จับผิด! คลิปไวรัล ไม่ใช่ ‘เมฆถล่ม’ แต่เป็น ‘หิมะถล่มแบบแห้ง’ | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีคลิปไวรัลซึ่งอ้างว่าแสดงปรากฏการณ์ “เมฆถล่ม (cloud avalanche)” ลองค้นหาคลิปนี้โดยใช้คำว่า Cloud avalanche in Nepal ดูได้

ข้อความที่มาพร้อมคลิปเขียนว่า “ปรากฏการณ์ unseen ที่เนปาลใกล้เทือกเขาหิมาลัยที่นักไต่เขาเก็บภาพได้โดยบัญเอิญแท้ๆ กลุ่มเมฆเคลื่อนตัวถล่มจากซอกเขาลงมาราวกับเป็นหิมะถล่ม เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตื่นเต้นและสวยงาม”

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรมาดูกันครับ

ภาพจากคลิปที่อ้างว่าเป็น “เมฆถล่ม”ก่อนอื่น คลิปนี้ไม่ใช่คลิปใหม่ เนื่องจากเคยถูกโพสต์ใน YouTube มาก่อนแล้วอย่างน้อยใน ค.ศ.2021 ในชื่อ Kapuche lake 2021 (avalanche) ที่ https://www.youtube.com/watch?v=vTzRntsUVOc ผู้โพสต์ใช้ชื่อแอ็กเคาต์ว่า ShresthaKiranZ

ทั้งนี้ เว็บ NepalMinute ได้สืบค้นพบคลิปนี้ใน Instagram ซึ่งโพสต์ในเดือนมกราคม ค.ศ.2021 โดยแอ็กเคาต์ชื่อ naren32 มีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลได้ความว่า “นี่คือวิดีโอฉบับเต็มของการถล่มขนาดมหึมา ต้องค้างคืนที่ Kapuche Lake เพื่อจับภาพเหตุการณ์นี้ และในที่สุดก็คุ้มค่า”

ชื่อ Kapuche lake ที่ระบุไว้พร้อมกับคลิปทั้งสองเป็นทะเลสาบที่อยู่ในเนปาล เป็นทะเลสาบที่เกิดจากธารน้ำแข็งที่อยู่ต่ำที่สุดในโลก โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,546 เมตร และอยู่ห่างจากยอดเขาเอเวอเรสต์ราว 300 กิโลเมตร สถานที่นี้มีเส้นทางเดินป่าระยะไกลด้วย

ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับคลิปนี้คือ ปรากฏการณ์ที่เห็นไม่ใช่ “เมฆถล่ม” หรือ “cloud avalanche” ตามข้อมูลที่ติดมากับคลิป เนื่องจากลักษณะก้อนๆ ตะปุ่มตะป่ำคล้ายกะหล่ำดอกอันเป็นลักษณะเด่นของเมฆก้อน (cumuliform cloud) ที่กำลังเติบโตขึ้นในแนวดิ่ง หมายความว่ากระแสอากาศโดยภาพรวมต้องยกตัวสูงขึ้น ไม่ใช่ไหลลงมาในภาพรวมตามคลิป

นอกจากนี้ คำว่า cloud avalanche ยังไม่ใช่ศัพท์วิชาการในวงการอุตุนิยมวิทยาอีกด้วย (อย่างน้อยก็ในขณะนี้ – ปี ค.ศ.2023)

ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่เห็นในคลิปนี้เป็นปรากฏการณ์อะไร?

คําตอบแบบสั้นๆ คือ หิมะถล่มแบบแห้ง (dry snow avalanche) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ หิมะถล่มแบบผง (powder snow avalanche)

หิมะถล่มมีหลายแบบครับ แต่ผมขอพูดถึงหิมะถล่มแบบกว้างๆ ก่อน แล้วค่อยเจาะลึกแบบที่เกิดขึ้นในคลิปนี้อีกที

