มุสลิมในอินเดียและเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (2) เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

มุสลิมในอินเดียและเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (2)

เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน

 

: ปัญญาชนมุสลิมของอินเดีย (ต่อ)

แม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเซอร์ ซัยยิด ก็ยังถูกเสริมด้วยวรรณกรรมอิสลามที่ทรงคุณค่า

บางทีอาจกล่าวได้ว่า เซอร์ ซัยยิด เป็นชาวมุสลิมอินเดียคนเดียวที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการลุกฮือแห่งปี 1857 ซึ่งหนังสือนี้มีชื่อว่าอัสบาบ บะฆวัตติฮินด์ (Asbab Bghawat-e-Hind) ซึ่งเซอร์ ซัยยิด มีความเห็นว่าการลุกฮือของชาวอินเดียดังกล่าวนั้นอังกฤษสมควรได้รับการตำหนิ

ในทำนองเดียวกันงานที่ถือได้ว่าเป็นอมตะของเซอร์ ซัยยิด ก็คืองานเขียนเรื่อง อาษารุส สะนาดีด (Athar-us-Sanadid) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1847 เป็นงานเขียนเกี่ยวกับอาคารและอนุสาวรีย์ของกรุงนิวเดลี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่ได้เขียนในเรื่องนี้

และได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Garcin T.Tassy ในปี 1861

จนทำให้เซอร์ ซัยยิด มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของราชสมาคมแห่งเอเชียของกรุงลอนดอน (Royal Asiatic Society of London)

 

เซอร์ ซัยยิด ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในฐานะนักเขียนผู้มีคุณูปการและนักการศึกษา

อาจกล่าวได้ว่าเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน คือสถาปนิกนักสมัยนิยมแห่งอินเดีย ที่ต่อสู้อย่างห้าวหาญกับความล้าหลัง ความใจแคบ ไสยศาสตร์ ความสุดโต่งและปูทางให้แก่การศึกษาที่เป็นระบบโดยให้ความสำคัญทั้งทางจิตวิญญาณ (spiritual) และทางโลก (temporal) ในเวลาเดียวกัน

เมื่อกล่าวโดยภาพรวม เซอร์ ซัยยิด จึงเป็นแกนหลักของขบวนการอลิฆัร (Aligarh) หรืออลีการ์เป็นบิดาแห่งลัทธิสมัยใหม่นิยม เป็นคนแรกที่รู้ถึงความจำเป็นของแวดวงความเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

แม้ว่าเซอร์ ซัยยิด จะนิยมชาฮ์ วะลีญุลลอฮ์ มากแต่ก็รู้ว่าแนวความคิดเบื้องต้นของชาฮ์วะลีญุลลอฮ์นั้นเป็นแบบสมัยกลาง

ตัวอย่างเช่น ชาฮ์วะลีญุลลอฮ์เชื่อในการแยกขั้วแบบสมัยกลางระหว่างชุมชนศาสนา-การเมืองของอิสลามกับโลกของผู้ไม่ใช่มุสลิม แต่เซอร์ ซัยยิด ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขายอมรับประชาธิปไตยแบบทางโลกและลัทธิชาตินิยมเสรีอย่างแท้จริงด้วยความหมายที่ว่าศาสนาก็คือความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มากกว่าจะเป็นวิถีชีวิตทั้งหมดอย่างที่คิดกันในสมัยกลาง

จิตใจของเซอร์ ซัยยิด เป็นสมัยใหม่มาก แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เขาแยกขอบเขตที่เหมาะสมของศาสนาและรัฐภายในองค์ประกอบแห่งเอกภาพของทัศนวิสัยทางจิตวิญญาณซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในความมีใจกว้างทางศาสนา หนทางนี้นำไปสู่การถือศาสนาแบบนักพหุนิยม

เซอร์ ซัยยิด ในตอนแรกก็เป็นนักศาสนวิทยา นักปรัชญาอิสลามซึ่งใช้ความรู้ของเขาเพื่อปรองดองวิทยาศาสตร์กับอัลกุรอาน ยอมรับดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดพลาด

แนวความคิดเบื้องต้นของเขามีอยู่ว่าวิทยาศาสตร์บรรยายอย่างถูกต้องและมีวัตถุประสงค์ถึงโลกทางกายภาพ ซึ่งเป็นงานของพระเจ้า บัดนี้ย่อมไม่สามารถมีความขัดแย้งใดๆ ระหว่าง “พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้ากับงานของพระเจ้า

เซอร์ ซัยยิด มีแนวคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบกฎแห่งธรรมชาติ และดำรัสไว้อย่างเปิดเผยในอัลกุรอานว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงในวิถีของพระผู้เป็นเจ้า ธรรมชาติทำงานอย่างมีรูปแบบอยู่เสมอ

