ฉัตรสุมาลย์ : ทอดกฐินปีนี้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี

เราจะกำหนดว่าเราจะทอดกฐินเมื่อไร เราต้องดูว่าออกพรรษาเมื่อไหร่ค่ะ

ท่านธัมมนันทาท่านมีโพยรายละเอียดเรื่องวันออกพรรษาถึง พ.ศ.2568 โน่น ปีนี้เราออกพรรษาวันที่ 5 ตุลาคม บางวัดก็รีบทอดกฐินเลย แม้ว่าจะทอดกฐินได้ทุกวันตลอดเดือน จนไปถึงวันที่ 3 พฤศจิกายนก็ตาม

แต่บางคนจะมีวิธีคิดว่า เอาต้นเดือนไว้ก่อน เพราะบางคนเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินหนามือตอนต้นเดือน แต่ปลายเดือนจะต้องมัธยัสถ์หน่อย ระหว่างวันเสาร์อาทิตย์ ก็มักจะเลือกวันอาทิตย์ เพราะที่ทำงานบางแห่งไม่หยุดวันเสาร์ หรือหยุดเพียงครึ่งวัน วัดก็ต้องอาศัยบ้าน ถ้าไม่คิดเรื่องของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่สะดวก วัดก็จะได้เงินทำบุญน้อย

ที่วัตรทรงธรรมฯ เลือกวันอาทิตย์เสมอ แต่มักจะเป็นอาทิตย์ที่ห่างไปจากออกพรรษา เพราะบางทียังไม่หมดฝน ให้แน่ใจว่าฝนแล้งจริงๆ เพราะงานกฐินมักต้องอาศัยพื้นที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะการจัดขบวนแห่กฐิน

ที่ว่าเราสามารถจะจัดทอดกฐินได้ตลอดเดือน จริงๆ แล้วในภาคปฏิบัติ ก็เหลือเพียงวันอาทิตย์ 4 ครั้ง หลายวัดจะทอดกฐินตรงกันเพราะเหตุนี้

ที่นครปฐม เวลาจะจัดงาน และกลัวฝน ก็จะมีการปักตะไคร้กลับหัว ขอบารมีหลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทร กันเป็นประจำ

ปีนี้เพราะเกรงใจฝน ที่วัตรทรงธรรมฯ จึงเลือกจัดงานวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม ฝนตกมาตลอดเลยค่ะ ยกเว้นวันทอดกฐิน เยี่ยมจริงๆ

 

วัดแต่ละวัดก็จะมีการจัดงานที่แตกต่างกันออกไป

วัดที่จะรับกฐินได้ต้องมีพระจำพรรษาด้วยกันตลอดพรรษา อย่างน้อย 5 รูป

ที่วัตรทรงธรรมฯ มีพระภิกษุณีครบ 5 รูปมาหลายปีแล้ว นอกจากจะรับกฐินที่วัตรของตัวเองแล้ว ในตอนแรกที่เวียดนามยังมีพระภิกษุณีจำพรรษาไม่ครบก็อาศัยนิมนต์ภิกษุณีจากไทยไปช่วยให้ครบองค์สงฆ์ 3 ปีแรก ท่านธัมมนันทาก็ออกไปช่วยที่เวียดนามรับกฐินติดต่อกัน จนตอนนี้ที่เวียดนามอยู่ครบองค์สงฆ์แล้ว

กิจกรรมที่ทางวัตรทรงธรรมฯ จัด ก็มีการจับสลาก เป็นที่สนุกสนานสำหรับเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่พามาทำบุญด้วย แม้ผู้ใหญ่ก็ยังอดสนุกไม่ได้

ปีนี้เอาสลากใส่ในไข่พลาสติกลอยน้ำให้ตัก ก็สนุกไปอีกแบบหนึ่ง รางวัลที่น่าประทับใจอยู่ ท่านธัมมนันทาต้องไปปิดงานให้ ท่านก็จับได้พัดไม้แก่นจันทน์จากพม่าที่ลูกทิดเอามาช่วยออกสลาก ท่านเล่าอย่างติดตลกว่า ปีหนึ่งท่านจับได้หวี!

