มนุสสปฏิวัติ : สร้างพลเมืองใหม่ให้แข็งแรง (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

มนุสสปฏิวัติ

: สร้างพลเมืองใหม่ให้แข็งแรง (2)

 

“…งานปฏิวัติเป็นงานที่ดี เป็นงานกุศลกรรม แต่เป็นงานที่ลำบาก เป็นงานที่ทำยาก เป็นงานต้องใช้เวลานาน…”

(หลวงวิจิตรวาทการ, 2482, 4)

 

“สมชาย” : ร่างกายกำยำล้ำเลิศของพลเมืองใหม่

ด้วยสำนึกชาตินิยม (nationalism) ที่เห็นว่า ชาติประกอบขึ้นมาจากประชาชนทั้งมวลเป็นสำนึกทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราษฎรนับแต่รัฐบาลพระยาพหลฯ (2476-2481) เป็นต้นมา มีนโยบายส่งเสริมการศึกษาให้กับสังคมเพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นพลเมืองที่มีทั้งความคิด กำลังกายและกำลังใจ ด้วยการบำรุงการพลศึกษา

ดังที่พระยาพหลฯ กล่าวไว้เมื่อ 2480 ว่า “พวกเราต้องช่วยกันทำนุบำรุงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปจนเท่าเทียมหรือเพียงใกล้เคียงอารยประเทศ” (ประมวญวัน, 25 มิถุนายน 2480)

ในรัฐบาลถัดมาของจอมพล ป. (2481-2487) นั้น ร่างกายของพลเมืองกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชาติ ในด้านจำนวนประชากร ด้านสร้างสุขภาพอนามัยของร่างกาย การกิน การบริหาร การออกกำลังกายและเดินทางไกล การสร้างวินัย อบรม เลี้ยงดู และการแต่งกาย ความมีมารยาทเป็นอารยะ (ก้องสกล, 2545)

นับตั้งแต่การปฏิวัติ สังคมไทยปรากฏหนังสือการเมืองเล่มเล็กและบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่น ดังในหนังสือลัทธิชูชาติ (2476) ของหลวงวิจิตรวาทการ เขาเห็นว่า ไทยควรส่งเสริมลัทธิชูชาติ (Nationalism) ให้เกิดขึ้นในไทย โดยนำแนวคิดเรื่องบูชิโดของญี่ปุ่นมาเป็นแนวทาง

คติร่างกายใหม่แบบ “สมชาย” และ “สมหญิง” ปรากฏบนปกสิ่งพิมพ์ภายหลังการปฏิวัติ 2475

ต่อมาในปี 2482 หลวงวิจิตรฯ นำแนวคิดบูชิโดประยุกต์เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความเชื่อของคนไทยภายหลังการปฏิวัติ ไว้ในหนังสือมนุษย์ปฏิวัติ (Human Revolution) (2482)

เขาเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิวัติไม่แต่เพียงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่ควรสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติทางความคิดจิตใจของคนไทยด้วย เพื่อให้คนไทยมีจิตใจที่มุ่งมั่น ขยันทำงาน ละทิ้งความเชื่อเดิมที่งมงาย และชื่นชมความมีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อให้การปฏิวัติครบถ้วนรอบด้านทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

ในหนังสือหลวงวิจิตรฯ ยังได้วิจารณ์ร่างกายและคติการไม่ต้องทำงานหนักของชนชั้นปกครองในอดีตว่า

ใน “วรรณคดีเรื่องรามเกียรต์ที่เรานิยมชมชอบกันนักหนานั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลเปลี่ยนนิสัยใจคอเรา…ตัวเอกของเรื่องคือ พระราม เป็นคนที่อ่อนแอที่สุด ไม่เคยทำงานสมบุกสมบันกับใคร…พระรามเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้มีบุญ เป็นผู้ประเสริฐ…พระเอกของเราแทบทุกเรื่องมักได้ดีโดยไม่ต้องทำอะไร…รูปร่างพระเอกของเรามักอรชรอ้อนแอ้น แม้นจะเดินก็ไม่ค่อยไหว…” (หลวงวิจิตรวาทการ, 2482, 14-15)

