จีนจะเล่นบท ‘ผู้ระงับสงคราม’ ได้อย่างน่าเชื่อถือไหม?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จีนจะเล่นบท ‘ผู้ระงับสงคราม’

ได้อย่างน่าเชื่อถือไหม?

 

จีนมีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นในจังหวะสงครามยูเครนเข้าสู่ปีที่ 2

แต่เป็นการเดินไต่ลวดทางการทูตที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

เพราะเป้าหมายของจีนต้องการจะได้ทั้งมิตรภาพกับมอสโกและการยอมรับจากตะวันตก

ด้านหนึ่งปักกิ่งต้องการจะรักษาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสหายเก่ารัสเซีย

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องการจะเป็น “ผู้ใหญ่” ที่เล่นบทเป็น “คนกลาง” ที่น่าไว้วางใจ

การเล่นบท honest broker หรือ “แม่สื่อที่ไร้วาระซ่อนเร้น” ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะการจะเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพ” นั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือจากทุกฝ่าย

ตอนที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผู้นำของจีนพยายามรักษาสมดุลแห่งงผลประโยชน์ 2 ประการที่ย้อนแย้งอยู่ในตัว

ข้อแรก ปักกิ่งต้องการยืนอยู่ข้างรัสเซียเพื่อถ่วงดุลอำนาจของอเมริกาและลดแรงกดดันทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจากตะวันตก

อีกข้อหนึ่ง แม้จะสนับสนุนมอสโก แต่ผู้นำจีนก็ไม่ต้องการถูกลากเข้าเป็นพวก

เพราะอาจจะเจอลูกหลง

นั่นคืออาจจะถูกตะวันตกประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลกระทบต่อทั้งรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ของจีน

ศัพท์ในแวดวงการทูตระหว่างประเทศเรียก “การทูตไต่ลวด” ของจีนนี้ว่า “Beijing straddle” หรือ “การทูตนั่งคร่อมทั้งสองขาของปักกิ่ง”

ขณะที่โลกตะวันตกก็คอยตรวจสอบและจี้ไชให้จีนตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง

หรือให้ยึดเอาเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเป็นแกนกลางของนโยบายของตนต่อสงครามยูเครน

จีนรักษาระยะห่างพอสมควรต่อการ “รุกราน” ของรัสเซียต่อยูเครน

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะขายอาวุธให้รัสเซีย

เหตุผลเป็นที่ประจักษ์ก็คือสำหรับปักกิ่งแล้วการรักษาช่องทางการเข้าถึงตลาดทั่วโลกมีความสำคัญต่อจีนมากกว่าการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจใดๆ กับรัสเซีย

 

พูดง่ายๆ ก็คือ จีนพยายามอย่างสุดฤทธิ์ที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนของรัสเซียในการเผชิญหน้ากับตะวันตก

แต่ “กลยุทธ์การทูต” ของจีนคือพยายามจะเดินเกมที่ตนได้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย

ด้านหนึ่ง จีนไม่ประณามรัสเซียเรื่องบุกเข้ายูเครน

แต่ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการก็จะยืนยันจุดยืนว่าจะต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ

ข้อนี้มีความละเอียดอ่อนสำหรับจีนเป็นพิเศษ

เพราะหากจีนถูกมองว่าเห็นพ้องกับรัสเซียในการบุกเข้ายึดดินแดนของยูเครน ก็อาจจะมีผลกระทบต่อซินเจียง, ทิเบต หรือแม้แต่เรื่องไต้หวัน

เพราะผู้คนบางกลุ่มบางก้อนในดินแดนของจีนเหล่านั้นที่ถูกจีนกล่าวหาว่าเป็น “พวกแยกดินแดน”

อันเป็นสิ่งที่รัสเซียกระทำในยูเครนด้วยการประกาศสนับสนุนการประกาศเอกราชของแควัน Donetsk และ Luhansk

เมื่อจีนไม่เคยวิพากษ์เรื่องรัสเซียละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนในยูเครนก็ย่อมทำให้ขาดความชอบธรรมที่จะเรียกตัวเองว่ายืนอยู่บนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

จึงเป็นที่มาของการที่ปักกิ่งใช้การ “งดออกเสียง” ในการลงมติต่อญัตติของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ที่โยงกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

แต่จีนก็ได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันรัสเซียในราคาพิเศษอย่างเต็มที่

พร้อมทั้งเป็นจังหวะที่ทำให้รัสเซียต้องการกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับรัสเซียในมิติที่ไม่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกสะท้อนจากตัวเลขการค้าระหว่างจีน-รัสเซียที่เพิ่มขึ้นถึง 34.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 190,000 ล้านดอลลาร์

แต่จีนก็คงตระหนักว่าเมื่อรัสเซียขายน้ำมันและก๊าซให้กับจีน (และอินเดีย) ในราคาต่ำกว่าตลาดอย่างมีนัยสำคัญ มอสโกก็ย่อมจะต้องคาดหวังสิ่งตอบแทน

ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับปูตินในยามนี้มากไปกว่ามิตรภาพอันแน่นแฟ้น (และ “ไร้ข้อจำกัด”) ของจีนในยามที่รัสเซียต้องทำสงครามในยูเครนโดยไม่รู้ว่าจะเผด็จศึกได้เมื่อไหร่

