วาทกรรมคนดี ในการเมืองไทย | ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในช่วงนี้ที่การตระเวนหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

คำปราศรัยหนึ่งที่กำลังตกเป็นประเด็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือคำปราศรัยของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นักการเมืองอาวุโสเจนประสบการณ์ ได้กล่าวปราศรัยใหญ่ที่สนามหน้าศาลากลาง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ตอนหนึ่งว่า

“พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติของคนดี พวกเราเป็นคนดีใช่ไหมพี่น้อง เราต้องไม่ลืมบุญคุณบรรพบุรุษใช่ไหมพี่น้อง ต้องรักษาประเทศนี้เอาไว้ให้อยู่ให้ดีที่สุดใช่ไหมครับพี่น้อง ร.9 ตรัสเอาไว้ว่า จงเลือกคนดีปกครองประเทศเท่านั้น ผมเองไม่เล่นแล้วการเมือง แต่ผมมาช่วยบิ๊กตู่ [พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา] เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนดี ผมดูแล้วหัวหน้าพรรคทั้งหลายเนี่ยไม่มีใครดีเหนือกว่าบิ๊กตู่หรอก”

คำปราศรัยดังกล่าวของนายไตรรงค์กลายเป็นประเด็นทางการเมืองร้อนแรงที่ไม่ได้จบแค่บนเวทีหาเสียง แต่กำลังนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย

เมื่อนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ไต่สวน ว่าคำปราศรัยของนายไตรรงค์ เข้าข่ายผิดระเบียบของ กกต. ที่ห้ามผู้สมัครและพรรคการเมืองนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงหรือไม่

ซึ่งถ้าผลการไต่สวนเข้าข่ายความผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะมีโทษจำคุกสูงถึง 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท

นอกจากนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เตรียมยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรครวมไทยสร้างชาติ จากเหตุเดียวกันนี้ด้วย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ

ยากที่จะคาดการณ์ผลทางกฎหมายของกรณีนี้อย่างแน่ชัดได้ แต่ยกประเด็นทางกฎหมายไว้ก่อน สิ่งที่บทความชิ้นนี้สนใจอยากจะวิเคราะห์มากกว่าคือ “วาทกรรมคนดี” ที่คำปราศรัยของนายไตรรงค์พยายามขับเน้น และความพยายามสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ผูกติดกับความเป็นคนดี

 

หากใครติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด คงทราบดีว่าวาทกรรมคนดีที่นายไตรรงค์นำมาใช้ยกย่องเชิดชู พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่สิ่งใหม่

หากเป็นเกมการเมืองวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปได้หลายทศวรรษในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พลังทางการเมืองฟากฝ่ายอนุรักษนิยมได้ผลิตสร้างและหยิบใช้วาทกรรมความดีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองในสนามการเมืองมาโดยตลอด

คำปราศรัยของนายไตรรงค์นั้นอ้างอิงถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระบรมราโชวาทที่ถูกนำมาผลิตซ้ำนอกบริบททางประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

คนจำนวนมากคงไม่ทราบว่าเป็นพระบรมราโชวาทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว เนื่องจากตรัสไว้ตั้งแต่ครั้งพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 ใจความว่า

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

หากต้องการจะเข้าใจความหมายของพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ก็ต้องเข้าใจบริบททางการเมืองที่มีความจำเพาะในห้วงเวลานั้น

ซึ่งก็คือ ยุคสมัยของสงครามเย็นและการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะ ซึ่งเพิ่งจัดการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2512 เพื่อสร้างเสริมความชอบธรรมให้กับตนเอง

แปรเปลี่ยนสถานะจากนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารกลายเป็นนายกฯ ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง

ถนอมและแกนนำคณะรัฐประหารออกแบบรัฐธรรมนูญ และใช้กลไกรัฐทุกองคาพยพช่วยเหลือพวกตนจนทำให้พรรคสหประชาไทยของถนอมชนะการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ

 

เราจะพบการสร้างอัตลักษณ์ “คนดี” อย่างเด่นชัดในยุคที่จอมพลถนอมครองอำนาจ มีความพยายามสร้างอัตลักษณ์ว่าตนเองเป็นนายกฯ ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลในธรรม เป็นคนสมถะ ใจซื่อมือสะอาด และพร่ำสอนให้คนไทยต้องหมั่นเพียรทำความดี – “จงทำดี จงทำดี จงทำดี” จึงกลายเป็นคำขวัญประจำยุคสมัย

ความพยายามขับเน้นภาพลักษณ์คนดีของรัฐบาลทหาร ณ เวลานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

เพราะรัฐบาลถนอมที่สืบทอดอำนาจต่อมาจากนายของตนเองคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังเสื่อมความนิยมและความศรัทธาจากประชาชนอย่างมาก

ทั้งข่าวคราวการคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาวมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต

พฤติกรรมการใช้อำนาจบาตรใหญ่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และรังแกประชาชนตัวเล็กตัวน้อย

รัฐบาลจอมพลถนอมตระหนักดีว่าความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐนาวาตนกำลังเสื่อมทรุดในสายตาประชาชน และความไม่พอใจของประชาชนกำลังก่อตัวเป็นกระแสที่สัมผัสได้

การผลิตสร้างวาทกรรมคนดี และนายกฯ คนดีของรัฐบาลทหารจึงเป็นความพยายามที่จะกอบกู้เสียงสนับสนุนจากประชาชน

เป็นยุทธวิธีในทางการเมืองวัฒนธรรมที่อธิบายและตีกรอบความเข้าใจทางการเมืองให้ประชาชนเข้าใจว่าการเมืองไทยนั้นมีแค่ขาวกับดำ ฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ตัดกันเป็นขั้วตรงข้าม