ภายหลังที่ขุนศรีศรากรไปดูงานกิจการตำรวจญี่ปุ่น (2478) แล้ว เขาเห็นว่า ระบอบใหม่ควรสร้างตำรวจที่มีสุขภาพที่แข็งแรง เขาเห็นว่า “ตำรวจควรฝึกกำลังร่างกายให้สมบูรณ์อยู่เป็นนิตย์” พร้อมเรียกร้องให้ตำรวจมีการฝึกฝนร่างกายสม่ำเสมอเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง ต่อมาโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้นักเรียนตำรวจทุกคนต้องเดินทางไกลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย ตลอดจนให้ตำรวจฝึกกีฬาการต่อสู้แบบยูโด (ขุนศรีศรากร, 2479, 117-118)

ในสมัยขุนศรีศรากรเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล (2481) เขาให้ตำรวจสันติบาลฝึกฝนยูโด โดยเชิญเจือ จักษุรักษ์ (2448-2525) นักเพาะกาย นักกายบริหารผู้มีชื่อเสียงสมัยนั้นเป็นผู้สอน อีกทั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจนำวิชายูโดเข้ามาฝึกให้กับนักเรียนควบคู่ไปกับการเรียนมวยไทย มวยสากล อีกด้วย (เจือ จักษรักษ์, 2525, ตำรวจ, 2499, 45, 103)

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ 29 สิงหาคม 2477 ลงข่าวโครงการพลศึกษาแห่งชาติ และหนังสือมนุสสปฏิวัติ (2482)

รัฐกับการสร้าง “กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน”

แนวความคิดในการสร้างพลเมืองใหม่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ประกอบด้วยการสร้างร่างกายพลเมือง 4 ประการที่สำคัญ

ประการแรก เป็นการสร้างประชากรรุ่นใหม่ที่เน้นการเพิ่มจำนวนประชากรจากพ่อแม่ที่แข็งแรง

ประการที่สอง การเน้นสุขอนามัยของพลเมืองให้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบริหาร เล่นกีฬา และเดินทางไกลเพื่อสร้างร่างกายที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีการสร้างรูปร่างที่เหมาะสม ด้วยการกำหนดขนาดมาตรฐานของทรวดทรง

ประการที่สาม สร้างระเบียบวินัย ในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เด็กและเยาวชนได้รับความสนใจมาก มีความพยายามที่จะให้ความรู้ อบรม เลี้ยงดูเด็ก จิตวิทยาและการพัฒนาการเด็กเพื่อสร้างพลเมืองที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

นอกจากมีการรณรงค์ขจัดความเชื่อที่งมงายในชีวิตประจำวัน เช่น การสัก การถือฤกษ์ยาม จัดระบบแวลาการทำงาน การพักผ่อน การใช้เวลาว่าง

ประการที่สี่ เน้นร่างกายให้เป็นสิ่งสะท้อนความเป็นอารยะของจิตใจ และมีการรณรงค์การตกแต่ง ปรับปรุง ดัดแปลงร่างกาย ผ่านการแต่งกาย และการมีมารยาทเพื่อแสดงความเจริญทางจิตใจของพลเมืองไทย (ก้องสกล กวินรวีกุล, 2545)

นอกจากนี้ จอมพล ป.ยังมีจดหมายถึงหลวงวิจิตรฯ สาระสำคัญคือ เขาเห็นด้วยกับแนวคิด มนุสสปฏิวัติ และเสริมว่า การปฏิวัติ 2475 นั้นเป็นเพียงการเปิดฉากแรกเพียงเล็กน้อยของการปฏิวัติที่จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชน หากการปฏิวัติที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริงแล้วนั้น ต้องปฏิวัติที่ตัวบุคคลด้วย (ป.พิบูลสงคราม, 2482)

