เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร : คลั่งรักฉบับผู้ดี

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร

: คลั่งรักฉบับผู้ดี

 

ระยะนี้ “ไทย-เขมร” หันไปทางไหนก็มีแต่ดราม่าเต็มหน้าฟีดโซเชียล โดยเฉพาะประเด็นกุนแขมร์ แต่ก็ไม่นึกเลยว่า จะไหลไปไกลถึงวงการทูตกับเขาด้วย มี ฯพณฯ โดมินิก วิลเลียมส์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นแขกรับเชิญที่ว่า

ปกติฉันน่ะพอจะเขียนเรื่องนักการทูตฝรั่งเมืองเขมรอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นแต่เรื่องการเมืองระหว่างกัมพูชากับสหรัฐอเมริกา

ครั้งล่าสุดคือ มร.ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี่ เอกอัครราชทูตสหรัฐ กับท่านทูตหญิงอีวา เหงียน บินห์ แห่งเมืองน้ำหอมผู้โดดเด่นด้านวัฒนธรรมและการสื่อสาร แต่ต่างถูกการเมืองเขมรเล่นงาน

ท่านอีวา บินห์ นั้นความที่เธอเป็นลูกครึ่งเวียดนาม-กัมพูชาใต้จึงถูกชาวกัมปูเจียกรอมคัดค้านด้านความเหมาะสม

ส่วนท่านทูตเมอร์ฟี่นั้น ก็เจอพิษเรียม-กองทัพเรือเขมรปัจจุบันถูกทีมกองทัพจีนเข้าประจำการปรับปรุงตึกอาคารเดิมที่สหรัฐเคยสร้างไว้ และกลายเป็นเรื่องที่ไปต่อกับผู้นำกัมพูชาไม่ค่อยได้

เกิดเป็นนักการทูตยุคใหม่จึงแสนยาก กล่าวคือ นอกจากจะต้องโดดเด่นด้วยคุณสมบัตินานา ยังต้องพิเศษมากๆ โดยเฉพาะหากประจำที่กัมพูชา

มร.โดมินิก วิลเลียมส์ นั้น โดดเด่นมาตั้งแต่รับตำแหน่ง เขาเป็นเอกอัครราชทูตตะวันตกคนแรกๆ กระมังที่กล้าพูดภาษาเขมรแบบ Uncut ออกกับสื่อ ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมปกติทั่วไปของนักการทูตที่ควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีให้สัมภาษณ์

แต่ความคลั่งรักในภาษาเขมรของทูตอังกฤษท่านนี้ดูจะไม่พอกระมัง ทูตโดมินิกยังขาดตัวกรองอีกหลายชั้นในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เห็นได้ชัดว่า บางที วงการทูตตะวันตกคงจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างถาวรแล้วกระมัง?

ดังนี้ เมื่อออกทีวีกับสื่อรัฐเช่นนั้น โดมินิก วิลเลียมส์ จึงถูกถามถึงเคล็ดลับการเรียนภาษา เล่าว่า เขาเรียนภาษาเขมรจากครูของกระทรวงต่างประเทศ แต่ก็เรียนเองจากสื่อเขมรทุกวัน โดยเฉพาะวอยส์ออฟอเมริกา (วีโอเอ) และจากผู้คนทั่วไปตามท้องถนนที่ตนพบปะ

ในทุกอากัปกิริยาระหว่างการสัมภาษณ์ ท่านทูตโดมินิกดูจะปลื้มปลิ่มไปทุกอาการ สีหน้า ท่าทาง การถ่ายภาพ ตลอดจนภาพคู่ที่บ่งบอกถึงภาษากายอันอบอุ่นเปิดกว้างต่อนายกรัฐมนตรีฮุน เซน อันไม่ค่อยจะพบเห็นบ่อยนักในหมู่นักการทูตตะวันตก ซึ่งผู้นำกัมพูชาเองก็ดูจะไม่ยี่หระกับประเด็นนี้

 

ฉันจึงนิยามว่า นี่อาจเป็นกระแสใหม่ในโลกการทูตยุคศตวรรษ 21 ที่เราเริ่มจะคุ้นเคยมาระยะหนึ่งในไทย

เรามีเอกอัครราชทูตอังกฤษที่สมรสกับ LGBTQ สร้างครอบครัวน้อยๆ อย่างอบอุ่นที่ทำเนียบกรุงเทพฯ

ส่วนฮานอย สมัย อีวา เหงียน บินห์ ในฐานะภริยาเอกอัครราชทูต (ตามตำแหน่งสามีของเธอ) คุณหญิงอีวาก็สร้างปมเด่นวัฒนธรรมและการศึกษาสมัยใหม่ที่ประทับใจหนุ่มสาวชาวเวียด

แต่พนมเปญนั้นต่าง เพราะหลังจากว่างเว้นการทูตกับตะวันตกที่อบอุ่นมานานตั้งแต่ยุค ’70 ก็มีแต่ท่านทูตอังกฤษนี่แหละ ที่กลับมาเติมเต็ม!

