ยานยนต์ สุดสัปดาห์/ตะลุย “โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017” ep.2…พาหนะเพื่อ “โอลิมปิก 2020”

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ตะลุย “โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017”

ep.2…พาหนะเพื่อ “โอลิมปิก 2020”

เข้าสู่เอพิโซด 2 ในซีรี่ส์ชุด ตะลุย “โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017”

เริ่มกันที่รถต้นแบบที่ต้องบอกว่าไซไฟสุดๆ และเป็นรถในอนาคตที่โตโยต้าวางแผนจะผลิตออกมาในอีก 10 ปีข้างหน้า

แต่…ช่วงการถามตอบ ทางผู้บริหารโตโยต้าญี่ปุ่นก็ไม่ฟันธงว่ารถรุ่นนี้จะสามารถผลิตออกมาได้หรือไม่ หรืออาจจะนำคอนเซ็ปต์ไปใช้กับรถรุ่นอื่นๆ ก็เป็นได้

รถต้นแบบรุ่นนี้คือ “ไฟน์-คอมฟอร์ต ไรด์” (Fine-Comfort Ride) ยานยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCV) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รูปแบบใหม่ของซาลูนระดับพรีเมียม”

ชูจุดเด่นมีระยะการเดินทางที่ไกล ใช้เวลาเติมก๊าซไฮโดรเจนเพียงแค่สามนาที

ภายนอกเป็นรูปเหลี่ยมเพชรที่แคบลงตรงปลาย แต่ในขณะเดียวกันก็กว้างขึ้นในทุกมิติตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงจุดศูนย์กลางของรถ ทำให้ที่นั่งแถวหลังโอ่โถงและมีอากาศพลศาสตร์ที่ดีเยี่ยม

ภายในดูอวกาศมากๆ ใช้ฟังก์ชั่น “เอเจนต์” (Agent) ซึ่งบอกไปในฉบับที่แล้วว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นเสมือนเพื่อนของคนขับ หน้าจอแบบสัมผัสติดตั้งอยู่รอบกายผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ที่นั่งสามารถปรับให้ยืดหยุ่นตามท่าทางการนั่งได้ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารใช้หน้าจอเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้แบบอิสระ ผังที่นั่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดาย

โดดเด่นด้านความเงียบและการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฮโดรเจนได้อย่างสมบูรณ์ ภายในมีอุปกรณ์ครบครัน และสามารถวิ่งไปได้ถึง 1,000 กิโลเมตร

ต้นแบบอีกรุ่นที่ผมชอบเป็นพิเศษเพราะออกแนวสปอร์ตจ๋าสุดๆ คือ “จีอาร์ เอชวี สปอร์ต คอนเซ็ปต์” (GR HV SPORTS Concept) การออกแบบทำให้คิดถึง รถแข่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง TS050 Hybrid ที่ลงแข่งในรายการ World Endurance Championship (WEC)

ใช้หลังคาทาร์กา (Targa) เปิดประทุนแบบรถสปอร์ต เหมือนในรถสปอร์ตในตำนาน “โตโยต้า สปอร์ต 800” และ Supra

ไฟหน้าแบบแอลอีดี ล้ออะลูมิเนียม และดิฟฟิวเซอร์หลังเหมือนกับรุ่น TS050 Hybrid ปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติแยกตำแหน่งอิสระ วางเรียงใต้คอนโซลกลางให้อารมณ์สปอร์ตเหมือนรถแข่ง

ปุ่มสตาร์ตใช้ลูกเล่นซ่อนไว้ตรงหัวเกียร์ที่มีฝาเปิด-ปิด

โหมดเกียร์ธรรมดาก็ทำได้โดยแค่กดปุ่มเดียว รวมถึงสามารถขับแบบระบบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด

ที่ติดค้างกันไว้จากฉบับที่แล้วคือ “โตโยต้า เซ็นจูรี่” (Century) จำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น เป็นที่นิยมในกลุ่มราชวงศ์ ผู้นำรัฐบาล ออกแบบทรงเหลี่ยมดูคลาสสิคสุดๆ

เป็นรถที่แทบจะ “ทำมือ” ก็ว่าได้ เพราะผลิตได้ทีละคันเท่านั้น และรุ่นล่าสุดนี้ถือเป็นการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ออกแบบเพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร มีอุปกรณ์ล้ำหน้า พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะสมสำหรับความเป็นลิมูซีนสุดหรู

เพิ่มความยาวของยานยนต์ ฐานล้อ และบันไดที่ทำให้ห้องโดยสารดูกว้างขึ้นและโอ่อ่า

ตะแกรงหน้ามีโครงสร้างแบบคู่ขนานด้วยรูปแบบแบบมงกุฎบนหลังตารางแนวดิ่งและไฟหรี่ ส่วนผสมระหว่างไฟหน้ารถแบบสามดวงและไฟ LED Array AHS

