คณะทหารหนุ่ม (30) | ปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลนายธานินทร์ และการขึ้นสู่อำนาจ “ทหารหนุ่ม”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ธง แจ่มศรี บันทึกเรื่องการยึดภาคอีสานต่อไปไว้ว่า…

“ในเรื่องเวียดนาม ที่เราไม่ยอมรับก็คือเวียดนามเสนอเราว่า เขาจะส่งทหารลาวจากชายแดนเข้ามาช่วยเราปลดปล่อยทางชายแดนลาวกัมพูชา เราเองก็ไม่เห็นด้วย การส่งกำลังเข้ามาอย่างนี้ถึงจะเป็นลาว พอผ่านชายแดนเข้ามาปุ๊บ มวลชนเราก็ดูออกทันทีว่าไทยหรือลาว ทางจัดตั้งเราพิจารณาว่ามันมีแต่เสีย มันเหมือนกับชักศึกเข้าบ้าน พวกเราจะกลายเป็นผู้ขายชาติ อีกอย่างทางรัฐบาลถึงแม้ว่าเขาจะสู้กองทัพเวียดนามไม่ได้ก็ตาม แต่เขาก็คงจะต้านอย่างสุดฤทธิ์”

“สรุปก็คือ กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือของฝ่ายเวียดนามและลาวเช่นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป และเข้าข่ายนโยบายปฏิวัติแบบส่งออก จึงหาเหตุผลปฏิเสธต่อฝ่ายเวียดนามด้วยมิตรภาพว่า ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอขอบคุณ แต่ยังมุ่งหวังที่จะใช้ความพยายามปฏิวัติด้วยตนเองก่อน”

จึงเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เวียดนามและลาวมีแผนจะบุกไทยเพื่อยึดภาคอีสานอย่างแน่นอนหลังความสำเร็จในการรวมชาติอินโดจีน

 

“การเมือง-การทหาร” ในไทย

หลังปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 แล้ว เดือนตุลาคม พ.ศ.2521 ปีถัดมา แกนนำนายทหารหนุ่มต่างดำรงตำแหน่งดังนี้…

พ.ท.จำลอง ศรีเมือง ประจำกองแผนและโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหารกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 31 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ นายทหารคนสนิทผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.บวร งามเกษม รองผู้บังคับทหารปืนใหญ่กองพลทหารม้า พ.ท.บุญยัง บูชา ผู้บังคับกองพัน กรมทหารราบที่ 11 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ พ.อ.บุญศักดิ์ โพธิ์เจริญ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ กองพลทหารราบที่ 4 พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 2 กองพลที่ 2 พ.อ.ปรีดา รามสูตร รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 5 ปัตตานี พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์

พ.อ.วรวิทย์ พิบูลศิลป์ หัวหน้ากองยุทธการ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา เสนาธิการกรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ท.สกรรจ์ มิตรเกษม ผู้บังคับกองพันทหารขนส่งที่ 2 (ผสม) พ.ท.สาคร กิจวิริยะ ผู้บังคับกองพันทหารสารวัตรที่ 11 พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ พ.ท. ม.ร.ว.อดุลเดช จักรพันธุ์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

การเข้ามีบทบาททางการเมืองของแกนนำคณะทหารหนุ่มซึ่งสามารถส่งผลต่อยศและตำแหน่งในกองทัพบกเริ่มเป็นที่จับตามองของนายทหารรุ่นพี่ โดยเฉพาะตำแหน่ง “ผู้บังคับการกรม” และ “รองผู้บัญชาการกองพล” เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งคุมกำลังที่สูงขึ้นต่อไปตามลำดับ

 

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

เหตุการณ์เวียดนามบุกกัมพูชาเมื่อปลายปี พ.ศ.2521จะยิ่งทำให้บทบาทของคณะทหารหนุ่มซึ่งควบคุมบังคับบัญชาหน่วยรบโดดเด่นขึ้นโดยเฉพาะ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รับผิดชอบชายแดนติดกับกัมพูชาจะยิ่งมีบทบาทอย่างโดดเด่น

จนได้รับการขนานนามว่า “วีรบุรุษตาพระยา” กับตำนานเล่าขานที่ยังคงอยู่จนทุกวันนี้

 

เวียดนามบุกกัมพูชา

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามเหนือกับเขมรแดงไม่ราบรื่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 ระหว่างการร่วมกันขับไล่สหรัฐ โดยมีการปะทะกันเองบ่อยครั้ง

