เบื้องหลัง “อ่างแก้ว” จุดชมพระอาทิตย์ตกในมช. ความงามจากความทุ่มเท

อ่างฯแก้วฯ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า อ่างแก้ว

อ่างแก้ว คือ อ่างเก็บน้ำขนาด 400,000 ลบ.ม. อยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มสร้างขึ้นใน พ.ศ.2505 สำหรับใช้เพื่อการประปาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเปิดมหาวิทยาลัยในปี 2507

เมื่อสร้างเสร็จ กรมชลประทานให้ชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว”

ต่อมาศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อ่างแก้ว”

บริเวณรอบๆ อ่างแก้วมีต้นไม้น้อยใหญ่ และสัตว์ต่างๆ เช่น เต่า แมลง และนก มีเกาะนกอยู่กลางอ่างแก้ว ซึ่งจะมีนกแขวกบินมาอาศัยอยู่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี

แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของป่าริมน้ำเชิงดอยรอบอ่างแก้ว

 

แม้ว่าทิวทัศน์ของอ่างแก้วจะเหมือนกับเป็นธรรมชาติ

แต่ที่แท้เป็นฝีมือและจินตนาการของมนุษย์ ในการเลือกจัดวางอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้โดดเด่นอยู่ในชัยภูมิลุ่มเชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นจุดบรรจบของลำห้วย 2 สายที่ไหลลงมาจากดอยสุเทพ ได้แก่ ห้วยแก้ว และห้วยกู่ขาว ตามความเห็นชอบของทั้งศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล และกรมชลประทาน

โดยมีที่ปรึกษาคือ ดร.พอล ดับเบิลยู. ซีเกอร์ส จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาแนะนำการวางผังสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

การที่อ่างแก้วสวยงามเช่นทุกวันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับนายช่างชลประทาน คุณสุรัตน์ รัตนกิจการกล ที่ทำหน้าที่ด้านงานประปาให้พร้อมเพื่อที่จะใช้งานเมื่อมหาวิทยาลัยจะเปิดทำการในอีก 2 ปีถัดมา

สำหรับงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะงานรักษาเขื่อนในระยะเริ่มต้น

มีบันทึกในหนังสือประมวลข่าว มชม. ฉบับที่ 5 ว่า คุณสุรัตน์ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หญ้างอกงามและเขียวอยู่เสมอ จะได้เป็นแรงยึดให้ดินเกาะกันจนอยู่ตัว

หน้าฝนก็ต้องคอยตกแต่งอุดช่องดินที่ถูกน้ำฝนชะหลุดหาย นับเป็นความมุ่งมั่นอันแรงกล้า

จนเมื่อ 60 กว่าปีผ่านไป อ่างแก้วกลายมาเป็นอ่างเก็บน้ำที่งดงามเช่นทุกวันนี้

อ่างฯแก้วฯงามฯแท้ๆเจั้า อ่างแก้วงามแต๊ๆ เจ้า

ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอ่างแก้วเดิมคือ ทุกวันนี้มีเกาะแขก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยื่นออกไปในน้ำ

มีเก้าอี้และทางเดินรอบเกาะ

มีแท่นหินจารึกบริเวณทางเข้าบอกที่มาของชื่อเกาะแขก เขียนว่า Karn Memorial Park Dedicate 25 Anniversary หมายถึงมีผู้ไม่ประสงค์จะเอ่ยนามชาวไทยเชื้อสายอินเดียท่านหนึ่งได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่เกาะ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างแก้ว มีการทำทางเดินติดไฟส่องสว่าง มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างอ่างแก้วกับหมู่บ้านอ่างแก้ว สำหรับเป็นเส้นทางเดิน-วิ่ง จนถึงอ่าวตาดชมภู

อ่างแก้วโด่งดังขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ เมื่อภาพยนตร์จีนใช้อ่างแก้วเป็นฉากสำคัญในเรื่อง Lost in Thailand

ทำให้อ่างแก้วกลายเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวจีน คนจีนมาเชียงใหม่จะต้องไม่พลาดไปถ่ายรูปกับอ่างแก้วเสมอ

ปัจจุบันอ่างแก้วกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมที่หลากหลาย การออกกำลังกาย เดิน-วิ่งตามถนนรอบอ่างแก้ว พาหมาแมวมาเดินเล่นบริเวณลานสังคีตหรือที่เรียกว่า ลานควายยิ้ม เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ชมวิว ด้วยความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ

เป็นจุดนัดพบ และจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่