ทว่า เมื่อการทูตยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว โดมินิก วิลเลียมส์ ซึ่งแน่ล่ะย่อมใช้สื่อโซเชียลอย่างปกตินั้น ในโพสต์หนึ่งระหว่างอยู่หน้าปราสาทนครวัดจำลอง ณ บรมราชนิเวศสถานของกรุงเทพฯ “อยู่เมืองไทย แต่คิดถึงกัมพูชา อย่างน้อยก็ได้เห็นนครวัดที่พระราชวังไทย”

และอีกโพสต์ ภาพขนมไทยที่ทูตโดมินิกระบุว่า “ขนมเขมร” เท่านั้นแหละก็ร้อนฉ่าทั้งโซเชียล โดยเฉพาะโพสต์ที่ตามมา เมื่อทูตอังกฤษโพสต์ว่า

“ผมขอยืนยันโพสต์เฟซบุ๊กครั้งล่าสุดว่า เป็นสัญลักษณ์ต่อความรักของผมที่มีต่อกัมพูชา แต่สำหรับประเทศไทย คนไทยก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน สงบงามและให้ความเคารพซึ่งกัน”

พลัน! กำเดาท่วมบ่าไหลไปทุกหย่อมหญ้าออนไลน์ เมื่อพาเหรดชาวเน็ตไทยต่างกรูกันเข้าไปอบรมทูตฝาหรั่งว่าด้วยที่มาขนมไทย ตลอดจนกรณีการสร้างปราสาทจำลองนครวัดที่มีขึ้นในสมัยสยามสมัยที่ไทยยังปกครองกัมพูชา อาทิ

“ท่านเป็นถึงตัวแทนประเทศที่มักยกตัวเองว่ามีความศิวิไลซ์ แต่การกระทำต่ำตมไร้ความคิดสติปัญญา ในการเอาเรื่องละเอียดอ่อนมาปั่นเล่น หรือท่านคิดจริงๆ ก็ไม่ทราบ? ด้วยความเคารพจากประชาชนคนไทยที่มองว่า มันไม่เหมาะสม!

“แบบเดียวกับสำนวนสุภาษิตไอร์แลนด์ที่พูดไว้ไม่มีผิดที่ว่า หากตื่นขึ้นแล้วต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน แสดงว่าเมื่อคืนบ้านนั้นมีทูตชาวอังกฤษไปนอนอยู่!”

 

ย้อนไป 2 เดือนก่อน ความคลั่งรักต่อเขมรของทูตอังกฤษท่านนี้ที่ฉันสัมผัสได้ คือการที่เขามักสื่อสารทางโซเชียลด้วยภาษาเขมรซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คนระดับเอกอัครราชทูตส่วนใหญ่จะกล้าทำ!

มร.วิลเลียมส์ยังตอบคำถามสื่อเขมรอย่างเชื่อมั่นในทักษะภาษาเขมรของตนว่า “ช่วยให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมต่อชาวเขมรอย่างลึกซึ้ง” และนี่คือกุญแจแห่งวิสัยที่จะนำไปสู่ “ความสัมพันธ์กัมพูชา-สหราชอาณาจักร” ในด้านความร่วมมืออื่นๆ อาทิ การที่อังกฤษเพิ่งจะจัดส่งคืนวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งคืนกัมพูชา

“ผมคิดว่า ประเทศทั้งสองจะร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจพาณิชยกรรมการค้าและอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขยายตัวในภูมิภาค เรามาทำงานที่นี่ เพื่อผลักดันกัมพูชาได้อภิวัฒน์พัฒนา”

“ส่วนหัวข้อด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ผมขอขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่ช่วยโปรโมตสหราชอาณาจักรเสมือนเป็นภาคีกลุ่มประเทศอาเซียน (อาเซียนซัมมิต/2022) และผมคิดว่าประชาชนเขมรและอังกฤษ ต่างมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน”

ถาม : ท่านทูตคิดว่า กัมพูชา-อังกฤษจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ระดับไหนในอนาคต?