ครั้นเมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.2518 รัฐบาลระบอบใหม่ของกัมพูชา “เขมรแดง” ก็เริ่มลดอิทธิพลของเวียดนามในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา กลุ่มนิยมเวียดนามในพรรคถูกขับออกจากพรรค นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฟามวันดง และเลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์คือ เลดวน ได้ประณามพล พต และเอียง ซารี 2 ผู้นำคนสำคัญของเขมรแดงว่าเดินตามก้นจีน

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2520 ครบรอบ 2 ปีในการบุกยึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนาม รัฐบาลเขมรแดงได้บุกโจมตีและเข้ายึดจังหวัดอังเกียงและจังหวัดเจาดอก ของเวียดนาม สังหารชาวเวียดนามไปกว่า 100 คน

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2520 เวียดนามส่งทหารขับไล่กองทัพเขมรแดงในพื้นที่ยึดครองและเรียกร้องให้มีการเจรจาในระดับสูง

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2520 รัฐบาลเขมรแดงประกาศให้เวียดนามถอนตัวออกจากพื้นที่พิพาทและกำหนดเขตปลอดทหาร เวียดนามปฏิเสธข้อเสนอ

กันยายน พ.ศ.2520 รัฐบาลเขมรแดงส่งทหารข้ามพรมแดนไปโจมตีชาวเวียดนามอีก ทำลายหมู่บ้านไป 6 แห่งในจังหวัดซองทับ และรุกเข้าไปในจังหวัดต่ายนิญ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไป 10 กิโลเมตรจากพรมแดนของทั้งสองประเทศ สังหารชาวเวียดนามไปกว่า 1,000 คน

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2520 เวียดนามโต้ตอบด้วยการส่งทหารกว่า 60,000 คนบุกข้ามพรมแดนเข้าไปในกัมพูชา สามารถเอาชนะกองทัพเขมรแดงได้อย่างรวดเร็ว จนบุกเข้ายึดครองจังหวัดสวายเรียงของกัมพูชาได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเขมรแดงเจรจา

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2520 รัฐบาลเขมรแดงออกแถลงการณ์ให้เวียดนามถอนทหารออกไปจากดินแดนกัมพูชา

มกราคม พ.ศ.2521 เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา โดยมีการประหารนักโทษจำนวนมาก มีชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนามรวมทั้งชาวกัมพูชาที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของรัฐบาลเขมรแดงอพยพติดตามกองทหารเวียดนามเหนือ…

หนึ่งในนั้นคือนายฮุน เซน

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 เวียดนามรุกแตกหักด้วยการส่งกำลังทหาร 150,000 คน เข้าสู่ดินแดนกัมพูชา สนับสนุนด้วยการโจมตีทางอากาศเต็มรูปแบบ แม้เขมรแดงจะได้รับความช่วยเหลือจากจีนแต่ต้านทานกองทัพเวียดนามได้เพียง 2 สัปดาห์ก็พ่ายแพ้ จึงถอยทัพไปทางตะวันตกมุ่งสู่พื้นที่ชายแดนติดประเทศไทยเตรียมเข้าสู่สงครามกองโจร

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2522 กองทัพเวียดนามเข้ายึดกรุงพนมเปญ และจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” โดยมีเฮง สัมริน เป็นประมุข

 

“ปฏิกิริยานานาชาติ”

มกราคม พ.ศ.2522 หลังกรุงพนมเปญแตก ฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) มีเจ้านโรดม สีหนุ เป็นตัวแทน ได้เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่สหภาพโซเวียดและเชโกสโลวะเกียคัดค้าน แต่สหประชาชาติก็รับคำร้องและจัดให้มีการประชุม

ในที่ประชุม เจ้านโรดม สีหนุ ปฏิเสธหัวข้อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขมรแดง โดยยกประเด็นกล่าวหาว่าเวียดนามทำลายอธิปไตยของกัมพูชา เรียกร้องให้สมาชิกสหประชาชาติระงับความช่วยเหลือทั้งสิ้นต่อเวียดนาม และไม่รับรอง “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ของเฮง สัมริน ที่สถาปนาโดยเวียดนาม

ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคง 7 ประเทศ เสนอให้มีการสงบศึก และให้ถอนกองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกจากกัมพูชาซึ่งได้รับการรับรองโดย จีน ฝรั่งเศส นอร์เวย์ โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

ขณะที่สหภาพโซเวียตและเชโกสโลวะเกียไม่ให้การรับรองข้อเสนอนี้ โดยถือว่าเวียดนามไม่ได้รุกรานกัมพูชา แต่เป็นความต้องการที่จะหยุดยั้งระบอบพล พต ที่บ่อนทำลายความมั่นคงของอินโดจีน