และเมื่อต้นทุนของการทำสงครามพุ่งขึ้นตามลำดับโดยไม่สามารถจะบอกเพดานอยู่ตรงไหนด้วยซ้ำ

ดังนั้น เราจึงเห็นจีนใช้กลยุทธ์ “โปรยเสน่ห์” (charm offensive) พร้อมๆ กับการแสดงท่าทีแข็งกร้าวในประเด็นไต้หวัน

 

ตั้งแต่สี จิ้นผิง ได้ไฟเขียวจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศในวาระที่ 3 ก็มีการปรับท่าทีของจีนในการทูตระหว่างประเทศอย่างน่าสนใจยิ่ง

มีการลดวาทะดุเดือดและวิธีการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ของกระทรวงต่างประเทศ (ยกเว้นในบางกรณีที่กระทบประเด็นละเอียดอ่อนของจีน)

สี จิ้นผิง ส่งหวัง อี้ ไปทัวร์ยุโรปก่อนที่จะไปถึงมอสโกและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานาธิบดีปูตินเอง

หวัง อี้ วันนี้คือมือขวาคนสำคัญของสี จิ้นผิง หลังจากได้รับเลื่อนตำแหน่งจากรัฐมนตรีต่างประเทศมาเป็น “สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน”

หรือเรียกง่ายๆ คือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางด้านนโยบายต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับสี จิ้นผิง ที่สุด

 

ปักกิ่งได้ออกเอกสารว่าด้วยจุดยืนของตนในสงครามยูเครน 2 ชุดในช่วงระยะเวลาใกล้กัน

ชุดแรก เสนอ “ทางออกแบบของจีน” ต่อสงครามยูเครนที่ปักกิ่งเรียกว่า Global Security Initiative (GSI)

ชุดที่สองคือ “แผนสันติภาพโลก” หรือ Peace Plan

ทั้งสองชุดคือการตอกย้ำถึงประเด็นที่ปักกิ่งได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษมาตลอดหนึ่งปี

นั่นคือ “การเคารพอธิปไตย” (ให้ยูเครน)

และ “การปกป้องผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ” (ของรัสเซีย)

และต่อต้านการใช้การคว่ำบาตรของประเทศหนึ่งต่ออีกประเทศหนึ่ง (พุ่งเป้าไปที่สหรัฐ)

เป้าหมายหลักของจีนในความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้คือการที่จะยกระดับบทบาทของตนเองเป็น “ผู้แสวงหาสันติภาพระดับโลก”

และหากสหรัฐและยุโรปยังไม่ให้ความร่วมมือกับปักกิ่งในเรื่องนี้ในยามนี้ จีนก็เดินเกม “โปรยเสน่ห์” ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน), แอฟริกา และอเมริกาใต้

โดยที่ปักกิ่งเรียกรวมๆ ว่าเป็น “โลกทางใต้” หรือ Global South

อันหมายถึงส่วนของโลกที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา และมองเห็นจีนเป็นเพื่อนผู้พี่ที่มีทั้งเงินและบารมีที่เทียบทันกับสหรัฐได้ในหลายๆ เรื่อง

นั่นหมายถึงการที่จีนกำลังนำเสนอ “โลกทางเลือก” ที่ฉีกออกจาก “ระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐ”

 

จีนมักจะตั้งคำถามต่อตะวันตกเสมอว่าที่สหรัฐอ้างว่าต้องการจะทำให้โลกอยู่บนพื้นฐานของ “กฎระเบียบ” หรือ Rules-based world order นั้นมันแปลว่าอะไร

ปักกิ่งถามว่า “กฎระเบียบโลกที่ว่านี้ใครเป็นคนร่าง?”

จีนต้องการจะชักชวนให้ประเทศอื่นๆ ที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการร่างกฎระเบียบเหล่านั้นมาร่วมกับจีนในการสร้าง “โลกทางเลือก”

นั่นเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐว่า จีนมีเพื่อนในหลายๆ ภาคส่วนของโลก…และไม่ใช่เพียงแค่รัสเซียเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวของจีนในช่วงนี้จึงเท่ากับเป็นการเตือนวอชิงตันว่าอย่าได้กดดันและรังแกจีนมากนัก เพราะจีนมีพรรคพวกที่พร้อมจะยืนเคียงข้างปักกิ่งในการต่อต้านอิทธิพลอันไม่พึงประสงค์ของอเมริกาได้เช่นกัน

ประเด็นสำหรับปักกิ่งจึงอยู่ที่ว่าน่าจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเหล่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนเพียงใด

และหากจีนจะเล่นบทยุติสงครามยูเครน…จีนจะขยับจากจุดยืนที่สนิทใกล้กับรัสเซียจนถูกมองว่า “มีผลประโยชน์ทับซ้อน” เกินกว่าที่จะเป็น “คนกลางที่ไร้วาระซ่อนเร้น” ได้หรือไม่อย่างไร

ก้าวย่างของปักกิ่งวันนี้จึงไม่ธรรมดายิ่ง!