ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง
: จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป
และความหมายใหม่หลังรื้อเฉลิมไทย (2)
วัดราชนัดดารามสร้างเมื่อ พ.ศ.2389 ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ โดยเลือกพื้นที่บริเวณสวนผลไม้ริมกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก ใกล้กับวัดเทพธิดาราม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 25 ไร่
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 3 ตลอดรัชสมัยมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมากมาย แต่น้อยคนจะทราบว่า มีเพียงแค่ 3 วัดเท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้ ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี, วัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม
น่าสังเกตด้วยว่า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการเฉลิมพระเกียรติให้แก่เจ้านายฝ่ายหญิงทั้งสิ้น คือ เจ้าจอมมารดาเรียม (แม่), กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (ลูกสาว) และพระองค์เจ้าโสมนัสฯ (หลานสาว)
ทั้งสามวัดมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่ดูเสมือนว่า วัดราชนัดดารามจะมีความพิเศษเฉพาะตัวมากกว่าวัดอื่นเพราะเป็นวัดที่ถูกกำหนดให้มีการก่อสร้าง “โลหะปราสาท” ขึ้นภายในวัด

ที่มาภาพ : สารโยธาเทศบาล พ.ศ.2508
โลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม ถือเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก โดยแห่งแรกอยู่ในประเทศอินเดีย ชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท” สร้างขึ้นโดยนางวิสาขา
ส่วนแห่งที่สองอยู่ในประเทศศรีลังกา สร้างขึ้นโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระ
ความเชื่อเกี่ยวกับโลหะปราสาทเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วในสยามมาช้านาน หลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัดเจนคือ คัมภีร์มหาวงษ์และชินกาลมาลีปกรณ์ที่มีเนื้อความกล่าวถึงตำนานการสร้างโลหะปราสาทในลังกา ซึ่งตำนานเรื่องนี้ก็แพร่หลายมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน เมื่อรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลวรรณกรรมบาลีเรื่องมหาวงษ์ พงศาวดารลังกา ในปี พ.ศ.2339
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัชกาลที่ 3 จะรู้จักโลหะปราสาทเป็นอย่างดี และมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นให้ปรากฏในกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน
จากการพิจารณารูปทรงสัณฐานโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม เห็นได้ชัดว่ามีการออกแบบที่อิงลักษณะสำคัญของโลหะปราสาทที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวงษ์
เช่น แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มียอดอาคารหลายยอด และการเป็นอาคารที่มีความสูงหลายชั้น ซึ่งกรณีของโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม ถูกออกแบบให้เป็นอาคาร 7 ชั้น
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของความเป็นโลหะปราสาทตามคัมภีร์มหาวงษ์ คือ การมุงหลังคาด้วยโลหะ ซึ่งในส่วนนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามตามความประสงค์ของรัชกาลที่ 3 นั้น หลังคายอดปราสาททั้งหลายจะมุงด้วยโลหะหรือไม่ เพราะสร้างไม่แล้วเสร็จในรัชกาล
อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อว่า หากได้มีโอกาสสร้างจนเสร็จจริงตามความคิดของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ยอดปราสาททั้งหมดก็น่าจะถูกหุ้มด้วยโลหะ โดยสามารถอ้างอิงเทียบเคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ ซึ่งมีตอนหนึ่งเขียนถึงภาพ “มิคารมาตุปราสาท” ซึ่งในภาพปรากฏยอดของโลหะปราสาทถูกหุ้มด้วยโลหะสีทอง
แต่ถึงแม้การสร้างจะมีการอ้างอิงเนื้อความในคัมภีร์มหาวงษ์ แต่รูปทรงส่วนใหญ่ทั้งหมดของโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามก็เกิดขึ้นจากการตีความและออกแบบใหม่ตามแนวคิดของช่างไทยบนฐานของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย
โดยเฉพาะเป้าหมายในการใช้สอยอาคาร ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประธานของวัดในลักษณะของสถูปเจดีย์ มิใช่มีเป้าหมายเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ตามแบบของโลหะปราสาทในลังกาแต่อย่างใด
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันว่า แนวคิดหลักในการออกแบบโลหะปราสาทของรัชกาลที่ 3 คือแนวคิดว่าด้วย “โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ” ซึ่งถูกสะท้อนผ่านการสร้างยอดปราสาทของโลหะปราสาทเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 37 ยอด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมิได้มีเป้าหมายในการเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ แต่ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอยจำนวนมากภายในอาคาร ก็ทำให้น่าเชื่อว่า โลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม หากสร้างเสร็จ น่าจะถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ด้วย มิใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงสถูปเจดีย์ที่เอาไว้สักการบูชาเพียงอย่างเดียว
การเลือกสร้างโลหะปราสาทที่มีขนาดใหญ่โตในพื้นที่บริเวณนี้ (ริมกำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก) สะท้อนให้เราเห็นถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างมาก
ยิ่งหากพิจารณาลักษณะทางกายภาพโดยรอบประกอบก็จะเห็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนศูนย์กลางที่สำคัญย่านหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นชุมทางการสัญจรหลักของเมืองจากคลองรอบกรุงออกไปสู่นอกเมืองทางคลองมหานาค เป็นย่านการค้า และที่อยู่อาศัยหนาแน่น
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ฝั่งตรงข้ามของโลหะปราสาท (ข้ามคลองรอบกรุงไปเพียงเล็กน้อย) ก็คือวัดสระเกศ ซึ่งรัชกาลที่ 3 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ขนาดใหญ่ (มีขนาดสูงใหญ่ไม่แพ้พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม) ขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับการก่อสร้างโลหะปราสาท
ทั้งหมดทำให้เราเห็นภาพการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับพื้นที่บริเวณนี้ในทัศนะของรัชกาลที่ 3 ซึ่งจากบทความของ ศรัณย์ ทองปาน เรื่อง “พระมหาโลหปราสาท วัดราชนัดดาราม” ในวารสารเมืองโบราณ เมื่อปี พ.ศ.2532 ได้ตังข้อสังเกตบางอย่างไว้น่าสนใจ ที่อาจเป็นแนวคิดเบื้องหลังในการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ของรัชกาลที่ 3 ก็เป็นได้
ในบทความเสนอว่า
“…การพระราชกุศลที่สำคัญที่สุดในรัชกาลพระเจ้าทุฏฐคามินีอไภยตามที่กล่าวไว้ในมหาวงษ์นั้นมี 3 สิ่งด้วยกัน คือ การสถาปนามริจวัตติวิหาร การสถาปนาโลหปราสาท และการสถาปนาสุวรรณมาลิกเจดีย์ (หรือเหมาลิกเจดีย์) ส่วนการที่ปรากฏขึ้นในรัชกาลที่ 3 นอกจากโลหปราสาทวัดราชนัดดาราม…ยังมีการสร้างพระมหาเจดีย์วัดสระเกศ…ซึ่งหากสร้างเสร็จแล้วก็จะเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในบริเวณกรุงเทพฯ…ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเทียบได้กับการสร้างสุวรรณมาลิกเจดีย์…ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในลังกาทวีป…”
บทความยังอธิบายต่อว่า ตามคัมภีร์มหาวงษ์ สุวรรณมาลิกเจดีย์จะตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับโลหะปราสาท ซึ่งดูคล้ายคลึงและเทียบเคียงกันได้กับตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกันระหว่างพระปรางค์ใหญ่ที่วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) กับโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม
แม้ข้อสังเกตนี้จำเป็นต้องมีหลักฐานประกอบอีกพอสมควรในการพิสูจน์ความสอดคล้องต้องกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปคือ ในสมัยรัชกาลที่ 3 อิทธิพลของคัมภีร์มหาวงษ์ที่มีต่อการสร้างงานศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้นมีสูงมาก
ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงน่ารับฟังทีเดียว
แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอน คือ พื้นที่วัดราชนัดดารามอันเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาทนั้น รัชกาลที่ 3 ต้องการพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่และย่านที่สำคัญมากแน่ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีโลหะปราสาทเป็นแกนหลักของพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางความคิดดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง ภายหลังจากที่พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.2394 โดยโลหะปราสาท ณ ขณะนั้น ดำเนินการไปได้เพียงโครงก่ออิฐสลับกับศิลาแลง และส่วนใหญ่ของอาคารก็ยังมิได้ทำการฉาบปูนแต่อย่างใด
ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 4 วัดราชนัดดารามและโลหะปราสาท ไม่ได้รับการเหลียวแลและก่อสร้างต่อแต่อย่างใด ทั้งหมดถูกปล่อยทิ้งไว้ในสภาพที่เป็นไปเหมือนเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3
จากเป้าหมายในการสร้างโลหะปราสาทอันยิ่งใหญ่ เพื่อเจริญรอยตาม พระเจ้าทุฏฐคามินี ตามเนื้อความในคัมภีร์มหาวงษ์ เพียงเวลาชั่วข้ามคืน โครงการทั้งหมดได้ถูกทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง
ควรกล่าวไว้ก่อนว่า มีวัดเป็นจำนวนมากที่สร้างค้างคาจากสมัยรัชกาลที่ 3 และถูกสร้างต่อจนแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4
พระปรางค์ใหญ่ที่วัดสระเกศ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างต่อจนแล้วเสร็จ แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปทั้งหมดก็ตาม
ดังนั้น การปล่อยทิ้งโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม จึงไม่ใช่กรณีทั่วไป แต่ต้องเกิดขึ้นจากเหตุผลพิเศษบางประการ
แต่เหตุผลคืออะไรนั้น จะขอยกไปกล่าวถึงในสัปดาห์หน้าแทนนะครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022