พื้นที่บริเวณเบาะหลังบุเบาะแบบลายเฮตเตอร์ครอบคลุมตั้งแต่หลังเบาะหน้าของรถจนกระทั่งขอบประตู ทำให้พื้นที่แนวระนาบยิ่งดูกว้างขึ้น เบาะที่บุทำจากวัตถุดิบคุณภาพสูง ได้แก่ ขนแกะ 100% ที่ทั้งยืดหยุ่นและอ่อนนุ่ม

แผงจอ LCD อเนกประสงค์ที่อยู่ตรงกลางที่วางแขนทำให้ผู้โดยสารสามารถควบคุมที่นั่ง ช่องแอร์ และระบบเสียงทั้งหมดได้

นอกจากนี้ ยังประดับด้วยการตกแต่งสำหรับธุรกิจหรือความสำราญ เช่น โต๊ะเขียนหนังสือ ไฟอ่านหนังสือ ระบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์สำหรับเบาะหลังด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ และระบบเสียงพรีเมียม 20 ลำโพง

เริ่มขายช่วงกลางปี 2018

รถอีก 2 รุ่นที่นำมาแสดงในบู๊ธ สร้างขึ้นมาเพื่องานใหญ่อย่างโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ

ตลอดหลายวันที่ผมอยู่ที่นั่นเห็นโปสเตอร์และสัญลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับโอลิมปิกจำนวนมาก แม้แต่ภายในโรงแรมที่พักคือ “เคโอะ พลาซ่า” ย่านชินจูกุ ติดภาพนักกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นเต็มพรืดไปหมด

โตโยต้า ในฐานะเมนสปอนเซอร์ของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอลิมปิก 2020 อย่างเต็มที่

รวมทั้งในงาน “โตเกียว มอเตอร์โชว์” อวดรถ 2 รุ่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้บริการในกีฬาโอลิมปิกโดยเฉพาะ

เริ่มจาก “โซร่า” (Sora) รถประจำทาง หรือรถเมล์ รุ่นแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน 100%

ระบบพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า แบบเดียวกับ “มิไร” รถเก๋งพลังงานไฮโดรเจน รุ่นแรกของโลก

ติดตั้งระบบจ่ายพลังงานภายนอก มีถังเก็บไฮโดรเจนอยู่บนหลังคา ตามกฎหมายของญี่ปุ่น เผื่อกรณีผิดพลาดก๊าซไฮโดรเจนจะระบายออกนอกตัวรถ

ภายในติดตั้งที่นั่งแนวนอนพร้อมกลไกพับเก็บอัตโนมัติ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ และเมื่อไม่มีรถเข็นเด็กหรือรถวีลแชร์ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนที่นั่งให้กับผู้โดยสาร

กล้องวงจรปิดความละเอียดสูง 8 ตัว ติดตั้งทั้งด้านในและด้านนอกรถ ทำหน้าที่ตรวจจับภาพคนเดินเท้าและจักรยานรอบรถ เป็นฟังก์ชั่นตรวจสอบรอบนอกที่ช่วยเตือนคนขับด้วยเสียงและภาพ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย

ขึ้น-ลงรถด้วยระบบควบคุมการจอดอัตโนมัติ หยุดรถประจำทางให้อยู่ห่างจากป้ายรถประจำทางประมาณ 3-6 ซ.ม.

สุดท้ายคือ “เจแปน แท็กซี่” (Japan Taxi) รถแท็กซี่รูปทรงคล้ายกับลอนดอน แท็กซี่ ทรงป้อมๆ โตโยต้าตั้งใจจะมาทดแทน “โตโยต้า คราวน์ คอมฟอร์ต” ที่เป็นรถแท็กซี่วิ่งให้บริการในปัจจุบัน

โตโยต้าคาดหวังว่าจะเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของรถบริการสาธารณะ เรียกว่าเมื่อเห็นรูปทรงก็จะรู้ทันทีว่านี่คือรถแท็กซี่แห่งชาติญี่ปุ่น เหมือนกับที่คนเห็นรถแท็กซี่สีเหลืองในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หรือรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“เจแปน แท็กซี่” เริ่มออกวิ่งให้บริการแล้วแต่ยังไม่มากนัก จุดเด่นคือความสะดวกสบายของผู้โดยสารตอนหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ

ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แบบแอลพีจีไฮบริด ซึ่งให้ความประหยัดกว่ารถรุ่นเดิม แม้ราคาซื้อในตอนแรกจะสูงกว่ารถรุ่นเก่าแต่ในระยะยาวแล้วคุ้มค่ามากกว่า

ภายนอกเป็นสีน้ำเงินเข้ม หรือ “ฮิโรชิเกะ บลู” สีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่สืบทอดมายาวนานกว่า 1,300 ปี

จากนี้ไปคนที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นคงเห็น “เจแปน แท็กซี่” มากขึ้นเรื่อยๆ

พีกสุดคงในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 นั่นเอง