อนุสรณ์ ติปยานนท์ : My Chefs (การพบกันที่ลอนดอนของ2ชายหนุ่มที่เกิดปีเดียวกัน)

My Chefs (9)

เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ชายหนุ่มสองคนที่เกิดปีเดียวกัน ในดินแดนเดียวกันที่ถูกแบ่งเป็นครึ่งด้วยความเชื่อที่แตกต่างกันพบกันที่ลอนดอน

คนหนึ่งทำงานเป็นเชฟร้านอาหารอยู่แล้ว

แต่อีกคนกำลังหางานทำอย่างขะมักเขม้น

พวกเขาพบกันที่ร้านขายวัตถุดิบในการทำอาหาร พูดคุยกัน เป็นมิตรกัน

คนหนึ่งเป็นชาวอาหรับจากทางฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม

คนหนึ่งเป็นชาวยิวจากฝั่งตะวันตกของเยรูซาเลม

สองปีให้หลังจากการพบกันครั้งนั้น ทั้งคู่เปิดร้านอาหารร่วมกันในลอนดอนเพื่อแนะนำอาหารจากเยรูซาเลมและตะวันออกกลาง

ชายชาวยิวมีชื่อว่า โยตัม ออตโตเลงกิ-Yotam Ottolenghi

ส่วนชายชาวอาหรับนั้นมีชื่อว่า ซามิ ทามิมิ-Sami Tamimi

ร้านอาหารของเขาชื่อว่า Ottolenghi มันตั้งอยู่แถบน็อตติ้งฮิลล์

และมันประสบความสำเร็จตั้งแต่นั้นมา

ผมชอบเรื่องราวการก่อกำเนิดของร้าน Ottolenghi มาก

หนังสือตำราอาหารของพวกเขาที่ชื่อ Ottolenghi เป็นตำราอาหารที่ขายดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ในช่วงแรกที่จัดพิมพ์ยอดขายของมันทะลุหนึ่งแสนเล่มอย่างรวดเร็วและทำให้มีตำราอาหารเล่มอื่นตามมาอีก

อาหารจากตะวันออกกลางที่พวกเขานำเสนอ เช่น มะเขือม่วงย่างราดด้วยโยเกิร์ต-Roasted Eggplant with Yogurt กลายเป็นเมนูยอดนิยมประจำครัวเรือนในเวลาอันรวดเร็ว

มีคำถามจากคอลัมนิสต์ด้านอาหารบางคนที่ถามพวกเขาว่า “พวกคุณทำงานร่วมกันได้อย่างไร ในขณะที่โลกข้างนอกนั้น ชาวยิวและชาวอาหรับมีความขัดแย้งกันอย่างสูง โดยเฉพาะในดินแดนเยรูซาเลมที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ครอบครอง”

โยตัม ออตโตเลงกิ ตอบคำถามนี่ได้น่าสนใจอย่างยิ่ง

เขากล่าวว่า “ความขัดแย้งใดๆ นั้นล้วนเป็นสภาวะบางอย่างของความคิด และเมื่อใดก็ตามคุณไม่พลัดตกลงไปในกับดักความคิดแบบนั้น มันย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้น”

ในขณะที่ ซามิ ทามิมิ กล่าวว่า

“พวกเราไม่เคยคุยเรื่องการเมืองกันเลยในร้านอาหาร ในงานที่พวกเราทำนั้น พวกเรามุ่งมั่นอยู่แต่เพียงเรื่องเดียวคือเรื่องของอาหาร พวกเรามีความสุขที่อาหารของเรา ตำราอาหารของเรานำพาผู้คนมาอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวยิว หรือชาวอาหรับก็ตามที”

อาหารอาจเป็นเพียงไม่กี่สิ่งในโลกที่ทำให้มนุษย์มีสันติ

การทานอาหารร่วมกันคือความเชื่อใจอย่างสูง

ในยามสงครามที่การวางยาพิษ การลอบสังหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อนั่งลงทานอาหารร่วมกันแล้ว อาวุธเป็นสิ่งที่ต้องวางลงก่อนอื่น

ความโกรธเกรี้ยวเป็นสิ่งที่ต้องวางตามลงมา (หาไม่แล้วมีดที่ใช้ทานอาหารอาจปักอยู่ที่อกของอีกฝ่ายได้ง่ายๆ)

หลังจากนั้นความเอื้อเฟื้อจะบังเกิดขึ้น เราเอร็ดอร่อยกับรสชาติ พูดคุยถึงมัน และหลังจากนั้นเราจะเป็นมิตรกัน