 

แนวความคิดเบื้องต้นอีกอย่างหนึ่งของเซอร์ ซัยยิด ก็คือความคล้องจองระหว่างวะฮีย์หรือวิวรณ์กับเหตุผลซึ่งทั้ง 2 อย่างเป็นทางนำของมนุษย์ เหตุผลถูกให้แก่ทุกคน แต่วะฮีย์หรือวิวรณ์ถูกมอบให้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เท่านั้น ที่มาของทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกันถึงแม้ว่าแวดวงการปฏิบัติจะแตกต่างกันก็ตาม

เซอร์ ซัยยิด ยอมรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และการค้นหาของเหตุผลไม่น้อยไปกว่าอัลกุรอานซึ่งไม่มีที่ผิดพลาด แล้วก็ดำเนินต่อไปยังการปรองดองข้อขัดแย้งกันระหว่างทั้ง 2 โดยอาศัยการตีความคัมภีร์

การตีความหมายใหม่ของอัลกุรอานแบบอุปมาหรือแบบปรัชญาทำให้เกิดความตระหนกและเดือดร้อนในสถาบันศาสนา พวกเคร่งจารีตและอนุรักษนิยมขนานนามเซอร์ ซัยยิด ว่านักธรรมชาตินิยมหรือตัวเอกของเหตุผลแทนที่จะเป็นตัวเอกของการวิวรณ์

แต่ความจริงก็คือ เซอร์ ซัยยิด ไม่ได้เป็นนักปรัชญาเหตุผลนิยมโดยแท้จริงแต่เป็นนักวิชาการ ที่มีศรัทธาแบบมีเหตุผลมาก่อนในอัลกุรอานในฐานะที่เป็นดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่วิวรณ์มา รวมทั้งมีศรัทธาในความคล้องจองระหว่างการวิวรณ์และเหตุผล

แนวความคิดนี้เซอร์ ซัยยิด ได้รับมรดกมาจากนักปรัชญาอิสลามบางคน เช่น อัล-คินดี อัล-ฟะรอบี อิบนุ สินา และอินนุรุชด์ เป็นต้น

 

เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน

ในฐานะที่เป็นนักคิดด้านปรัชญา-ศาสนา

ประสบการณ์ในเรื่องการขบถของอินเดียทำให้เซอร์ ซัยยิด เป็นอย่างที่เขาเป็นอยู่ เขาทราบถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในอนาคตของชุมชนมุสลิมในอินเดียและตัดสินใจที่จะรับการท้าทายอยางกล้าหาญ

เขาเขียนหนังสือเรื่อง The Causes of Indian Revolt (สาเหตุของการขบถของอินเดีย) และ The Loyal Mohammedans of India (เจ้ามุสลิมในอินเดีย) เพื่อให้ตรงกับการเติบโตขึ้นของทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ต่อมุสลิมของพวกผู้ปกครองอังกฤษและการโฆษณาใส่ร้ายของพวกฮินดู

เขาพยายามที่จะทำให้มุสลิมคุ้นเคยกับความรู้อันอุดมสมบูรณ์ของตะวันตก

เขาจึงได้ตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ขึ้นในปี 1864 ตอนแรกที่เมืองกาซิปุระ ต่อไปก็ที่อลิฆัรหรืออลิการ์ (Aligarh) โดยมุ่งหมายจะแปลหนังสืออังกฤษเป็นภาษาอุรดู เพื่อว่าคนธรรมดาๆ จะได้รู้ถึงความก้าวหน้าของตะวันตก

ในปี 1866 เขาเริ่มออกวารสารชื่อคำประกาศของสถาบันอลีฆัร (The Aligarh Institute Gazette)

การไปเยือนประเทศอังกฤษของเขาเมื่อปี 1869 ทำให้เขาแน่ใจว่าหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูมุสลิมก็คือการให้ความรู้แบบตะวันตกแก่พวกเขาด้วยการศึกษาแบบสมัยใหม่

แต่บางครั้งก็ได้รับความสงสัยจากพวกมุสลิมด้วยกัน

 

เขากล่าวว่า ปัจจุบันนี้เราจำเป็นต้องมีความรู้แบบสมัยใหม่และแสดงให้เห็นว่ามันสอดคล้องกับศาสนาอิสลาม

ในขณะที่ข้าพเจ้าพยายามนำเอาวิทยาการเหล่านี้เข้ามาในหมู่มุสลิม ข้าพเจ้าก็ถือเป็นหน้าที่ด้วยที่จะต้องปกป้องศาสนาอิสลามและเผยให้เห็นโฉมหน้าเดิมอันสดใสของอิสลาม