โดยคณะรัฐประหารและบรรดานายพลที่ปกครองประเทศอยู่นั้นเป็น “คนดี” แม้ว่าจะมีปัญหาข้อบกพร่องบริหารประเทศไม่ถูกใจประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการพิทักษ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ และปกป้องแผ่นดินจากภัยคุกคามจากเหล่า “คนชั่ว” ที่มุ่งจะเข้ามามีอำนาจก่อความไม่สงบในบ้านเมือง

แน่นอนว่า “คนชั่ว” ที่คิดไม่ดีกับบ้านเมืองในยุคนั้นก็คือ พวกฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

หน้าที่ของวาทกรรมคนดี คือ ตรึงความคิดของประชาชน ไม่ให้ผู้คนสามารถคิดถึงการแข่งขันทางการเมืองในกรอบอื่นๆ

เมื่อการเมืองกลายเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างความดีกับความชั่ว คนดีกับคนไม่ดี ประชาชน (และผู้เลือกตั้ง) จึงมีทางเลือกเดียวคือ สนับสนุนคนดี และกีดกันคนชั่ว

การเมืองถูกลดทอนลงให้เหลือทางเลือกแค่ 2 ฝ่ายที่ไม่ซับซ้อน

การแข่งขันเชิงนโยบายหายไปจากสนามการเมือง การโต้เถียงในเชิงข้อเท็จจริงและข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร จะทำให้คนไทยมีงานทำอย่างทั่วถึงอย่างไร จะพัฒนาระบบการศึกษาและการสาธารณสุขอย่างไร จะสร้างระบบประกันสังคมชนิดใด จะยกระดับการผลิตและการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างไร ฯลฯ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกขับเน้น

เพราะการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของการเลือก “คนดี” ในความหมายที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรื่องของนโยบายที่เป็นรูปธรรม

ไม่ใช่เพียงแค่การเมืองไทยที่มีการขับเน้นเรื่องวาทกรรมคนดีในการต่อสู้ทางการเมือง ในหลายประเทศก็มีลักษณะเช่นนี้ ที่การเมืองถูกแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายเช่นนี้จนกลบและบดบังการแข่งขันหาเสียงในเชิงนโยบาย

กล่าวสำหรับการเมืองไทยร่วมสมัย วิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้วาทกรรมคนดีถูกปลุกและผลิตซ้ำขึ้นมาอย่างคึกคัก โดยขบวนการทางการเมืองที่มีการใช้วาทกรรมนี้มากที่สุดในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของตน คือ กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตลอดการชุมนุมของ กปปส. ได้ชูวาทกรรมการต่อสู้แบบสงครามระหว่างพลังฝ่ายธรรมะกับอธรรมเป็นวาทกรรมหลัก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำของขบวนการ กปปส. ได้ประกาศแนวคิดเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” ว่าตนเองจะสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาและจัดตั้งรัฐบาลของ “คนดี” โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

เนื้อหาคำปราศรัยหลักของนายสุเทพตลอดการชุมนุมของ กปปส. คือ การย้ำเน้นว่ากำลังต่อสู้เพื่อสร้างการเมืองที่คนดีได้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง และป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคนชั่วได้มีอำนาจ

เช่น คำปราศรัยครั้งหนึ่งที่ว่า “เราเป็นพลเมืองดี… ผู้รักชาติ รักแผ่นดิน” ที่กำลัง “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อบ้านเมือง” (คำปราศรัยวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556)

กระทั่งการขัดขวางการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ชอบธรรมในสายตาของนายสุเทพ เนื่องจาก “เพื่อให้คนดีได้มีโอกาสเป็นผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ป้องกันไม่ให้คนชั่วมีอำนาจในบ้านเมืองอีก” (วันที่ 18 ธันวาคม 2556)

และที่สำคัญ “…ขณะนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง เป็นการต่อสู้ระหว่างเผด็จการทรราชนายทุน กับประชาชนทั้งประเทศไทย เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคนชั่วกับฝ่ายคนดี เพราะฉะนั้น ไม่มีที่ตรงกลางให้ท่านยืน ต้องเลือกข้างยืนว่าจะเอาชั่วหรือว่าเอาดี…” (คำปราศรัยสุเทพ เทือกสุบรรณ, เวทีศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ, 2 ธันวาคม 2556)

 

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่วาทกรรมคนดีและการเลือกคนดีให้ปกครองบ้านเมืองจะปรากฎตัวอีกครั้งในเวทีหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของบุคลากรและพลังทางการเมืองสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะพบอดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะแกนกลางและขุมกำลังหลักของพรรค

ในแง่นี้ คำปราศรัยของนายไตรรงค์จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ และมิใช่อะไรอื่น นอกจากการผลิตซ้ำวาทกรรมคนดีในอดีต และปัดฝุ่นวาทกรรมการเมืองคนดีของขบวนการ กปปส. กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566

โดยมีความคาดหวังว่าการสร้างภาพลักษณ์ “คนดี” น่าจะเป็นจุดขายที่ช่วยตรึงและดึงคะแนนเสียงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ได้

แต่บริบทการเมือง พ.ศ.2566 ก็แตกต่างจาก พ.ศ.2557 และยิ่งแตกต่างจาก พ.ศ.2512

คำถามคือ วาทกรรมคนดียังเป็นจุดขายทางการเมืองที่มีพลังหรือไม่สำหรับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน

การชูความดีที่เป็นนามธรรมเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จนสามารถเอาชนะคู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ได้

ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้าจะเป็นคำตอบ