ไม่แตกต่างหรอกว่าคุณมีวิธีปรุงอาหารเช่นไร บางชนชาติอาจปอกมันฝรั่งเข้าหาตัว

บางชนชาติอาจปอกมันฝรั่งออกจากตัว

บางชนชาติอาจใช้ครกด้วยการตำ (เช่น ในสังคมไทย) และในบางชนชาติอาจใช้ครกด้วยการบด (ไม่ต่างจากการบดยา เช่น ในสังคมอินโดนีเซีย)

บางชนชาติอาจเสี่ยงตายด้วยอาหาร (เช่น การทานปลาปักเป้าหรือฟูกุในสังคมญี่ปุ่น) และบางชนชาติอาจอยู่ได้ด้วยความพิสดารของความเชื่อในอาหาร (เช่น การทานสมองลิงหรืออุ้งตีนหมีในสังคมจีน)

อาหารเป็นความหลากหลาย

อาหารเป็นสิ่งที่เราต้องนำเข้าตัว เราทุกคนมีรสนิยม มีความเชื่อต่ออาหารที่แตกต่างกันไป

แต่เราทุกคนล้วนต้องกินอาหาร ต้องรับอาหารเข้าสู่ร่างกาย

และการแลกเปลี่ยนเรื่องอาหารที่ว่านั้นเองที่บ่งบอกว่าแม้เราจะเป็นมนุษย์ที่แตกต่างเรายังมีความคล้ายคลึงกัน

ในวัยเด็ก โรงเรียนที่ผมเรียนนั้นบังคับให้ทุกคนต้องทานอาหารร่วมกัน

สำหรับนักเรียนที่จ่ายค่าอาหารประจำภาคการศึกษา เราจะถูกบังคับให้นั่งอยู่ฝั่งหนึ่งของโรงอาหารและรอรับอาหารที่ทยอยลำเลียงมาจากโรงครัว

ในขณะที่นักเรียนที่ไม่ได้จ่ายค่าอาหารเช่นนั้น พวกเขาจะนั่งล้อมวงที่อีกฝั่งหนึ่ง เปิดปิ่นโตหรือกล่องข้าวอะลูมิเนียมขึ้น (อันเป็นภาชนะใส่อาหารที่แทบจะกลายเป็นสิ่งของจากอดีตไปเสียแล้วในยามนี้)

ผมเป็นนักเรียนที่สังกัดอยู่ในฝ่ายแรกและนึกอิจฉาเพื่อนร่วมห้องที่มีปิ่นโตหรือกล่องข้าวส่วนตัวมา

อาหารของทางโรงเรียนแม้จะแลดูหน้าตาดี มีการปรุงที่เรารู้สึกได้ถึงสุขอนามัย แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ

แน่นอนการต้องปรุงอาหารจำนวนมากให้นักเรียนในโรงเรียนทำให้แม่ครัวล้วนคร้านที่จะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป

เป็นที่รู้กันว่าในหนึ่งอาทิตย์เราจะพบยำผักสลัดที่ราดน้ำสลัดมาจนชุ่ม

ในหนึ่งอาทิตย์เราจะพบกับแกงเขียวหวาน

ในหนึ่งอาทิตย์เราจะพบกับหมูทอดกระเทียมพริกไทย

และในหนึ่งอาทิตย์เราจะได้พบกับปลาทอด ผลไม้นั้นแม้จะหลากหลายแต่ก็วนเวียนอยู่กับกล้วยหอม มะละกอและแตงโม

การได้พบกับอาหารที่ผิดแผกแทบไม่เคยเกิดขึ้นและมันจะดำเนินไปเช่นนั้น วนเวียนไปจนหมดภาคการศึกษา

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงรู้สึกอิจฉาเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ว่านี้ แม้ว่าหน้าตาอาหารของพวกเขาจะไม่แลดูดีงามหรือมีสกุลเช่นอาหารของเรา

แต่อาหารของพวกเขามีความหลากหลายและชวนกินกว่าอาหารของผมมากนัก

เพื่อนบางคนเปิดปิ่นโตของเขาขึ้นพร้อมกับกลิ่นหอมของใบแมงลักจากแกงเลียง

บางคนใช้ส้อมตักผักบุ้งจากแกงหมูเทโพของเขาอย่างมีรสชาติ

บางคนแม้อาจจะมีเพียงไข่ต้มเพียงสองฟอง แต่น้ำปลาที่มีหอมแดงซอยเจืออยู่ก็ชวนกินอย่างยิ่ง

หลายครั้งที่ผมจะแกล้งลุกออกจากโต๊ะอาหารด้วยข้ออ้างที่จะไปสู่ห้องน้ำและใช้เวลาที่เดินผ่านเพื่อนเหล่านั้นแอบมองอาหารของพวกเขา

