง ผมตื่นเพราะมีเสียงคล้ายกับคนใส่รองเท้าแตะเดินรอบๆ เต็นท์

นอนฟังอยู่สักพักออกมาดู ถึงรู้ว่าเป็นเสียงน้ำค้างไหลจากฟลายชีตลงพื้น กระทบใบไม้แห้ง

อีกคืนมีเสียงพ่นลมหายใจแรงๆ ออกมาดูก็ไม่พบอะไร

เดินข้ามลำห้วยแห้งๆ ส่องไฟฉายดู แถวโคนกอไผ่ มีชะมดแผงหางปล้องตัวโต ยืนหน้าโพรงดิน

ไม่ใช่ชะมดที่ทำเสียง แต่เป็นตัวอ้นในรู พ่นลมทำเสียงขู่ชะมด

กลางคืน เสียงต่างๆ ทำให้เรามัก “นึกว่า” เป็นเสียงโน้นเสียงนี้

กวาง – เมื่อออกมาอยู่ในที่โล่ง เสียงผิดปกติเพียงเบาๆ ก็ทำให้กวางตัวผู้ตัวนี้ตื่นหนีอย่างเร็ว

ไม่เพียงแค่ตอนกลางคืน กลางวันนั่งอยู่ในซุ้มบังไพร จะมีเสียงให้ได้ยิน กระทั่ง “นึกว่า” เป็นเสียงอะไรๆ สารพัด

เสียงเก้งร้องแบบตกใจ คงเพราะได้กลิ่นคน ฟังไปฟังมาเหมือนคนตะโกนเรียกหากัน

เสียงนกเขาเปล้า ซึ่งเกาะเป็นกลุ่มบนต้นไม้ รอจังหวะดีๆ เพื่อลงมากินน้ำในโป่ง ฟังสำเนียงเหมือนคนคุยกันพึมพำ

เสียงนกมูม นี่ก็คล้ายคนหัวเราะเสียงต่ำๆ

ส่วนนกแก๊ก ร้องตอนเช้าๆ และเย็นๆ ราวกับมีคนหัวเราะเสียงกวนๆ ใกล้ๆ

บางวันอยู่ริมลำห้วย ผมได้ยินเสียงแหลมๆ เป็นเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนดังใกล้เข้ามา กลายเป็นเสียงของฝูงนากใหญ่ขนเรียบ ไม่ต่ำกว่า 15 ตัวว่ายล่องน้ำตามกันไปเป็นแถว

ถ้ามีเสียง “จิ๊กๆ” เกิดขึ้น นั่นแสดงว่า เจ้าตัวทำหน้าที่ยามของฝูงนกหกเล็กปากแดง ส่งสัญญาณเตือนฝูงว่า มีผู้ล่าอย่างเหยี่ยวมา ทั้งฝูงจะบินขึ้น แยกย้ายไปพร้อมกัน

สักพัก เหยี่ยวรุ้งถลามาเกาะกิ่งไม้แห้ง มองโป่งว่างเปล่า

อยู่ในสถานภาพของนักล่า การทำงานไม่เคยง่าย ไม่ว่าจะเป็นนักล่าชนิดใด

 

เสียงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอด 24 ชั่วโมง

เสียงเดียวกัน ความรู้สึกเวลาได้ยินจะต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าอยู่ในเวลาใด

นั่งอยู่ในซุ้มบังไพรช่วงกลางวัน เสียงช้างร้องใกล้ๆ ใจเต้นแรง เฝ้ารอให้เจ้าของเสียงออกมา

แต่หากเป็นในช่วงกลางคืน อาจต้องภาวนาไม่ให้เข้ามาใกล้นัก

ช้างตกใจ วิ่งชุลมุนผ่านแคมป์ย่อมไม่ใช่เรื่องรื่นรมย์

 

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อเราเงียบ เราย่อมได้ยินเสียง

เมื่อเปิดใจยอมรับ เพื่อการ “ฟัง” อย่าง “ได้ยิน” เสียงต่างๆ จะเป็นบทเรียนอันทำให้เข้าใจ

“เสียง” บางเสียงอาจมองไม่เห็นด้วยตา แต่รับรู้ได้

เพราะป่ามีชีวิต ป่าจึงมี “เสียง”

ป่าสอนให้รู้ถึงความไม่มีตัวตน…แต่มีชีวิต

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