ดังนั้น จดหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตัวบุคคล ร่างกายของพลเมืองกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชาติอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลของเขา

ร่างอุดมคติตามแบบเก่าและแบบใหม่

ชาติที่เข้มแข็งต้องมีพลเมืองที่แข็งแรง

นโยบายการสร้างชาติให้เข้มแข็งเริ่มต้นจากการสร้างตนเอง และสร้างครอบครัว เมื่อตนเองและครอบครัวเข้มแข็งแล้ว และเมื่อชาติเป็นผลรวมของพลเมือง ชาติย่อมแข็งแกร่งตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ หนทางเบื้องต้นในการสร้างชาติจึงเริ่มต้นจากการสร้างพลเมืองให้บริโภคอาหารที่ถูกหลักการ มีสุขภาพพลานามัยดี มีการออกกำลังกาย มีการพักผ่อน มีจิตใจให้แจ่มใส

กายภาพที่แข็งแกร่งและจิตใจที่แจ่มใสของพลเมืองใหม่นี้เป็นภาพสะท้อนจากทัศนะของหลวงวิจิตรฯ ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ร่างกายสะโอดสะองอ้อนแอ้นอรชร และไม่ชื่นชมการทำงานหนักเมื่อครั้งเก่า ดังที่ว่า

“…ตรงกันข้าม (สังคมไทย) กลับสรรเสริญคนนอนสบายไม่ทำอะไร ว่าเป็นผู้มีบุญที่ได้ก่อสร้างมาแต่ปางก่อน และประณามผู้ทำงานเหนื่อยยากว่าเป็นผู้มีกรรมทำความชั่วร้ายมาแต่ชาติโน้น เนื่องจากที่สอนกันมาว่า คนนอนสบายเป็นผู้มีบุญ และคนทำงานเป็นผู้มีกรรมเช่นนี้ จึงเกิดมีคติอันน่าชังอีกอย่างหนึ่งว่า คนนอนสบายเป็นคนชั้นสูง คนทำงานลำบากตรากตรำเป็นคนชั้นต่ำ…” (หลวงวิจิตรฯ, 2482, 17)

ร่างกายของพลเมืองที่แข็งแรงบึกบึนจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชาติ ด้วยการส่งเสริมให้พลเมืองใหม่ มีร่างกายใหญ่โตสมจะเป็นนักรบ เป็นกำลังแรงงานที่เข้มแรงในการสร้างชาติ ด้วยการพัฒนาปรับปรุงร่างกายที่ไม่สมส่วน ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถูกโภชนาการที่สืบทอดมาให้กลายเป็นร่างกายใหม่ตามอุดมคติของรัฐบาลตามระบอบใหม่ต่อไป (ก้องสกล, 34)

ดังนั้น สำหรับระบอบประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนหาใช่เส้นผมหรือเส้นขนของร่างกายของบ้านเมืองตามคติครั้งการปกครองเดิม แต่ประชาชนประกอบกันขึ้นเป็นชาติ และชาติที่แข็งแกร่งจำเป็นต้องมีพลเมืองที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายที่เข้มแข็งและจิตใจที่แจ่มใส ดังนโยบายการสร้างพลเมืองใหม่ที่สืบต่อมาจากรัฐบาลพระยาพหลฯ และนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในต้นทศวรรษ 2480 นั่นเอง

ร่างกายของตำรวจระบอบใหม่-เก่า และขุนศรีศรากร
จอมพล ป. ผู้นำที่ต้องการสร้างชาติขึ้นใหม่
จดหมายของจอมพล ป.ถึงหลวงวิจิตรฯ ที่แสดงความเห็นด้วยกับปาฐกถามนุสสปฏิวัติ
เหรียญสร้างชาติ ที่รัฐบาลจอมพล ป.ทำแจกจ่ายประชาชนเมื่อ 2483