ทางฝั่งร้านทศพร วันงานกฐินนั้น ออกร้านขายหนังสือลดราคาเป็นพิเศษ มีญาติโยมที่สนใจหนังสือแวะเวียนไปไถ่ถามอยู่ ปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ ท่านธัมมนันทาไม่ได้ออกหนังสือใหม่ เพราะท่านมัวใช้เวลาตรวจทานหนังสือที่สืบเนื่องมาจากการจัดงานประชุมนานาชาติ ABC

แต่อาจจะมีสักเล่มหนึ่งที่กำลังรวบรวมให้ได้พิมพ์ทันขายต้อนรับปีใหม่

ร้านที่คนมาชุลมุนกันมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่วันก่อนงาน คือร้านเสื้อผ้ามือสอง ส่วนใหญ่แล้วต้องถือเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างพี่ๆ น้องๆ แต่ได้เงินทำบุญเข้าวัด เพราะสมทบเข้ากองกฐินทั้งหมด เหนื่อยก็ตอนขนออกมาแขวน แยกชนิด และขนาด

แต่เป็นมุมที่สนุกที่สุดทุกปี

 

ลานกว้างที่ชื่อลานยิ้มละมัย เพราะครอบครัวยิ้มละมัยมาลงทุนให้ เล็กไปถนัดตา เพราะใช้เป็นพื้นที่ food court ศูนย์อาหารค่ะ หลายสิบปีก่อน เราขายอาหารมังสวิรัติ แต่ในสมัยท่านธัมมนันทา ท่านว่า แค่ญาติโยมเดินทางมาร่วมงานก็ดีแล้ว เพราะวัตรเราไม่ได้อยู่ในเมือง ห่างจากกรุงเทพฯ ออกมาตั้ง 50 ก.ม. จึงเกิดประเพณีญาติโยมยกข้าวหม้อ แกงหม้อมาสมทบ สนุกเช่นกัน แต่ต้องจองเมนูกันไว้ก่อน มิฉะนั้น อาหารซ้ำกัน

ทางวัตรต้องเตรียมอาหารรับแขกทั้งเช้าและกลางวันเพราะญาติโยมบางคนเดินทางมาไกล

วัตรทรงธรรมฯ เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลวงพี่ปณีตา ภิกษุณีวัย 60 เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการณรงค์ไม่ให้ใช้กล่องโฟม ไม่ให้ทิ้งขยะมากมาย แม้ว่าเราพยายามทำมาหลายปี แต่ปีนี้สำเร็จเป็นครั้งแรก ขยะอาหารทั้งงานมีถุงเดียว

เราจัดอ่างล้างจานไว้ให้ 3 จุด ใช้ถ้วยชามเมลามีน และแก้วน้ำที่รองน้ำจากถังน้ำเย็น ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จที่เราปลื้มใจ

มีอยู่ปีหนึ่ง ท่านธัมมนันทาเป็นคนเคลียร์ถังขยะเอง พบว่าน้ำที่มาในแก้วพลาสติกนั้น บางคนเจาะแล้วกินน้ำไปเพียงอึกเดียวก็ทิ้ง เสียของมาก เป็นข้อเสียของคนไทยที่ไม่ค่อยประหยัด ตอนที่เรามีมากยังไม่น่าเกลียด แต่ตอนนี้ทรัพยากรธรรมชาติของเราเหลือน้อยเต็มที เราต้องสร้างความรู้สึกร่วมด้วยช่วยกันประหยัดให้มากขึ้น

ควรเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศได้เลยค่ะลุงตู่

 

นครปฐมมีตลาดขายส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ตลาดปฐมมงคล เราจึงมีผลไม้ไว้ต้อนรับญาติโยมเป็นเข่งๆ

ปีนี้ เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ประกาศว่า ระวังอย่าให้พระมาถ่ายรูปกับพุ่มปัจจัย พุ่มปัจจัยก็ยังมาเยอะอยู่ค่ะ เพียงแต่ไม่มีการถ่ายรูปพระกับพุ่มเงิน

เราก็เรียนรู้เรื่องการทำพุ่ม คราวแรกทำต้นไม้ใส่กระถางมีปัจจัยปักเต็ม พอถึงตอนพาเดินเวียนโบสถ์สามรอบ คนอุ้มเหงื่อตกเลยค่ะ เราก็เลยค่อยๆ พัฒนา ปักเงินเฉพาะด้านหน้า หรือทำเป็นพุ่มเบาๆ ให้แห่ในขบวนได้ง่ายขึ้น ทุกอย่างโง่มาก่อนฉลาดนะคะ

งานกฐินเป็นงานที่ปีหนึ่งมีครั้งเดียว

ไม่ใช่ว่าวัดได้ปัจจัยไว้ใช้สอยตลอดปีเท่านั้น แต่ญาติโยมเองที่รู้จักกันมายาวนาน หลายคนล้มหายตายจากกันไป อย่าลืมว่าวัตรนี้อยู่มาตั้งแต่ 2503 เจ้าอาวาสก็ยังรุ่นที่สองแล้ว ญาติโยมโดยเฉพาะที่เป็นลูกทิด คือเคยบวชเณรที่วัตรนี้ ส่วนใหญ่ก็มาไม่ทันหลวงย่าภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ได้รู้จักแต่ท่านธัมมนันทาที่เป็นทายาทของท่านเท่านั้น