ทูตโดมินิก วิลเลียมส์ : “ผมเชื่อว่ากัมพูชาน่าจะหลุดออกจากประเทศที่ติดกับดักด้านการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติได้ในอีกไม่ช้า และวิธีนี้ สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือวิสัยด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาจะต้องแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ โดยการยกระดับคุณภาพตัวเองให้สำเร็จ”

ส่วนคำถามด้านความช่วยเหลือใกล้ชิดจากอังกฤษต่อกัมพูชานั้น

“ผมคิดว่า สหราชอาณาจักร (ที่ทูตโดมินิกใช้คำว่า-จักรภพอังกฤษ) คือความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเอกชนของอังกฤษที่สหการกับรัฐบาล ด้วยการยกระดับศักยภาพประชาชนและพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วยกัน”

ถาม : แล้วท่านเห็นอะไรที่กัมพูชากำลังเผชิญหน้าอะไรบ้าง?

“ผมคิดว่า การศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมาก ผมอยู่ที่นี่ได้พบกับชาวเขมรจำนวนมาก พวกเขาฉลาด มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มด้านเทคนิค/ปัจเจกเทศ หากกัมพูชาเพิ่มเติมต่อยอดเรื่องนี้ได้ ตัวอย่างปัจจุบันกัมพูชามีผักผลไม้ดีๆ ผมเชื่อว่าผักผลไม้กัมพูชาดีที่สุดในโลก! แต่กัมพูชาต้องยกระดับในการแปรรูปสินค้าด้วยระบบเครื่องจักรโรงงานเพื่อสร้างมูลค่าผลผลิตไปสู่ระดับโลก”

ถาม : แล้วเราควรผลักดันด้านไหนในวิสัยเศรษฐกิจ?

“ผมคิดว่า อังกฤษมีประสบการณ์ (ที่จะแบ่งปัน) เรามีบริษัทใหญ่ๆ มีสถาบันการเงินการลงทุนในหลายประเทศ กัมพูชายังขาดการพัฒนาในวิสัยด้านนี้ ถ้ากัมพูชาสามารถยกระดับตัวเองด้านการส่งออก เช่น ผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพไปสู่ยุโรป-สหรัฐ รวมทั้งขยายอุตสาหกรรมโรงจักรอื่นๆ ก็จะช่วยการพัฒนา

“อย่างที่กล่าว สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของเราอาจช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาให้เยาวชนกัมพูชาไปศึกษาต่อที่นั่น และกัมพูชาเองก็มีโรงเรียนเอกชนของอังกฤษจำนวนมาก สุดท้ายคือ เราสนับสนุนการศึกษาภาคประชาชน โดยเน้นเด็กๆ และสตรี”

คำถามสุดท้าย : นอกจากหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษแล้ว “เป้าหมายอื่น” ของท่านที่เกี่ยวกับกัมพูชาของท่านคืออะไร? (ทไม-ทไมทีวี/ธันวาคม 2565)

ทูตโดมินิก วิลเลียมส์ กล่าวอย่างชัดเจนเต็มหัวใจ ถึงสาระสำคัญต่อชาวกัมพูชา “หนึ่ง ผมอยากส่งเสริมด้านพาณิชยกรรมการค้าและเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ, สอง ผมต้องการสื่อถึงชาวกัมพูชา โดยเฉพาะเด็ก-สตรี กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ชนกลุ่มน้อย-ชนผู้พิการ และสุดท้าย ผมอยากเห็นอังกฤษและกัมพูชามีความสัมพันธ์ยั่งยืนต่อกัน”

“แต่สุดท้ายกว่านั้น ผมอยากให้ประชาชนกัมพูชาจดจำตลอดไปว่า ผมเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษที่รักชาวกัมพูชา!”

ยังไม่ทันจะหมดวาระ ทูตโดมินิก วิลเลียมส์ ก็ได้รับความรักจากชาวเขมรท่วมท้น แถมด้วยบทเรียนนักการทูตฉบับผู้ดีอังกฤษที่เขียนโดยคนไทย

งานนี้ คงเข็ดหลาบขนมไทยไปอีกนาน…