แง่คิด หมูกระทะ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

ดินฟ้าอากาศบ้านเรานี้หาอะไรแน่นอนไม่ค่อยจะได้นะครับ แค่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายคนก็ปรารภว่าเดือนอะไรมีตั้งสามฤดู ทั้งๆ ที่ตามปกติแล้วเดือนดังกล่าวน่าจะเป็นช่วงเวลาปลายฤดูหนาว แต่วันดีคืนดีฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่เสียอย่างนั้น เล่นเอาการจราจรทุลักทุเลไปหนึ่งวันเต็ม บางวันก็ร้อนจี๋จนนึกว่าถึงเดือนเมษายนแล้วหรือยังไง

แต่พอช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์อากาศก็กลับมาเย็นอีกครั้งหนึ่ง เย็นนิดเย็นหน่อยก็ยังดีกว่าไม่เย็นเลยจริงไหมครับ

เพื่อฉลองอากาศเย็นที่มีมาวูบหนึ่ง ผมชักชวนกระบวนการกินข้าวเย็นของผมไปกินหมูกระทะมาหนึ่งมื้อ โดยเลือกกินร้านเปิดใหม่แถวบ้านของตัวเองนี้แหละ ขับรถไป 5 นาทีก็ถึงร้านแล้ว

นี่ยังเขินอายไม่ใช่เล่นที่จะบอกว่า มื้อค่ำดังกล่าวกับหมูกระทะเป็นการกินหมูกระทะครั้งแรกในชีวิตของผม ทั้งๆ ที่อาหารเมนูนี้ท็อปฮิตติดอันดับของเมืองไทยมาเกินกว่าสิบปีแล้ว

สาเหตุไม่ใช่อะไรหรอกครับ ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่าร้านหมูกระทะส่วนใหญ่นั้นเป็นร้านกลางแจ้ง เพราะเป็นอาหารการกินที่ต้องจุดไฟให้ลุกโชนอยู่ใต้กระทะ การกินหมูกระทะจึงมีทั้งกลิ่นและควันเป็นธรรมดา ผมเองเป็นมนุษย์ขี้ร้อน ถ้ามีทางเลือกได้ก็อยากกินอาหารโดยนั่งสบายๆ ในห้องปรับอากาศ เหตุผลมีอย่างนี้จึงรั้งรอมานาน

จนอากาศเย็นมาจ่ออยู่ตรงประตูบ้าน ผมจึงยกขบวนไปกินหมูกระทะดังกล่าวมาแล้ว

 

อีกอย่างหนึ่งก็ยอมรับโดยหน้าชื่นตาบานครับว่า ได้ยินชื่อเสียงของหมูกระทะมาจากหลายกระแส ตั้งแต่คนโน้นคนนี้มาบอกเราว่าหมูกระทะร้านนี้อร่อย ควรจะไปลองกินนะ เปิดทีวีดูซีรีส์เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ดาราตัวเล็กตัวน้อยในละครก็กินหมูกระทะกันอยู่แทบจะทุกวัน

ทำให้เราอดนึกครึ้มใจไม่ได้ว่า ถ้าเรากินหมูกระทะแล้วอาจจะได้เป็นดารากับเขาบ้าง

ข้อสำคัญที่สุด คือตั้งแต่ผมทำงานอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมเมื่อนานปีมาแล้ว มีศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกอยู่ที่ ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่นั่นมีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยแปลกใหม่อยู่เสมอ

โดยผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ชื่อคุณทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับผมดี ป้ามลเล่าให้ผมฟังเสมอว่า เวลามีสมาชิกหน้าใหม่มารายงานตัวเข้าเป็นสมาชิกของบ้านกาญจนาภิเษก ป้ามลมักจะมอบหมายให้เด็กๆ ทั้งเก่าและใหม่ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของบ้านกาญจนาภิเษก ยกโขยงไปกินหมูกระทะแถวๆ นั้น เป็นกิจกรรมทำนองรับเพื่อนใหม่

การไปกินหมูกระทะนี้ไม่ต้องมีป้ามลไปด้วย ไม่ต้องมีครูไปด้วย หากแต่เด็กๆ ไปกันเองโดยลำพัง

เพียงแค่นี้ก็เป็นการแสดงความไว้วางใจอย่างยิ่งยวดแล้ว

ด้วยสตางค์ค่าบุฟเฟ่ต์หมูกระทะเพียงไม่กี่มากน้อย ป้ามลก็ได้ใจเด็กไว้ครบทุกคน ไม่มีตกหล่น

เห็นไหมครับว่าหมูกระทะมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ ผมจึงไม่ควรละเลยหมูกระทะอีกต่อไป

 

เมื่อวานนี้ที่ผมไปกินหมูกระทะเป็นคราวแรกด้วยตัวเอง สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในใจคือ เจ้าหมูกระทะนี้ทำไมช่างคล้ายคลึงใกล้เคียงกับอาหารเมนูหนึ่งซึ่งผมเคยกินเมื่อตอนเป็นเด็ก นั่นคือเมนูที่เรียกว่า “เนื้อเจงกิสข่าน”

ในประวัติศาสตร์และในโลกแห่งความเป็นจริง จักรพรรดิของชาวมองโกลที่มีพระนามว่า เจงกิสข่าน และดำรงพระชนม์อยู่เมื่อประมาณ 800 ปีเศษมาแล้วท่านจะเคยเสวยเนื้อแบบที่ว่านี้หรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ได้ และทำไมเนื้อเจงกิสข่านถึงมาอยู่ในเมืองไทยได้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

รู้แต่ว่าเมื่อตอนผมเป็นเด็กอยู่ชั้นประถมหรือมัธยมต้น บ้านของผมก็มีกระทะสำหรับกินเนื้อเจงกิสข่านอยู่ประจำบ้าน หน้าตาก็คือกระทะที่กินหมูกระทะนี่แหละ กล่าวคือ เป็นภาชนะทรงกลม ตรงกลางนูนขึ้น มีช่องเล็กๆ สำหรับให้ความร้อนรอดมาจากเชื้อเพลิงที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาตอนบนเพื่อทำให้เนื้อที่เราวางปิ้งลงบนส่วนที่นูนนี้สุก ส่วนกระทะตอนล่างที่เป็นวงกลมโดยรอบส่วนที่นูนขึ้นตรงกลาง มีความลึกไม่มากไม่น้อย พอให้มีน้ำซุปขลุกขลิกอยู่ได้ และที่แอ่งน้ำซุปนี่เองเราก็ใช้เป็นที่ต้มผักต่างชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ข้าวโพด

ที่เขียนมานี้ถ้าความทรงจำผิดพลาดประการใด แม่ของผมซึ่งเป็นผู้บัญชาการเมนูเนื้อเจงกิสข่านครั้งนั้นคงจะมาเข้าฝันเพื่อให้ผมแก้ไขให้ถูกต้องในคอลัมน์คราวหน้านะครับ

 

เมื่อนึกรำลึกชาติได้อย่างที่ว่าแล้วก็คิดไม่ออกเลยว่าแล้วเนื้อเจงกิสข่านต่างกับหมูกระทะอย่างไร

เพราะตามความทรงจำของผมแล้วก็ใช้กระทะแบบเดียวกันนี่หว่า

ความแตกต่างน่าจะมีอยู่ตรงเนื้อสัตว์ที่นำมาปิ้งบนเตาดังกล่าวกระมัง เพราะถ้าเป็นเนื้อเจงกิสข่าน ชื่อก็บอกและเป็นการบังคับอยู่แล้วว่าต้องเป็นแต่เนื้ออย่างเดียว หรือมีเนื้อเป็นหลัก บางทีสมัยนี้จะมีคนที่ตั้งข้อรังเกียจเนื้อวัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

หมูจึงเป็นทางเลือกที่เปิดกว้างดีกว่าสำหรับผู้ประกอบการที่จะเรียกลูกค้าได้มาก อีกข้อหนึ่งคือเนื้อวัวมีราคาแพงกว่าหมู ถ้าจะให้ได้ลูกค้าซึ่งเป็นลูกเด็กเล็กแดงกระเป๋าสตางค์มีเงินไม่มาก ชื่ออาหารที่เรียกว่า “หมูกระทะ” ก็น่าจะตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่ง