เกณฑ์อันเดียวของศาสนาที่แท้จริงก็คือถ้ามันสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์หรือธรรมชาติโดยทั่วไป มันก็คือศาสนาที่แท้จริงที่จะเป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าศาสนานั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงประดิษฐ์ธรรมชาติขึ้นในตัวมนุษย์

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าทางนำที่พระองค์ประทานแก่เรานั้นสอดคล้องอย่างเต็มที่กับองค์ประกอบและธรรมชาติของเรา

 

ธรรมชาติคืออะไร ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ตีความมันเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์สมัยฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 13 หรือปีคริสต์ศักราชที่ 19

ตีความสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง สิ่งไม่มีชีวิตทุกอย่างและพฤติกรรมชองมนุษย์ว่าต่างก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์แห่งธรรมชาติซึ่งเข้มงวด

สัตว์และแมลงทุกอย่างมีพลังทางสัญชาติญาณซึ่งอัลกุรอานเรียกว่าวะฮีย์ (วิวรณ์หรือการเปิดเผย) จึงทำให้สัญชาติญาณ เหตุผลและวะฮีย์อยู่ในประเภทเดียวกัน จะแตกต่างกันบ้างก็ในเรื่องระดับของมันเท่านั้น ผู้ที่ได้รับเหตุผลในระดับสูงสุดก็กลายเป็นหัวหน้าและผู้นำ

ตามความคิดของเซอร์ ซัยยิด หัวหน้าและผู้นำเหล่านี้มีอยู่ในทุกแวดวงของชีวิตมนุษย์ ทั้งทางฆราวาสและทางศาสนา

และพวกเขาทุกคนได้รับแสงสว่างจากพระผู้เป็นเจ้าที่เรียกว่าวิวรณ์

 

ความแตกต่างระหว่างศาสดากับอัจฉริยบุคคลอื่นๆ อยู่ที่หน้าที่การงานของเขา ศาสดาก็คือผู้รักษาจิตวิญญาณ หน้าที่ของท่านคือนำทางจิตวิญญาณและชีวิตด้านศีลธรรมของผู้คน เซอร์ ซัยยิด ปฏิเสธเรื่องที่ว่าศาสดาคือผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้ตำแหน่งนี้แก่ท่านตามบุญตามกรรม สำหรับเซอร์ ซัยยิด ความเป็นศาสดาก็คือหน้าที่เฉพาะอย่างหนึ่งเหมือนกับหน้าที่อื่นๆ นั่นเอง

เซอร์ ซัยยิด เริ่มต้นด้วยความเข้าใจในด้านกลไกและปริมาณของธรรมชาติแล้วผ่านไปสู่การตีความทางโทรภาพ

เขามีประสบการณ์ของศาสดาโมเสส (มูซา) และอับราฮัม (อิบรอฮีม) ในลักษณะเดียวกัน

เขากล่าวว่า ไม่มีศาสดาท่านใดรู้จักพระเจ้าได้นอกจากด้วยกระบวนการนี้ ศาสดามูซาแสดงความปรารถนาอยากจะได้เห็นพระองค์ แล้วก็ได้รับคำตอบว่า “เจ้าไม่มีทางจะมองเห็นเราเลย แต่จงมองดูบนภูเขานั้นซิ” อะไรเล่าอยู่บนภูเขา? ก็ธรรมชาติ เครื่องแสดงถึงกฎของธรรมชาติอย่างไรเล่า?

หนทางที่พระองค์ทรงชี้บอกก็คือหนทางของธรรมชาตินั่นเอง

การถือว่าอิสลามคืออย่างเดียวกับธรรมชาติหมายความว่าศาสนาที่แท้จริงอยู่ในความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นและผู้คนทั้งหลายที่ยอมรับคำสอนเรื่องเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าก็คือมุสลิม ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันในการประกอบพิธีกรรมก็ตาม

เซอร์ ซัยยิด เชื่อในการมีอยู่ของดวงวิญญาณ สำหรับเขาเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะไขความลับของสิ่งลึกลับนี้ เขาไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของดวงวิญญาณ เขาเชื่อว่ามันเป็นสสารที่มีตัวตนอยู่ ไม่ได้เป็นเพียงคุณลักษณะ

ในด้านคุณภาพนั้นดวงวิญญาณของคนและสัตว์ก็คล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างตรงโครงสร้างเฉพาะของร่างกายซึ่งเป็นเครื่องมือของดวงวิญญาณนั่นเอง ดวงวิญญาณเป็นอมตะ ไม่ตายไปพร้อมกับร่างกาย และได้ข้อสนับสนุนมาจากคำสอนเชิงวิทยาศาสตร์ที่ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้สูญหายไปได้