แผนขยะพลาสติกเหลว รัฐบาลดันไทยสู่ดินแดน “ถังขยะโลก”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“ผมมีเรื่องที่น่ายินดี แจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยจะไม่ถูกมองว่าเป็นถังขยะโลกจากการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศอื่นอีกต่อไป ในช่วง 2 ปีนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2567 รัฐบาลจะคุมเข้มและห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศแล้วหันมาส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาติกในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยที่เป็นปัญหามายาวนาน”

เนื้อความในเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 พยายามสื่อไปถึงบรรดาแฟนๆ นายกฯ ประยุทธ์ทั้งหลาย ซึ่งผมไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์เขียนเองหรือให้ใครเขียนแทน แต่เนื้อความดังกล่าวสะท้อนว่า การจัดการนำเข้าขยะพลาสติกของรัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลวมาตั้งแต่แรก

ทำไมถึงล้มเหลว ก็เพราะเหตุว่า นับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปีเต็ม

การตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 จะไม่นำเข้าขยะพลาสติกจากนอกประเทศอีกต่อไป เท่ากับบอกให้คนไทยได้รู้ว่า เวลานี้ประเทศไทยยังเป็นถังขยะของโลกอยู่

 

ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลังเกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารบอกว่าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติในปี 2561

ปีเดียวกันนั้น รัฐบาลแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะอิเลกทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ในที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี และกำหนดโควต้าปีแรก นำเข้าได้ไม่เกิน 7 หมื่นตัน ปีที่ 2 ไม่เกิน 4 หมื่นตัน กำหนดให้วันที่ 30 กันยายน 2563 โควต้าเดิมสิ้นสุดลงและห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด

ระหว่างทาง ตั้งแต่ปี 2561 ปริมาณนำเข้าขยะพลาสติกทำสถิติพุ่งสูง 5.5 แสนตัน เทียบกับก่อนมีรัฐประหารมากกว่า 10 เท่าตัว

สาเหตุหลักๆ มาจากรัฐบาลจีนประกาศนโยบายห้ามนำขยะพลาสติกจากต่างประเทศ

ผลจากนโยบายของจีนทำให้กลุ่มธุรกิจขยะพลาสติกและเจ้าของโรงงานขยะแปรรูปแห่มาตั้งโรงงานในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

พร้อมกับนำเข้าขยะทั้งประเภทขออนุญาตถูกต้องและลักลอบนำเข้าในปริมาณมโหฬาร

ปีถัดๆ มา การนำเข้าขยะพลาสติกเข้าสู่ไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรภาคประชาชนซึ่งระบุว่า วัตถุดิบในประเทศมีพอเพียง

แต่รัฐบาลกลับไม่ฟัง อ้างว่า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขาดแคลนวัตถุดิบต้องการนำเข้าเศษพลาสติกปีละ 685,190 ตัน

ต้นปี 2564 รัฐบาลแสดงท่าเล่นเกมยึกยักกับแผนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกด้วยการพลิกมติของคณะอนุกรรมการ แล้วเปลี่ยนเป้าหมายใหม่เป็นห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569

มาถึงเดือนตุลาคม 2565 คณะอนุกรรมการเปิดเกมด้วยการออกมติให้ผ่อนผันการนำเข้าขยะพลาสติกกับโรงงานอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร 14 แห่ง สามารถนำเข้าได้อีก 2 ปี โควต้า 5.5 แสนตัน เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2567 และในปี 2568 ประกาศห้ามนำเข้าในทุกกรณีโดยเด็ดขาด

จากนั้น ผลักดันมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งเขียนขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรีผ่านการเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าขยะพลาสติกระบุว่า ตามมติ ครม.กำหนดห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ดังนี้

1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี

สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณ 100% ของความสามารถในการผลิตจริง

ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกิน 50% ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ

เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอโดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด

 

มติ ครม.ดังกล่าวนี้ บอกให้คนไทยได้รู้ว่า นอกจากรัฐบาลประยุทธ์ไม่มีความพยายามสกัดการนำเข้าขยะพลาสติกซึ่งเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ ประเทศพัฒนาแล้ว

แต่รัฐบาลชุดนี้ยังมองเห็นความจำเป็นต้องนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศอีกต่อไป

เหตุผลจริงๆ ในการพลิกเปลี่ยนเป้าหมายการนำเข้าขยะพลาสติกจากเดิมที่กำหนดไว้จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 มาเป็นปี 2568 ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการขาดแคลน “วัตถุดิบ” หรือ “ค่าตั๋ว” นำเข้าขยะกันแน่?

ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ก็ได้ข้อสรุปชัดว่า 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความตั้งใจเปลี่ยนภาพลักษณ์แย่ๆ ของประเทศไทยที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ถังขยะโลก”

และคำประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงวาทกรรมหรูๆ เท่านั้นเอง •