ถามทำไมเรื่องจับมือ | คำ ผกา

คำ ผกา

ดังที่ฉันได้เขียนและพูดไปหลายต่อหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้นแตกต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562

การเลือกตั้ง 2562 ถูกออกแบบมาเพื่อให้คณะ คสช. และพวกได้เถลิงอำนาจต่อ

เพราะหากดันทุรังต่ออายุตัวเองผ่านสภา สนช.ไปเรื่อยๆ จะยิ่งสูญเสียความชอบธรรมและทำงานยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านต่างประเทศ

ไม่นับว่าแม้กระทั่งความสามารถในการเผด็จการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ดูเหมือนว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มีสิ่งนี้

พวกเขาจึงยื้อเวลามาจนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญ 2562 พร้อมคำถามพ่วงเรื่องให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ จากนั้นตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาพร้อมกับใช้ทุกสรรพกำลังและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ดึงนักการเมืองจากพรรคอื่นๆ มาอยู่ในพลังประชารัฐ และว่ากันว่า นักการเมืองหลายคนหลายกลุ่ม “จำใจ” มาพลังประชารัฐเพราะถูกกรรโชกเรื่องคดีความทางการเมืองด้วยซ้ำไป

เราจึงเห็นนักการเมืองจากเพื่อไทยหลายคนย้ายไปพลังประชารัฐ บางคนย้ายไปในแทบจะวินาทีสุดท้ายด้วยซ้ำ

ดังนั้น เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อปูทางให้พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลคือ ส.ว. 250 คน และระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ตบท้ายด้วยการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ผลที่เกิดขึ้นคือแม้พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะพลังประชารัฐที่คะแนนมาเป็นอันดับสอง เมื่อรวมกับเสียง ส.ว. 250 เสียง ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้คะแนนเป็นที่สามที่สี่, ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่

เห็นว่าการไปรวมกับพลังประชารัฐย่อมมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลมากกว่า ทำให้หลายๆ พรรคที่ตอนหาเสียง ประกาศกร้าวว่าจะไม่ร่วมกับขบวนการสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารยอมตระบัดสัตย์ ไปร่วมกับพลังประชารัฐ ไปเป็นรัฐมนตรีภายใต้ ครม.ของประยุทธ์

พรรคประชาธิปัตย์นั้นถึงกับต้องยอมแลกให้อภิสิทธิ์บูชายัญตัวเองด้วยการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

 

แล้วการเลือกตั้งในปี 2566 นี้แตกต่างจากปี 2562 อย่างไร?

หนึ่ง หลังจากประยุทธ์บริหารประเทศมา 8 ปี ประยุทธ์เสื่อมลงทั้งบุคลิก บารมี ความนิยม

เป็น 8 ปีที่ชัดเจนว่าคนคนนี้ไม่มีความสามารถใดๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่แต่เพียงไม่มีความสามารถ แม้แต่เสน่ห์หรือแรงดึงดูดใจใดๆ ก็ไม่มี

ยกตัวอย่างเช่น อดีตนายกฯ ของไทยหลายคนที่เป็นเผด็จการ หรือไร้ความสามารถ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะมีบุคลิกบารมีบางอย่างที่เป็นที่นิยมของคนบางกลุ่มได้ เช่น คุณสมัคร สุนทรเวช มีแผลเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 แต่ในกลุ่มอนุรักษนิยมก็บอกว่าคุณสมัครเป็นพหูสูตร มีอารมณ์ขันคารมคมคายแบบนักพูดนักเขียน, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอนุรักษนิยม เป็นทุกอย่างที่ไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยก็มีลักษณะของปราชญ์ที่แม้แต่คนฝั่งเสรีนิยมก็ต้องยอมรับในความรู้ ความสามารถ

เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ นอกระบอบประชาธิปไตยก็แต่ครองตัวครองตนในทางกิริยามารยาท ให้เป็นที่น่า “เชื่อถือ” ต่อสาธารณชน มีความอดทนอย่างยิ่งต่อการถูกด่า ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสื่อ

ถ้าใครเกิดทันยุคนั้นจะรู้ว่าทุกคอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยยุคนั้นด่า พล.อ.เปรมจนแทบจะเป็น default mode

ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ อดีตนายกฯ ของไทยที่เป็นอนุรักษนิยมหรือเป็นกลไกในการรักษาอำนาจเผด็จการล้วนแต่มีความเป็นปราชญ์ในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้มีรสนิยมพอสมควร ยกเว้นสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีในตัวประยุทธ์

เขียนมายืดยาวเพื่อจะบอกว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประยุทธ์แทบจะไม่มีทั้งความนิยมและบารมี ต่างจากปี 2562 ลิบลับ

สอง การเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นการเลือกตั้งในระบบบัตรสองใบ ทำให้พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยแบบเพื่อไทยมีโอกาสที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดสูงมาก

เหลือแค่ลุ้นว่าจะถึง 300 เสียงหรือไม่?

ซึ่งถ้าเพื่อไทยได้สูงถึงสามร้อยจริง โอกาสที่การเปลี่ยนผ่านอำนาจผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สูง

สาม บทเรียนที่พรรคการเมืองอย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมถึงพลังประชารัฐเองได้จากการร่วมหัวจมท้ายกับประยุทธ์คือ ประยุทธ์ไม่ได้ทำงานแบบ “นักการเมือง”

แต่ทำงานแบบ “ผู้บังคับบัญชา”

เห็นทุกคนเป็นลูกน้อง ไม่ประสานผลประโยชน์ ไม่ให้เกียรติสภา ไม่ให้เกียรติ ส.ส. แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล วางตัวเป็น “นาย” และเห็นคนอื่นเป็นสมุนมากกว่าเพื่อนร่วมงาน

ชอบแต่การประจบเอาใจ ไม่แคร์เรื่องโควต้า กติกา มารยาท ที่ต้องมีให้กับพรรคร่วมรัฐบาลหรือแม้กระทั่งคนที่มีบทบาทสนับสนุนให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ และชัดเจนเมื่อท้ายที่สุด ประยุทธ์ต้องไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่คือรวมไทยสร้างชาติ

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้บรรยากาศเป็นไปในลักษณะที่เกือบทุกพรรคการเมืองและแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะไม่ต้องการให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ อีก และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากปี 2562 คือ ทุกพรรคบอกว่าตัวเองพร้อมมากที่จะเป็นนายกฯ

พูดอีกอย่างได้ว่า ลึกๆ ทุกคนแม้แต่ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความปรารถนาอันเดียวกันคือปรารถนาจะบอกประยุทธ์ว่า “พักได้พัก”

 

ในท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปนี้ มีคำถามหนึ่งพรรคเพื่อไทยถูกถามตลอดเวลาคือ “จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่?”

ที่มาของคำถามนี้ค่อนข้างเข้าใจได้ นั่นคือ คนมองว่าเพื่อไทยชูแคมเปญแลนด์สไลด์ ถ้าได้ 300 เสียง รวมกับก้าวไกล รวมกับเสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ ทำไมจะตั้งรัฐบาลไม่ได้?

แต่คนที่ถามประเมินว่าถ้าเพื่อไทยได้แค่ 200 เสียงปริ่มๆ เพื่อไทยจะรวมกับพลังประชารัฐหรือไม่?

สำหรับตัวฉันแม้จะเข้าใจความกังวลของคนที่ถามคำถามนี้แต่ก็เห็นว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่มีประโยชน์อะไรอยู่ดีเพราะ มีคำถามที่น่าสนใจกว่า เช่น

– ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมจากประชาชนได้ ส.ส.มา 100 คน เราจะปฏิเสธได้ไหมว่า ส.ส. 100 คนนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของ “ประชาชน” และถ้ามีประชาชนเลือก ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐมาจนถึง 100 คนจริงๆ ก็แสดงว่ามีประชาชนอย่างน้อยสี่ล้านคนบอกว่าเขาไม่รังเกียจ เขาไม่มีปัญหากับประวิตร

คำถามคือเราต้องเคารพสี่ล้านเสียงนั้นหรือไม่? – ย้ำว่าสมมุติ

เพราะเราไม่มีทางรู้จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.มากี่คน

แต่อยากถามว่า ในปี 2557 ที่ประวิตรทำรัฐประหาร และในอีก 8 ปีต่อมา เขาลงเลือกตั้งแล้วประชาชนจำนวนมากเลือกเขา เราซึ่งยอมรับเขาไม่ได้เลย ต้องทำอย่างไรในกรณีนี้ในเมื่อหลักการประชาธิปไตยคือเคารพ “เสียง” ของประชาชน

และหลักการนี้สมมุติใช้ได้กับทุกพรรค เช่น ลองจินตนาการว่า ถ้าพรรคที่เราไม่ชอบมากๆๆๆๆๆๆ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ลงเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส.มาเยอะแยะ เราต้องจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร?

– ลองเปลี่ยนคำถามว่า พรรคเพื่อไทยที่หาเสียงด้วยแคมเปญแลนด์สไลด์ นำเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคตัวเองอย่างมโหระทึก แพทองธาร ชินวัตร ตระเวนปราศรัยทุกเวที เปิดตัวนโยบายมาอย่างอลังการ และถ้าไม่อคติจนเกินไปจะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยใช้ช่วงเวลาที่เป็นฝ่ายค้าน ไปกับการ “ปั้น” นโยบายเพื่อหวังจะชนะเป็นรัฐบาลให้ได้

ดูจากการคิดนโยบายอย่างเป็นระบบ เห็นภาพใหญ่ ว่านโยบายเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไร และไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง อย่างที่ว่ากัน ลองจินตนาการว่าถ้าพรรคการเมืองหนึ่งลงทุนลงแรงไปขนาดนี้แล้วดันยกตำแหน่งนายกฯ ให้ประวิตร ฉันคิดว่ามีแต่คนโง่กับคนบ้าเท่านั้นที่จะทำอะไรแบบนี้?

เพราะการ “ลงทุนลงแรง” นี้มันเป็นต้นทุนของสิ่งที่เรียกว่า Trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจอันเป็นต้นทุนที่มีราคาแพงที่สุด เงินกี่หมื่นล้านบาทก็ซื้อสิ่งนี้ไม่ได้

และเหตุที่พรรคไทยรักไทยจนมาถึงพรรคเพื่อไทยทุกวันนี้ ที่โดนรัฐประหารมาสองครั้ง โดนสอยให้ร่วงทั้งจากกฎหมายและปลายกระบอกปืนยังคงเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนไทยสูงสุด เลือกตั้งทุกครั้งชนะทุกครั้งท่ามกลางข่าวลือข่าวลวงการใส่ร้ายป้ายสี การสร้างวาทกรรม เอาทักษิณกลับบ้าน ขายชาติ โกงจำนำข้าว บลาบลา ก็เพราะพรรคเพื่อไทยมีต้นทุนที่มีค่าที่สุดที่พรรคอื่นไม่มีคือ Trust

ดังนั้น ก่อนที่เราจะถามว่า พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐหรือไม่?

เราต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ประวิตรจะยอมให้แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

และถ้าประวิตรไม่ยอมให้แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ประวิตรจะเป็นเอง พรรคเพื่อไทยจะยอมหรือไม่?

และเมื่อคำนึงถึง “ต้นทุน” เรื่องความไว้วางใจ การตัดสินใจแบบไหนที่จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อพรรค

 

ดังนั้น การถามว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะถาม เท่าๆ กับเป็นสิทธิของพรรคที่จะไม่ตอบเพราะถือว่าแคมเปญแลนด์สไลด์ชัดเจนด้วยตัวของมันเอง

เมื่อพุ่งเป้าไปที่แลนด์สไลด์ ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องคิดเรื่องจับมือกับใครหรือไม่จับมือกับใคร เพราะถ้าคิดเมื่อไหร่ แปลว่าคุณไม่เชื่อเรื่องแลนด์สไลด์ที่เอาไปหาเสียง

สำหรับฉันคำถามเรื่องจับมือกับพลังประชารัฐเป็นเรื่องการ “ทดสอบ” จิตใจของเพื่อไทยว่าเข้มแข็งและแน่วแน่กับเป้าหมายแลด์สไลด์จริงหรือไม่?

ตราบเท่าที่เพื่อไทยไม่ตอบคำถามนี้ก็เป็นการยืนยันเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยเป็นแกนนำและมีแคนดิเดตเพื่อไทยเป็นนายกฯ เท่านั้น!

เพื่อไทยจะไม่ตอบว่าจะจับมือหรือไม่จับมือกับใคร เพราะนั่นไม่อยู่ในชอยส์ตั้งแต่แรก และเมื่อไม่อยู่ในชอยส์ตั้งแต่แรก คนที่อยู่ในสนามการแข่งขันจะไม่เสียเวลากับการคิดเรื่อง what if ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ เพราะคนที่คิดแต่เรื่อง “ถ้า…” คือคนที่คิดแต่เรื่องจะแพ้

ส่วนประชาชนใครอยากคิดเรื่อง what if ก็เป็นเรื่องของเราประชาชน แล้วเราก็ประเมินเองว่า เราชอบแบบไหน เราอยากเลือกใคร เพราะทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน จะคิดฉลาดแค่ไหนก็มี 1 เสียงเท่าคนอื่น

สำหรับฉันพรรคที่จำเป็นต้องประกาศว่าจะจับกับใครไม่จับกับใคร มีแต่พรรคที่ชัวร์ 100% ว่าต้องไปเป็นพรรคร่วมกับคนอื่นจึงต้องสร้างความชัดเจนให้กับโหวตเตอร์ของพรรค

ส่วนอะไรที่จะเกิดขึ้นจริงๆ หลังเลือกตั้ง อย่าลืมว่าคนที่กำหนดคือประชาชน ถึงวันนั้นเรามาดูไปด้วยกัน