“ขุนแผน”ติดคุกกว่า10ปี เพราะผู้คุมเห็นแก่เงิน ไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้

ญาดา อารัมภีร
คนพวงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ แห่งความหลัง) : ในสมัยโบราณนักโทษที่ทางการจ่ายออกมาทำงานนอกคุกจะถูกใส่พวงคอหรือร้อยด้วยโซ่ติดกันเป็นพวงๆ เพื่อสะดวกในการคุม ชาวบ้านเรียกนักโทษดังกล่าวว่า “คนพวง” คือเรียกตามลักษณะคนที่ถูกจองจำดังกล่าว

เงินเป็นตัวช่วยชั้นดี ขาดไม่ได้แม้ติดคุกหรือพ้นคุก เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงคนโทษถูกจองจำ ถ้ามีเงินก็บรรเทาทุกข์ได้

เมื่อขุนแผนซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทูลขอให้สมเด็จพระพันวษาปล่อยนางลาวทองจากการถูกกักบริเวณ ทรงขุ่นเคืองยิ่งนัก สั่งจำคุกขุนแผน จำครบ 5 ประการ

“เฮ้ยเอาตัวมันไปส่งไว้คุก ประทุกห้าประการหมดอย่าลดได้

เชื่อมหัวตะปูซ้ำให้หนำใจ สั่งเสร็จเสด็จในที่ไสยา”

ขุนแผนถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนขื่อคาครบ คำสั่งของสมเด็จพระพันวษาที่ว่า ‘ประทุกห้าประการหมดอย่าลดได้’ ทำให้ขุนแผนมิอาจใช้เงินแลกกับการผ่อนผันไม่ต้องถูกจองจำเต็มที่

 

กาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองไต้ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ค่าลดเครื่องจองจำ’ ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ขุนแผนถูกตีตรวนเชื่อมหัวตะปูทั้งสองตีน ตรวนที่ใส่คนโทษนั้น ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ใส่เหล็กตะปูยึดเพื่อไม่ให้ง้างออกได้ ตอนใส่ตรวนคนโทษจะต้องเหยียดขาออกให้พะทำมะรงเอาตะปูใส่แล้วเอาค้อนตีตะปูให้แน่น เวลาตีตะปูจึงมักจะมีการติดสินบนพะทำมะรง ไม่ให้ตีกวดขันมั่นคงนัก เรียกว่า ‘เสียค่าลดหัวตะปู’ คนโทษคนใดมีเงินเสีย ‘ค่าลดหัวตะปู’ ก็สบายใจไม่ต้องระวังตอนตีตะปู แต่ถ้าคนใดไม่มีเงินเสียค่าลดหัวตะปู พะทำมะรงก็มักจะเหวี่ยงค้อนผิดไปโดนเอาตาตุ่มเข้าเสมอทั้งๆ ที่มือแม่น คนโทษฉกรรจ์ชนิดที่จะต้องใส่ตรวนไม่ถอด ก็เชื่อมหัวตะปูติดเลย”

ขุนแผนถูกเชื่อมหัวตะปู หมายความว่าต้องติดตรวนไปจนตาย ดังที่เจ้าตัวรำพึงว่า

“โอ้แต่นี้นับวันจะทนทุกข์

จะต้องจำซ้ำเชื่อมหัวตะปู จะรู้ฤๅว่าเมื่อไรจะได้สุข

จะดับชีวิตจิตใจอยู่ในคุก ฤๅจะทุกข์ไปจนได้พ้นภัย”

เครื่องจองจำทำร้ายทั้งกายและใจ

“ขุนแผนแสนโศกวิโยคใจ เขาร้อยไว้ตัวติดทั้งขื่อคา

โซ่ตรวนถ้วนครบห้าประการ ทรมานมึนเมื่อยเป็นหนักหนา

จะพลิกตัวตึงทั่วทั้งกายา ยิ่งนานยิ่งระอาระอิดใจ”

ขุนแผนรู้ซึ้งถึงหัวอกคนติดคุกถึงกับรำพันว่า

“โอ้ว่าคนโทษทั้งปวงเอ๋ย กระไรเลยทนทานตั้งปีได้”

 

ช่วงเวลาที่ติดคุก คำว่า ‘นาน’ ยังน้อยไป คนโทษเช่น ‘อ้ายจัน’ ที่ก่อคดีปล้นฆ่าขุนศรีวิไชย (พ่อขุนช้าง ตั้งแต่ขุนช้างและขุนแผนยังเด็ก อายุไม่กี่ขวบ) ติดคุกนานเสียจนเจอขุนแผนติดคุกเดียวกัน อ้ายจันเป็นหนึ่งในคนโทษ 35 คนที่ขุนแผนทูลขอสมเด็จพระพันวษาไปช่วยทำศึกเชียงใหม่

“ถัดนั้นอ้ายจันสามพันตึง เมียชื่ออีอึ่งบ้านเหมืองใหม่

พวกปล้นขุนศรีวิไชย เอาไม้เสียบก้นแกจนตาย”

ตัวขุนแผนเองติดคุกนานถึง 15 ปี ได้พ้นโทษพ้นคุกเพราะพลายงามทูลขอสมเด็จพระพันวษาพระราชทานอภัยโทษให้พ่อช่วยทำศึกกับเชียงใหม่

พระองค์ถึงกับหลุดพระโอษฐ์ว่า

“อนิจจาอ้ายขุนแผนแสนอาภัพ ตกอับเสียคนแทบป่นปี้

ติดคุกทุกข์ยากมาหลายปี กูนี้ก็ชั่วมัวลืมไป

ให้บังอกบังใจกระไรหนอ อ้ายพลายงามมาขอจึงนึกได้

ครั้งขออีลาวทองกูหมองใจ จำไว้ช้านานถึงปานนี้”

 

กําหนดเวลาจำคุกสมัยโบราณนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่”

“ซึ่งต้องจองจำอยู่ในคุก และการติดคุก ในขณะนั้นก็ไม่มีกำหนด เพราะเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก คำพิพากษามิได้บอกว่าให้จำคุกกี่ปี เพียงแต่บอกว่าให้เอาตัวไปจำคุก ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องถูกจำคุกจนลืม จะออกจากคุกได้ ก็ต่อเมื่อมีญาติพี่น้อง ไปวิ่งเต้นกับผู้มีบุญมีอำนาจให้สั่งปล่อยจากคุก หรือมิฉะนั้น ถ้าต้องโทษด้วยพระกระแสรับสั่งอย่างขุนแผน ก็จะต้องมีคนเข้าไปกราบบังคมทูลให้ปล่อยขุนแผนออกจากคุก”

อาจารย์ศุภร บุนนาค ให้รายละเอียดใกล้เคียงกันไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“การจองจำสมัยนั้นยังใช้วิธี ‘ติดตาย’ กันอยู่ คือไม่มีกฎหมายกำหนดโทษเป็นระเบียบกันไป ใช้วิธีติดนานจนควรจะได้รับพระมหากรุณาเป็นรายๆ ไป พวกญาติพี่น้องต้องคอยกราบทูลถวายฎีกา บางทีก็ถวายเวลาเสด็จออกหัวเมืองหรือตามแต่จะมีโอกาสที่ไหน เมื่อทรงได้รับฎีกาแล้วก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยเป็นรายๆ ไป ที่ติดมานานสมควรแก่โทษก็มักโปรดพระราชทานให้ หรือได้ทำความชอบพอไถ่โทษก็มักโปรดพระราชทานให้ แต่บางรายที่ทรงเห็นว่าปล่อยออกมาเป็นอันตรายแก่คนหมู่มากจึงจะไม่ทรงปล่อย”

 

น่าสังเกตว่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับอิสรภาพของคนโทษ สมเด็จพระพันวษาทรงตำหนิขุนนางทั้งหลายเห็นแก่เงินมากกว่าจะช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ขุนแผนที่ติดคุกมากว่าสิบปี

“ดูดู๋ขุนนางทั้งน้อยใหญ่ พากันนิ่งเสียได้ไม่พอที่

ทาระกำมันมาสิบห้าปี ช่างไม่มีผู้ใดใครชอบพอ

เหตุด้วยอ้ายนี่ไม่มีทรัพย์ เนื้อความมันจึงลับไปเจียวหนอ

ถ้ามั่งมีไม่จนคนก็ปรอ มึงขอกูขอไม่เว้นวัน”

ตกที่นั่งคนโทษ ตกนรกทั้งเป็น •