คำว่า หิมะถล่ม (snow avalanche) หมายถึงการที่หิมะและน้ำแข็งปริมาณมากเคลื่อนลงมาตามเส้นทางลาดชัน ทั้งนี้อาจมีก้อนหิน ต้นไม้ และดินเคลื่อนติดลงมาด้วย ปรากฏการณ์นี้มักเริ่มต้นในบริเวณที่มีความลาดชันในช่วง 30-45 องศา และจบลงในพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันน้อยกว่า 15 องศา

หิมะและสิ่งต่างๆ ติดมาด้วยอาจเคลื่อนที่เร็วราว 20-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือในบางกรณีอาจเร็วในช่วง 50-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หิมะถล่มขนาดเล็กอาจมีมวลโดยรวมหนักราว 10 ตัน ในขณะที่หิมะถล่มขนาดมหึมาอาจมีมวลโดยรวมสูงลิ่วถึง 100,000 ตันทีเดียว!

กลับมาที่ ‘หิมะถล่มแบบแห้ง’ หรือ ‘หิมะถล่มแบบผง’ ซึ่งเป็นกรณีในคลิปไวรัลกัน

หิมะถล่มแบบแห้งนี้ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นหิมะที่แห้ง ไม่เปียกชื้น คือไม่มีน้ำที่เป็นของเหลวปนอยู่มากนัก ภาพรวมมีลักษณะสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ เนื่องจากเห็นเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ คล้ายเมฆก้อนเคลื่อนไหลลงมาจากภูเขา

นักวิชาการชำแหละหิมะถล่มแบบนี้ และพบว่ามีโครงสร้างแบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ดูแผนภาพที่นำมาฝากครับ

โครงสร้างของหิมะถล่มแบบแห้ง (แบบผง)
ภาพที่มา > https://www.researchgate.net/figure/Structure-of-a-powder-snow-avalanche-composed-of-four-regions-diagram-adapted-from_fig4_305406614?

ส่วนที่ 1 (คำว่า Front ในแผนภาพ) คือด้านหน้าของหิมะถล่ม ส่วนนี้ดูผิวเผินเหมือนไร้พิษสง แต่จริงๆ แล้วอากาศ (ซึ่งตามองไม่เห็น) ถูกอัดกระแทกให้พุ่งระเบิดออกไปข้างหน้า

แม้ว่าอากาศที่พุ่งออกไปนี้จะมีพลังงานเพียงแค่ 1 ใน 10 ส่วนของพลังงานของ “แกน” (ดูส่วนที่ 2) ก็ตาม แต่มันก็อาจพุ่งเร็วเพียงพอที่จะทำให้ปอดคุณฉีกได้! (น่ากลัวจริง) นอกจากนี้ ยังเกิดเสียงความถี่ต่ำกว่าที่คนได้ยิน เรียกว่า อินฟราซาวด์ (infrasound) ขึ้นด้วย

ส่วนที่ 2 (คำว่า Energetic part) เป็น “แกน” ของหิมะถล่มแบบนี้ เป็นส่วนเคลื่อนเร็ว มีพลัง และเป็นของไหลที่ประกอบด้วยอากาศราว 70 เปอร์เซ็นต์ กับอนุภาคน้ำแข็งอีกราว 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่ 3 (คำว่า Dense & Tail part) คือ ส่วนที่หิมะด้านล่างซึ่งหนาแน่นกว่าส่วนอื่นและเคลื่อนที่ช้า

ส่วนที่ 4 (คำว่า Powder cloud) คือ ส่วนที่ดูคล้ายเมฆก้อน นักวิชาการเรียกว่า “powder cloud” แปลง่ายๆ ว่า “เมฆที่ประกอบด้วยผง”

คำว่า “ผง (powder)” ในที่นี้คือ ผลึกหรือเกล็ดหิมะซึ่งเป็นอนุภาคของแข็งขนาดเล็กมาก ส่วนคำว่า “เมฆ (cloud)” ในที่นี้คือต้องการสื่อว่าภาพรวมดูคล้ายเมฆก้อนบนฟ้า (ซึ่งประกอบด้วยน้ำ) นั่นเอง