แถม “เจงกิสข่าน” เป็นใครก็ไม่รู้ กว่าจะซักประวัติกันจบ หิวข้าวจนเป็นลมพอดี

แต่จากประสบการณ์การไปกินหมูกระทะครั้งแรกที่ว่านี้ ผมพบว่าร้านที่ผมไปกินมาไม่ได้มีแต่เพียงแค่หมูอยู่ในเมนูให้เราเลือกสั่งเพียงอย่างเดียว หากแต่มีเนื้อสัตว์อย่างอื่นอีกมาก เช่น ไก่ แมงกะพรุน หอยแมลงภู่ แต่ก็นั่นแหละนะครับ เมนูที่เป็นหลักก็ต้องอยู่ที่หมูเป็นธรรมดาจึงจะสมฉายาหมูกระทะ เขามีทั้งหมูหมัก สันคอ เบค่อน และอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะเมื่อตั้งวงหมูกระทะแล้วช่วยกันปิ้งหมูกระทะ วางหมูลงตรงมุมโน้นมุมนี้ ใช้ตะเกียบคีบให้หมูโดนความร้อนทั่วถึง กลับไปกลับมา เอาผักนานาชนิดใส่ลงในน้ำซุป น้ำจิ้มของร้านที่ไปรับประทานมาคราวนี้ก็อร่อยดีเหลือใจ เพราะไม่เผ็ดจนถึงขนาดกินไม่ได้

แต่เมื่อนำไปรับประทานกับผักที่ต้มสุกแล้วหรือนำหมูที่สุกแล้วมาจิ้มลงในถ้วยน้ำจิ้ม สวรรค์ของนักกินอย่างผมก็เกิดขึ้นในทันใด

 

ท่ามกลางบรรยากาศอย่างนี้คิดถึงลูกหลานที่บ้านกาญจนาภิเษกและเข้าใจลึกซึ้งเลยว่า หมูกระทะช่วยกระชับบรรยากาศของสมาชิกเก่าใหม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกันในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร

คุยกันไปพลาง ปิ้งหมูไปพลาง ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย หาเรื่องสนุกมาคุยประกอบวงหมูกระทะ เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษที่ผมและคณะนั่งล้อมวงหมูกระทะอยู่ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน ผมนึกอภิปรายกับตัวเองว่า โลกของเรานี้เปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปอยู่เรื่อยๆ จนชั้นแต่อาหารการกินก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่น้อย

จากเนื้อเจงกิสข่านในวันโน้นก็ได้กลายมาเป็นหมูกระทะในวันนี้

เมนูอาหารสองรายการนี้ถึงแม้จะคล้ายกันมากแต่ก็ไม่เหมือนกันสนิท

พ่อค้าแม่ขายก็ต้องคิดปรับรายการอาหารของตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง คือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้า จะเป็นคนหัวดื้อขายเนื้อเจงกินข่านซึ่งมีคนกินน้อย แถมยังราคาแพงกว่าหมูกระทะ ตัวเองก็ไปไม่รอด

ถ้าเราไม่ยึดติดกับอะไรมากนัก เพ่งดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่าอาหารสองอย่างนี้ แท้ที่จริงก็เป็นหลักการอย่างเดียวกัน เจ้ากระทะที่ว่านั้นผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใครเป็นคนคิดประดิษฐ์สร้างขึ้น ชะดีชะร้ายจะเป็นของไทยเราเองคิดขึ้นกระมัง แต่ของทุกอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่คงสถิตอยู่กับที่ หากแต่เปลี่ยนและปรับตัวเองไปเรื่อยเพื่อความอยู่รอด

แม้ในทางพระพุทธศาสนายังสอนเราเลยว่า สรรพสิ่งนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

 

ผมจึงไม่ร้องไห้อาลัยอาวรณ์กับชื่อเนื้อเจงกิสข่าน และเปิดใจผมเองให้รู้จักกับหมูกระทะได้โดยไม่ยากลำบากอะไร

แถมในอนาคต ถ้าหมูกระทะจะล้มหายตายจากไปจากเมนูอาหารของคนไทย ผมก็พร้อมจะกินเมนูอาหารใหม่ที่มาถึงในวันข้างหน้าโดยไม่บิดพริ้ว

กว่าบทความที่ผมเขียนวันนี้จะลงพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ น่าจะใกล้ยุบสภาเต็มที หรือบางทีจะยุบสภาไปแล้วสองสามวันก็ได้

ขอให้นักการเมืองทุกท่านนึกถึงเนื้อเจงกิสข่านและหมูกระทะเอาไว้ให้มาก

พร้อมกับท่องคาถา “เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” โดยพร้อมเพรียงกัน เทอญ