ต้มยำปลากระป๋อง ไข่เจียวใส่ใบพริก น้ำพริกตาแดง ผมจะแอบมองอาหารเหล่านั้นด้วยความกระหายและกลืนน้ำลายของตนเองไว้ก่อนจะกลับมานั่งยังที่เดิมของตน

การแลกเปลี่ยนอาหารของผมเริ่มต้นที่นั่น

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน ผมหรือสุวิทย์ เพื่อนผู้ที่แม่ของเขามีอาชีพเป็นแม่บ้านเต็มตัว พ่อของเขาเป็นข้าราชการสรรพสามิตที่ประจำอยู่ที่อีกจังหวัดหนึ่ง (ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าสรรพสามิตนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเช่นใดบ้าง) ทำให้เขาต้องอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง

อาหารของสุวิทย์เป็นอาหารพื้นๆ แต่ดึงดูดใจผมเสียทุกอย่าง ต้มจืดเต้าหู้หมูสับกับวุ้นเส้น ยำกุนเชียงกับไข่เค็ม ต้มส้มปลากระบอก

แทบทุกวันเมื่อถึงเวลาเที่ยงและการทานอาหารร่วมกันเริ่มขึ้น ผมจะเหลือบมองดูอาหารของสุวิทย์เป็นสิ่งแรกแทนที่จะเป็นอาหารของตนเองและรู้สึกว่าจะดีมากน้อยเพียงใด ถ้าผมจะขอแลกหมูกระเทียมพริกไทยในจานเบื้องหน้าผมกับยำกุนเชียงของเขาแม้เพียงหนึ่งช้อนก็ตามที

การลอบมองที่ว่าทำให้ผมพบว่าสุวิทย์เองก็แอบมองผลไม้ของผมอยู่เสมอ

เขาดูจะหลงใหลมะละกอสีส้มในจานของพวกเราเสียจริงๆ

ดังนั้น วันหนึ่งเราจึงตกลงกันโดยผมจะเก็บผลไม้บางส่วนใส่ถุงหลังมื้ออาหาร ในขณะที่สุวิทย์จะเหลืออาหารในกล่องข้าวของเขาครึ่งหนึ่งให้ผม

ข้อแลกเปลี่ยนที่ว่านี้ทำให้ผมและสุวิทย์ต้องรีบกินอาหารให้เสร็จสิ้นก่อนคนอื่นและตรงไปที่จุดนัดพบของเราคือต้นก้ามปูหน้าโรงเรียน ที่นั่นเราจะเอาใบก้ามปูมารองก้นและเริ่มต้นกินอาหารที่เราอยากกิน

สุวิทย์จะปอกกล้วยหอมเข้าปากของเขาด้วยความสุขใจ

ในขณะที่ผมจะตักข้าวที่มีแกงพะโล้และหมูสามชั้นเข้าปากด้วยความเพลิดเพลิน

เราแลกเปลี่ยนอาหารด้วยวิธีการที่ว่าอยู่สองหรือสามเทอมก่อนที่สุวิทย์จะต้องย้ายออกจากโรงเรียนเพื่อไปเข้าโรงเรียนใหม่ในพื้นที่ที่พ่อของเขารับราชการอยู่

ผมแทบจะลืมประสบการณ์การทานอาหารแบบแลกเปลี่ยนนี้ไปแล้วถ้าในอีกหลายสิบปีต่อมา หากผมและเพื่อนร่วมครัวชาวศรีลังกาอีกคนคือ สิงเห จะไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

เมื่อร้านอาหารแบบ Take Away ร้านหนึ่งที่ผมทำงานอยู่ที่ลอนดอนตอนนั้นมีนโยบายที่จะไม่เก็บอาหารไว้ค้างคืนโดยเฉพาะในคืนวันศุกร์ที่ร้านจะต้องปิดในวันเสาร์และอาทิตย์

ดังนั้น แม้เราจะพยายามควบคุมหรือจำกัดการปรุงอาหารให้น้อยที่สุดเพียงใด การคำนวณปริมาณอาหารก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี ดังนั้น เมื่อถึงเวลาปิดร้าน ข้าวราดแซลมอนเทริยากิ ข้าวราดไก่เทริยากิ ปลาดิบ รวมถึงสลัดแบบอื่นๆ ก็เหลือค้างอยู่ในตู้แช่เป็นจำนวนไม่น้อย

สิงเห ผู้มีหน้าที่ต้องเททุกอย่างเหล่านั้นใส่ถังขยะมักทำหน้าเศร้าอยู่เสมอ พร้อมกับคำพูดเปรยๆ ว่า “เสียดายเหลือเกิน เสียดายเหลือเกิน ยิ่งเมื่อนึกถึงเพื่อนร่วมชาติของผมที่อดอยากในประเทศด้วยแล้ว”