งานกฐินจึงเป็นงานของสังคมชาววัตรไปด้วย

 

งานทอดกฐินที่วัตรทรงธรรมฯ จะเป็นกฐินสามัคคีเสมอ แม้ปีนี้จะมี คุณกิตติ นะวาระ เจ้าของบริษัทพี.เอ็น.เค. พลาสติค เป็นประธาน แต่เราก็ร่วมมือร่วมใจกันเสมอ

ที่วัตรนี้ เจ้าอาวาสจะมีการรายงานถึงกิจกรรมในปีที่ผ่านไป มีทั้งงานภายในและภายนอกประเทศ งานต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นการออกไปช่วยงานภิกษุณีในต่างชาติ แม้งานที่จัดในประเทศก็เป็นงานนานาชาติ เช่น งานอบรมนักบวชสตรีที่จัดทุกเดือนมิถุนายน ก็มีผู้เข้าร่วมจาก 11 ประเทศ ตั้งแต่ฝรั่งเศส อเมริกา แคนาดา เวียดนาม รัสเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย พม่า และไทย เป็นต้น

งานในประเทศปีนี้ โครงการหลวงแม่มาแล้วที่เข้าไปอบรมผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำประจำจังหวัดนครปฐม 6 ปี ปีนี้ทางเจ้าหน้าที่ขอให้เราจัดเป็นโครงการหลัก เข้าไปทุก 2 อาทิตย์ อบรมครั้งละ 240 คน ต้องแบ่งสองกลุ่ม กลุ่มละ 120 คน เป็นงานที่เห็นผลน่าชื่นใจ

งานในต่างประเทศ ใกล้สุด ท่านธัมมนันทารับนิมนต์ไปบวชสามเณรีสายเถรวาทที่ฮ่องกง เดือนธันวาคม 2560 ที่จะถึงนี้

 

เมื่อถึงเวลาถวายผ้ากฐิน ก็จะให้ศีล และใช้เวลาสำรวมจิต เพื่อให้ทานที่ทำนั้นส่งผลสูงสุดแก่ผู้เป็นเจ้าของทานทุกท่าน มีการส่งบาตร จีวร ทั้งจีวรที่เป็นผ้ากฐิน และจีวรบริวารให้ทุกคนได้สัมผัสและได้โมทนา ยังความปลาบปลื้มใจแก่ทุกคนที่มาร่วม

หลังจากถวายผ้ากฐินแล้ว พระภิกษุณีทำพิธีกรานกฐิน ท่านธัมมนันทาอธิบายให้ญาติโยมฟังว่า ภิกษุณีสงฆ์ทำอะไรในแต่ละขั้นตอน

สำหรับปีนี้ ผ้ากฐินคณะสงฆ์ประชุมกันล่วงหน้า และเห็นพ้องว่า ให้มอบแก่ท่านกัตยญาณี ซึ่งเป็นพระภิกษุณีชาวอินเดียจากมุมไบที่มาเข้าพรรษากับเราเป็นครั้งที่สามแล้ว สมควรที่จะเป็นผู้ที่ได้รับผ้ากฐิน เพราะมิฉะนั้นแล้ว ท่านอยู่ตามลำพังรูปเดียวท่านก็จะไม่มีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการรับผ้ากฐินเลย ภิกษุณีสงฆ์ในพรรษาที่อยู่ด้วยกัน 10 รูปปีนี้ เห็นพ้องต้องกัน

เมื่อกรานกฐินแล้ว มอบให้แล้ว ท่านกัตยญาณีก็ขอให้คณะสงฆ์โมทนากับเธอ

ตอนจบงานจะมีประเพณี ท่านธัมมนันทาจะเตรียมของแจกเป็นหนังสือของพระภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ และของ ดร.กาญจนา สุทธิกุล เกี่ยวกับเรื่องราวของพระแม่น้านางมหาปชาบดี

เล่มหลังสุดนี้ มีแจกสำหรับแฟนคลับนะคะ ติดต่อส่งที่อยู่ได้ที่ 0-3425-8270

คืนวันที่ 26 ตุลาคม พวกเราหลอมใจเป็นดวงเดียวกันส่งเสด็จพ่อหลวงที่เราจะรักษาคุณความดีของพระองค์ท่านให้ปรากฏในการกระทำของเราทุกวัน

พอพ้นงานใหญ่ไป เราก็จะมีงานอีกงานหนึ่ง คืองานลอยกระทง วันที่ 3 พฤศจิกายน