สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ลดไข้ ร้อนในกาย การใช้สมุนไพรของพระสารีบุตร

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ลดไข้ ร้อนในกาย การใช้สมุนไพรของพระสารีบุตร

ข้อมูลสมุนไพรในพระไตรปิฎกที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยได้ทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะ ในครั้งนี้ขอนำมาเสนอเพิ่มเติม และขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่นั้น ไม่มี “พระไตรปิฎก” มีแต่คำว่า “ธรรมวินัย” ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า

“ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลายธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”

พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าทรงปรินิพานแล้ว และหลังการทำสังคายนา พระไตรปิฎก แปลได้ว่า “พระ” คำแสดงความเคารพ, “ไตร” แปลว่า 3, “ปิฎก” แปลว่าคัมภีร์ พระไตรปิฎก จึงหมายถึงการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด หมู่ ซึ่งมีอยู่ 3 คัมภีร์ ได้แก่ (1) วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี (2) สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป (3) อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ.

ว่ากันตามหลักสำคัญแล้ว พระไตรปิฎกเป็นเรื่องของธรรมะ แต่พบว่ามีการบันทึกเรื่องราวอื่นๆ ไว้ ด้วย เช่น การดูแลสุขภาพ การแพทย์ และสมุนไพร ฯลฯ

ดังนั้น หากใครได้ค้นอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า : 46 มูลาทิเภสัชชกถา ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องยามีรากไม้ สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการรากไม้ที่เป็นยา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ทางมูลนิธิสุขภาพไทย จึงสนใจศึกษาว่าในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพืชหรือสมุนไพรไว้อย่างไรบ้าง โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ดร.อุษา กลิ่นหอม ทำการศึกษาพระไตรปิฎกภาษาไทย พบว่าพืชในพระไตรปิฎกสามารถจัดกลุ่มตามการใช้ประโยชน์ได้ 6 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเครื่องใช้ อาทิ บาตรไม้ ไม้ชำระฟัน ผ้าเปลือกไม้ เขียงเท้า (รองเท้า) ที่รองนั่ง ซึ่งพันธุ์ไม้ที่ใช้ ได้แก่ ต้นจันทน์ ปอสา ขนุนสำปะลอ ต้นสัก ไม้จันทน์ ใบไผ่ หญ้าแฝก คนทา สะเดา ข่อย เป็นต้น

2. กลุ่มยารักษาโรค เช่น แห้วหมู พิลังกาสา ดีปลี พริกไทย สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม สะเดา กะเพรา บอระเพ็ด ส้มกุ้ง บัว ขมิ้น กล้วย อินทผลัม เป็นต้น

3. กลุ่มอาหาร เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวละมาน หญ้ากับแก้ ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว งา เป็นต้น

4. กลุ่มสิ่งแวดล้อม ได้แก่ จันทน์ หญ้าฝรั่น กฤษณา แฝกหอม กำยาน มะลิ เป็นต้น

5. กลุ่มการเปรียบเปรย/เปรียบเทียบ ได้แก่ ขมิ้น ซึ่งมีคำเปรียบเปรยว่า รักง่ายหน่ายเร็วดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น

6. กลุ่มการละเล่น อาทิ เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไม้หึ่ง

แต่ในพระไตรปิฎกไม่ปรากฏชนิดของพันธุ์ไม้ว่าใช้ต้นไม้ชนิดใดในการละเล่นเหล่านี้

ในการศึกษาครั้งนี้ได้เตรียมจัดพิมพ์เผยแพร่น่าจะได้ออกสู่สายตาผู้สนใจในต้นปีหน้า เฉพาะครั้งนี้เห็นสภาพอากาศเมืองไทยกำลังแปรเปลี่ยน ลมหนาวก็มาลมฝนก็ยังอยู่ หลายคนมีอาการไข้ตัวร้อนไม่สบายได้ง่าย จึงนึกถึงเรื่องราวในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย แล้วท่านใช้เหง้าบัวและรากบัว บรรเทาอาการจนหายดี บันทึกที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นบรรยายไว้ยาว ขอคัดลอกมาสั้นๆ ดังนี้

“…พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนั้น สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย”

…ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธร้อนในกายกลับมีความสำราญด้วยยาอะไร”

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมมีความสำราญด้วยเหง้าบัวและรากบัว”

ในบันทึกยังได้กล่าวต่อมาว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปหาเหง้าบัวกับรากบัวมาให้พระสารีบุตร

“ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัว อาพาธร้อนในกายก็หายทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก”

ในบันทึกพระไตรปิฎกไม่ได้บอกถึงวิธีใช้วิธีปรุงยาจากบัว แต่น่าสนใจที่สายธารภูมิปัญญาในการใช้ดอกบัวนั้นสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และภูมิปัญญาเหล่านี้ก็อยู่ในวัฒนธรรมการแพทย์ของทั้งอินเดีย จีน และอีกหลายชนชาติ รวมทั้งไทยด้วย ขอแนะนำวิธีใช้ประโยชน์จากบัวที่ปัจจุบันนี้ยังนำมาใช้กัน

เกสรบัว มีรสฝาดหอม ช่วยบำรุงหัวใจ ยาชูกำลัง บำรุงประสาทและสมอง แก้ไข้

วิธีใช้ เกสรแห้งมาชงน้ำร้อนดื่ม

ดอกบัว มีรสฝาดหอม บำรุงร่างกาย บำรุงครรภ์ ทำให้สดชื่น แก้ไข้

วิธีใช้ ดอกบัวสด ล้างสะอาด ต้มกับน้ำ ดื่มขณะอุ่น

เม็ดบัว มีรสหวานมันช่วยบำรุงกำลังคนทั่วไป หญิงตั้งครรภ์และผู้ฟื้นไข้บำรุงไขข้อเส้นเอ็น

วิธีใช้ กินเม็ดบัวสดๆ เป็นอาหารว่าง

ดีบัว มีรสขม ช่วยคลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ

วิธีใช้ กินดีบัวสด หรือดีบัวแห้ง 1 หยิบมือชงน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มขณะอุ่นๆ

ราก หรือ เหง้าบัว มีรสหวานมันเล็กน้อย บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ลดไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

วิธีใช้ นำมาล้างให้สะอาด หั่นชิ้น ต้มให้เดือด 10-15 นาที ดื่มขณะอุ่นๆ

ดอกบัวแสดงถึงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา และพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงบัวไว้ในที่ต่างๆ มากมาย ค้นอ่านได้ในพระไตรปิฎก

การปลูกบัวจึงให้ทั้งความสวยงาม รื่นรมย์ สร้างบรรยากาศน้อมนำให้เกิดความสงบใจได้แล้ว

บัวยังเป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

เทศกาลส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ก็กำลังมาถึง หากเตรียมของกำนัลส่งความสุขที่เรียบง่ายแต่มากด้วยคุณค่าและประโยชน์ต่อกาย ใจ สิ่งแวดล้อม

บัวน่าจะตอบโจทย์นี้ได้ดีเยี่ยม