จริงอยู่ เราทุกคนที่เป็นพนักงานมีสิทธินำอาหารที่เหลือกลับไปทานได้มากเท่าที่ต้องการ แต่นั่นก็เป็นในช่วงแรกๆ ของการทำงานนั่นเอง

หลายอาทิตย์ผ่านไป ไม่ว่าอาหารในร้านจะน่าสนใจเพียงใด แต่การคิดว่าต้องนำมันกลับไปทานด้วยแล้วกลับเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกฝืนทนมากกว่ายินดี

แต่หลังเหตุการณ์กระอักกระอ่วนที่ว่าดำเนินไปได้สองหรือสามอาทิตย์ ผมก็พบทางออก

คืนหนึ่งในขณะที่ผมมุ่งหน้าไปยังสถานีรถประจำทางแถบทราฟัลการ์สแควร์หลังการทำงานล่วงเวลา ผมพบเห็นแถวยาวเหยียดของผู้คนไร้บ้านแห่งนครลอนดอนยืนแออัดอยู่หน้ารถบรรทุกคันหนึ่ง

เมื่อเดินเข้าไปใกล้ผมจึงพบว่าพวกเขากำลังรอซุปที่ถูกตักแจกจ่ายจากหม้อซุปที่วางอยู่บนกระบะท้ายรถ มีขนมปังถูกนำมาจากร้านทำขนมปังแห่งหนึ่งแจกให้สำหรับทานกับซุปด้วย

ผมยืนนิ่งคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะเอ่ยถามกับเจ้าหน้าที่สาวคนหนึ่งที่ควบคุมดูแลอยู่บริเวณนั้นว่าถ้าหากผมจะนำอาหารที่เหลือจากร้านอาหารของตนเองมาร่วมบริจาคด้วยจะเป็นไปได้ไหม

“ได้สิ แต่ว่าควรจะเป็นอาหารที่มีสุขอนามัย ไม่ใช่ของดิบ สลัดผัก ข้าวหรือสิ่งต่างๆ ทำนองนั้นเป็นสิ่งที่เรายินดี”

ผมเอ่ยความคิดนี้กับสิงเห

ในสัปดาห์ถัดมา เขาตอบรับมันด้วยความลิงโลดใจ และเมื่อคืนวันศุกร์มาถึง หากใครจะผ่านไปในคืนนั้นจะเห็นชายหนุ่มสองคนแบกถุงอาหารขนาดใหญ่ที่มีทั้งข้าวหน้าเทริยากิต่างๆ และสลัดผักมุ่งตรงไปยังสถานีรถไฟชาร์ลิ่งครอส ไปยังบริเวณทราฟัลการ์สแควร์อย่างทุลักทุเล

เราเอาทุกอย่างที่คิดว่าจะแบ่งปันได้ในคืนนั้นติดตัวมาด้วย

และหลังจากเปิดกล่องอาหารให้เจ้าหน้าที่สาวคนเดิมที่ผมเคยพบให้เธอได้ชิม เธอก็พยักหน้าอย่างพอใจและเริ่มต้นแจกจ่ายมัน

ไม่ถึงสิบห้านาที ข้าวและสลัดผักที่เราเตรียมมาก็หมดลง

ผมกับสิงเหนั่งลงที่ริมถนน เฝ้ามองผู้คนเหล่านั้นทานอาหารของเราด้วยความเพลิดเพลิน

ช่วงเวลานั้นเองที่ผมนึกถึงสุวิทย์ นึกถึงภาพที่เขาทานผลไม้ที่นำมาให้อย่างมีความสุขและนึกถึงภาพที่เขามองผมทานอาหารจากกล่องข้าวของเขาอย่างอิ่มเอม

อาหารนั้นเป็นสิ่งที่ควรแบ่งปัน อาหารนั้นเป็นสิ่งที่ควรถูกลิ้มลองเมื่อปรุงขึ้น

เราอยู่ในโลกที่ทุกคนต้องการอาหารที่ดี ลิ้มลองสิ่งต่างๆ อาหารเป็นสิ่งที่ไม่มีเชื้อชาติ ห่างไกลจากการถูกตีตราแบ่งแยก

โลกของอาหารเป็นโลกที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างที่ โยตัม ออตโตเลงกิ กล่าว

“ในโลกของอาหารไม่มีความขัดแย้ง ในโลกของอาหารไม่มีการแบ่งแยก โลกของอาหารเป็นโลกที่มีเพียงหนึ่งเดียว”