เกาะขอบ…พรรคการเมือง ส่องนโยบายพลิกโฉมเศรษฐกิจ ธุรกิจมองหากระดุมเม็ดแรก

บทความเศรษฐกิจ

 

เกาะขอบ…พรรคการเมือง

ส่องนโยบายพลิกโฉมเศรษฐกิจ

ธุรกิจมองหากระดุมเม็ดแรก

 

นับถอยหลังทันที เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณจะยุบสภาภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้กรอบเวลาเลือกตั้งเป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศไว้ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ดังนั้น ในทุกวันนี้ เราจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง พรรคน้อยพรรคใหญ่ ก็ต่างเดินทางลงพื้นที่ขึ้นเหนือล่องใต้กันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บนความหวังเพื่อซื้อใจประชาชนให้เทคะแนนเสียง เลือกมาเป็นผู้แทนประชาชน ให้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ เพื่อเป็นผู้นำในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะวันนี้ต้องเสนอความเป็นผู้นำและผู้มีฝีมือในการรับมือ การแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป

ซึ่งประชาชนผู้ลงคะแนนก็ต้องคิดอย่างรอบคอบ ที่จะเทคะแนนให้พรรคใด บนความหวัง ผู้ทำประโยชน์และสร้างความสุขของประชาชนในภาพรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทำให้เราต้องเฟ้นหาผู้ที่สามารถฝากชีวิต ความหวัง และอนาคตไว้ด้วยได้ เรียกว่าเป็นการฝากผีฝากไข้ก็คงไม่ผิด แม้ไม่สามารถฝากชีวิตไว้จนตายได้ แต่ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ ก็ขอฝากอนาคตไว้ด้วย

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ จึงถือเป็นเหมือนการกุมชะตาชีวิตของประเทศไทยไว้ในมือคนแค่ไม่กี่คนเท่านั้น คนที่ต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการด้านต่างๆ พร้อมแก้ไขปัญหา รับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีก เพื่อช่วยให้ประชาชนและประเทศก้าวผ่านความเดือดเนื้อร้อนใจไปได้แบบบอบช้ำน้อยที่สุด

เมื่อเราไม่สามารถอ่านความคิดใครออกได้ แต่ยังสามารถประเมินแนวคิดผ่านนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่ออกมาขายของกันแบบจัดหนักจัดเต็มแล้ว รวมถึงพรรคการเมืองน้อยใหญ่ในตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็มีผลงานให้เห็นผ่านตากันบางในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อต้องประเมินนโยบายภาพนโยบาย ก็ต้องตั้งโจทย์สิ่งที่ต้องการก่อน ว่าอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปในทิศทางใด รวมถึงระหว่างทางมีปัจจัยบวกในการสนับสนุน หรือปัจจัยลบในการฉุดรั้งอย่างไรบ้าง เพื่อให้การก้าวเดินต่อไปนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

เริ่มต้นที่ปัจจัยบวกในปัจจุบัน อย่างการระบาดโควิด-19 ที่คลายตัวได้มากขึ้นแล้ว ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจกันเป็นปกติมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เรากลับไปเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562

เพราะตอนนี้เราก็ยังต้องระมัดระวังตัวกันต่อไป เพราะแม้โควิดจะคลายตัวลง แต่ก็ยังสามารถติดต่อแพร่เชื้อระหว่างกันได้ตลอดเวลา

ภาพอาจเป็นบวกมากขึ้นตรงที่อาการไม่ได้รุนแรง อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงเหมือนช่วงพีกในปี 2564-2565 แล้ว

เมื่อการเดินทางระหว่างกันสามารถทำได้มากขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูงด้วย

การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะมากหรือน้อยยิ้มได้มากขึ้น

แม้ภาพจะดูดีกว่าที่เคย แต่ปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่ เพราะการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการเปิดประเทศจนเห็นเศรษฐกิจดำเนินได้ดีกว่าเดิมนั้น ไม่ได้หมายความว่าดีจริงๆ

เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาทั้งการส่งออกที่ติดลบ ดุลการค้าที่ขาดดุล และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์จำนวนมาก จนทำให้ดัชนีหุ้นที่เหมือนจะขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด รูดร่วงลงมาอยู่ขอบ 1,600 จุดอีกครั้ง

รวมถึงยังมีปัจจัยกระทบจากต่างประเทศอีก โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ ที่กังวลการเร่งตัวขึ้น จะกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจโลก และประเทศไทย ในแง่การการใช้จ่ายของภาคการท่องเที่ยว และความต้องการซื้อสินค้าในภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็น 2 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

วันนี้ขอนำเสนอเสียงสะท้อนจาก ภาคธุรกิจบางส่วน!!

 

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ระบุว่า ปัจจัยท้าทายที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2566 หลักๆ เป็นเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นนั้น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มยุโรป และสหรัฐ เข้ามาติด 5 อันดับแรก

แต่ในช่วงถัดจากนี้จะชะลอตัวลง แต่จะมีประเทศเอเชียเข้ามาทดแทน อาทิ เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่เนื่องจากวันพำนักในไทยน้อย เทียบกับยุโรป สหรัฐ ที่เฉลี่ยจะพักประมาณ 10 วัน โดยเราหวังว่าอุปสรรคเหล่านี้จะใช้เวลาในการคลายตัวอย่างน้อย 1 ปีต่อจากนี้

เมื่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างรายได้ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ท่ามกลางการใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ เอกชนท่องเที่ยวก็หวังใจเห็นการผลักดันและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ผ่านรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เนื่องจากหากประเมินปัจจัยลบและบวกที่มีอยู่ขณะนี้ เทียบกับนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ออกมาขายของกันอย่างหนักหน่วง ภาคธุรกิจก็ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่ชัดเจนมากพอ

 

อย่าง อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า การทยอยประกาศนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เริ่มเดินหน้าหาเสียงกันอย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะสามารถตอบโจทย์กับทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตามที่ประเมินไว้

โดยมองเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. นโยบายการให้เงินช่วยเหลือ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังดำเนินต่อไป

2. การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ ที่อาจช่วยเพิ่มกำลังซื้อระดับล่างได้ แต่ก็ต้องดูว่าจะกระทบกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหรือไม่

และ 3. โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะดำเนินต่อไปหรือไม่ เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสนใจในประเด็นนี้ ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าอย่างไร ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนยังชะลอการลงทุนใหม่ เพื่อรอดูนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ก่อน

ไม่แตกต่างจากผู้คว่ำหวอดในธุรกิจท่องเที่ยวตัวจริง ที่ก็มองว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองในตอนนี้ ยังไม่ตอบโจทย์ภาวะการณ์ความจริงในปัจจุบัน

 

ขณะที่ อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ส่วนตัวมองว่า ยังไม่เห็นนโยบายของพรรคใดที่มีความชัดเจนในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ

แต่นโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมาตอนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก

อาทิ การขึ้นค่าจ้างแรงงาน แต่ต่อจากนั้นจะทำอย่างไร เพื่อปลายทางคืออะไร ส่วนนี้ยังไม่เห็นจากพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น

อย่างภาคการท่องเที่ยว ที่ภาครัฐและเอกชนควรต้องวางเป้าหมายให้สอดคล้องกับภารกิจที่เกี่ยวข้องกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มี

ประเทศไทยจึงต้องมีแผนงานที่ชัดเจน สามารถบอกได้ว่าทำเพื่ออะไร ใช้งบประมาณเท่าใด และปลายทางจะได้อะไรคืนมา

ก้าวแรกมักสำคัญเสมอ เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรก หากเม็ดแรกผิด เม็ดถัดๆ ไปก็ผิด แม้รู้ตัวก็ต้องใช้เวลา จึงหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่ถูกต้อง เหมือนกระดุมที่ติดถูกตั้งแต่เม็ดแรก!!!!!