ส่วนที่ดูคล้ายเมฆนี้เกิดจากการที่หิมะไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศปั่นป่วน ผลก็คือเม็ดเกรนหิมะจำนวนหนึ่งถูกพัดหอบขึ้นมาทำให้เห็นภาพรวมคล้ายก้อนเมฆ แต่ถ้าดูรายละเอียดจะพบว่าส่วนที่ดูคล้ายเมฆนี้เป็น และอากาศถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และมีเกล็ดหิมะราว 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การถล่มของหิมะแบบนี้ยังทำให้เกิดคลื่นไหวสะเทือน (คำว่า Seismic waves ในแผนภาพ) แผ่ลงไปในหิมะและพื้นดินข้างใต้อีกด้วย

การถล่มของหิมะแบบแผ่น
ที่มา > www.sfu.ca/~yla312/IAT%20235/P04_week%2013/what-is-avalanche.html

หากสังเกตให้ละเอียดขึ้น บ่อยครั้งอาจเห็นว่าหิมะถล่มแบบนี้เคลื่อนมาเป็นระลอกคลื่น เพราะเมื่อคลื่นลูกแรกเคลื่อนออกไปก็จะถูกหน่วงด้วยแรงเสียดทานที่เกิดจากพื้นและอากาศ ทำให้คลื่นลูกถัดไปเคลื่อนไปบนส่วนบนของคลื่นลูกแรกและอาจแซงหน้าคลื่นลูกแรกไป ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับคลื่นลูกถัดๆ ไป ทำให้การถล่มดูเหมือนหิมะพุ่งออกมาเป็นห้วงๆ ทุก 2-3 วินาที

ความปั่นป่วนอย่างรุนแรงภายในหิมะถล่มแบบแห้ง (แบบผง) นี้ทำให้เศษของแข็งบดเม็ดเกรนหิมะให้เล็กละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้ว่าหิมะจะเริ่มต้นโดยมีน้ำหนักน้อยและดูบางเบา แต่พอถึงตอนจบหิมะนี้อาจหนาแน่นมากได้ หิมะถล่มขนาดใหญ่ที่เริ่มจากความหนาแน่นราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ (ปริมาตรของหิมะต่ออากาศ) บ่อยครั้งจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อการถล่มจบสิ้นลง

มีเรื่องหวาดเสียวเกี่ยวกับหิมะถล่มแบบแห้งนี่ด้วย เนื่องจากพลังงานจลน์ (พลังงานขณะเคลื่อนที่) ที่ปลดปล่อยออกมาขณะหิมะเคลื่อนที่ลงมานั้นได้ทำให้หิมะร้อนขึ้นเล็กน้อย จึงเกิดน้ำเกาะอยู่บนผิวของเม็ดเกรนผลึกน้ำแข็ง เนื่องจากหิมะที่มีน้ำปนอยู่ก็เปรียบได้กับปูนซีเมนต์ผสมน้ำซึ่งจะแข็งตัวกลายเป็นคอนกรีตเมื่อน้ำแห้งหมดไป

ดังนั้น หากมีใครอยู่ตรงแถวๆ ที่การถล่มจบสิ้นลง คนๆ นั้นก็จะถูกแช่แข็งทันที!

หิมะถล่มยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก ที่สำคัญและน่ารู้จัก เช่น

หิมะถล่มแบบหลวม (loose snow avalanche) ซึ่งเกิดจากหิมะที่เพิ่งตกมาใหม่ๆ จึงยังเกาะกันอย่างหลวมๆ

หิมะถล่มแบบแผ่น (slab avalanche) ซึ่งแผ่นหิมะขนาดใหญ่เลื่อนไถลลงมาตามที่ลาดชัน (ดูภาพ)

และ หิมะถล่มแบบเปียก (wet snow avalanche) ซึ่งหิมะตั้งต้นมีน้ำปนอยู่พอสมควร ซึ่งแม้ว่าจะเคลื่อนลงมาช้าๆ แต่ก็อันตราย น้ำที่ปนอยู่อาจมาจากฝน เกิดจากหิมะละลายเพราะแดดจ้า หรืออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาหิมะถล่มแบบต่างๆ อย่างละเอียด เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมช่วยให้สามารถวางแผนป้องกันและลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง