ล้านนา-คำเมือง : สะหลากย้อม

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สะหลากย้อม”

“สลากย้อม” เป็นประเพณีนิยมของชาวไทยยองในแถบจังหวัดลำพูน อันเป็นที่มาของการ “ทานสลากย้อม” ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า เป็นการถวายอาหารหรือสิ่งของแก่พระสงฆ์โดยวิธีการจับสลาก

โดยจุดเด่นอยู่ที่ มีการประดับประดาต้นสลากให้สวยงามมีนัยยะคือ หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุขของชีวิต

แต่เดิมค่านิยมของทานสลากย้อม จะจัดทำโดยหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ที่มีอายุ 20 ปีเต็ม ซึ่งหาโอกาสทำบุญใหญ่เพียงครั้งเดียวในชีวิต มีจตุปัจจัยในการเตรียมงานมาก

ผู้ที่จะทำได้ต้องมีความมุมานะอย่างสูง โดยเชื่อว่าอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าว เทียบได้กับความยิ่งใหญ่ของบุรุษที่มีอายุครบ 20 ปีที่ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์

ต้นสลากดังกล่าวจึงประกอบด้วยเสาหลัก ซึ่งตั้งขึ้นจากไม้ไผ่ขนาดสูงราว 4-5 เมตร มีลำต้นตรง พอกพันด้วยหญ้าคาหรือฟางข้าว เพื่อสำหรับเป็นที่ปักของไม้เรียว เหลามาจากไม้ไผ่

ส่วนโคนให้มีความแหลม ส่วนปลายอีกด้านจะขูดเป็นเส้นฝอยคล้ายดอกไม้ นำไปย้อมสีให้สวยงาม

ไม้เรียวนี้ใช้เป็นที่แขวนเครื่องไทยทานอันประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องสำอาง อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ บางครั้งจะมีไปถึงเครื่องอำนวยความสะดวกตามยุคสมัย เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรืออาจมีเครื่องประกอบอื่นๆ ในการประกอบอาชีพ เช่น ยอ สวิง ไซ ข้องใส่ปลา สุ่มไก่ เป็นต้น

ส่วนยอดบนสุดของต้นสลากนิยมปักร่มอย่างสวยงาม และชายร่มโดยรอบจะห้อยแขวนของมีค่าจำพวกเครื่องประดับ เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง

หากตีความในเชิงสัญลักษณ์ ร่มก็จะหมายถึงความร่มเย็นเป็นสุข เครื่องประดับคือความมั่งคั่ง มั่งมี

ส่วนของบริวารต่างๆ ที่ลดหลั่นลงมา ก็หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และก็ยังสามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กุศลผลบุญไปยังญาติมิตร สรรพสัตว์ ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรตามความเชื่อด้วย

ส่วนประกอบที่นิยมอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนบทกวี เพื่อพรรณนาพุ่มไทยทาน ซึ่งชาวไทยยองจะเรียกว่ากะโลง หรือ กั่นโลง (โคลง ในภาษาไทย) โดยมีเนื้อหากล่าวถึงประวัติและความดีงามของเจ้าภาพ ตลอดจนรายละเอียดและความสวยงามของต้นสลากหรือพุ่มไทยทานนั้น

เมื่อทำพิธีถวายต้นสลากแด่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว จะมีการขอ “บูชาคืน” เป็นการขอไถ่ถอนเครื่องไทยทานส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ของใช้ของพระสงฆ์คืนมา เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการตั้งต้นชีวิตครอบครัวให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

ในปัจจุบันความหมายของการทานสลากย้อมดังกล่าวได้เลือนหายไป เนื่องจากหญิงสาวยุคใหม่ที่เติบโตอยู่ในสังคมปัจจุบัน ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นการเล่าเรียนหนังสือ แทนการทำงานเก็บหอมรอมริบเพื่อการนี้

การดำรงไว้ซึ่งประเพณีจึงมีการปรับเปลี่ยน โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นได้รณรงค์ขอความร่วมมือจากชุมชน วัด หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เพื่อจัด “ต้นสลากย้อม” เข้าร่วมงาน จูงใจด้วยการประกวดประขันความสวยงาม

เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ การเรียนรู้ และการสานต่อภูมิปัญญาโบราณอันดีงาม ให้ดำรงคงอยู่สืบต่อไป