ก่อนมีสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เคยมี “บ้านศาลาแดง” ประวัติศาสตร์สถาน ร.9

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง ยังวนเวียนอยู่แถวศาลาแดง หลังจากมีข้อเสนอไปว่า สถานีรถไฟใต้ดินสีลม ควรจะใช้ชื่อ สถานีศาลาแดง มากกว่า เพราะนอกจากจะตั้งอยู่เยื้องกับสถานีรถไฟสายปากน้ำ ที่ชื่อศาลาแดงแล้ว ที่ตั้งสถานียังอยู่ใต้บ้านศาลาแดง ที่มีชื่อเสียงมาแต่ครั้งอดีต

ในแผนที่ประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ จ.ศ.1249 (พ.ศ.2430) ตามแนวถนนเลียบคลองตรง (ถนนพระรามที่สี่) จะมีสะพานข้ามคลองเข้าสู่ถนนสีลม ตรงหัวมุมดังกล่าวระบุว่าเป็นบ้านศาลาแดงของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชู-โต)

ซึ่งตรงกับเอกสารประวัติศาสตร์ ระบุว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้บังคับการทหารหน้า ได้รับพระราชทานบ้านศาลาแดง ที่เคยเป็นของกัปตันวอแรล บนที่ดินขนาด 23 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2430 ซึ่งต่อมาได้พระราชทานเงินอีก 100 ชั่ง ให้ซื้อที่ดินติดกับบ้าน เพิ่มขึ้นจนเป็น 150 ไร่

เสียดายว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พำนักอาศัยอยู่ที่บ้านศาลาแดงได้ไม่ถึง 10 ปี เกิดมีปัญหากับกรมพระคลังข้างที่ จากหนี้ที่ยืมไปลงทุนทำป่าไม้ กับบริษัทกิมเซ่งหลี ที่ชลบุรี แต่เมื่อต้องไปราชการทัพปราบเงี้ยวอยู่นานหลายปี กิจการเลยขาดทุน เลยต้องขายที่ดินบ้านศาลาแดงบางส่วน และที่ดินแถวรังสิตอีกกว่าพันไร่ใช้หนี้ ส่งคืนบ้านศาลาแดง และย้ายไปอยู่บ้านที่ถนนประมวญ ในเวลาต่อมา

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล

บ้านศาลาแดง ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล

ในแผนที่ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 ระบุว่าบ้านของเจ้าพระยายมราช มีเรือนหลายหลัง สนาม และบ่อน้ำ ด้านหลังบ้าน มีถนนศาลาแดง เชื่อมจากถนนสีลมไปถนนสาทร ฝั่งตรงข้ามบ้าน เป็นโรงพักกองตระเวรศาลาแดง ทางรถไฟสมุทรปราการ (ปากน้ำ) คลองหัวลำโพง (คลองตรง) สะพานสีลม รวมทั้งสถานีรถไฟศาลาแดง ที่อยู่หน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

จะเห็นได้ว่า ในเวลานั้น ย่านศาลาแดงเปลี่ยนสภาพไป จากที่รกร้างเป็นชุมชน มีทั้งคนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และมีผู้สัญจรผ่านมากขึ้น

บ้านศาลาแดง

เมื่อเจ้าพระยายายมราชเข้าพำนักในบ้านศาลาแดง ได้ดูแลรักษาบ้านและพื้นที่ให้สวยงาม แม้ในตอนแรกนั้น จะมีผู้อยู่อาศัยจำนวนไม่มาก แต่ในเวลาต่อมานั้น กลับเพิ่มจำนวนมากกว่าร้อยคน ด้วยข้าราชการและญาติมิตรจะส่งลูกหลานมาขออาศัยเมื่อเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ หรือมาให้เจ้าพระยายมราชฝึกหัดใช้สอยก่อนเข้ารับราชการ

งานเลี้ยงฉลองอภิเษกสมรสที่บ้านศาลาแดง ระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่เก้า กับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ที่ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ตึกหลังใหญ่ที่สวยงามนั้น ยังกลายเป็นประวัติศาสตรสถาน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่เก้า ได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ที่ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2463 นั้น นอกจากมีพระราชพิธีที่วังสระปทุมแล้ว ยังมีงานเลี้ยงที่เจ้าพระยายมราช ได้รับพระราชานุญาตจัดถวายที่บ้านศาลาแดง

เจ้าพระยายมราช อาศัยอยู่ในบ้านศาลาแดงนี้จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ.2481 ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มองบ้านมองเมือง มองบ้านศาลาแดง ในช่วงเวลายาวนานกว่าห้าสิบปี ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนไปอีกครั้ง ในฉบับหน้า •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส