ผวาล้ม พ.ร.ก.อุ้มหาย ชิงอุ้มส่งศาลรธน.ตีความ ‘อุ้ม’ นายกฯ-รบ.หนีรับผิด

28 มีนาคม วันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่สภาชุดนี้ควรจะได้ประกาศศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรที่พิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ โดยการคว่ำ พ.ร.ก.ชะลอใช้กฎหมายอุ้มหาย เพื่อให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายทรมานฯ มีผลบังคับใช้ทันที

แต่กลับกลายเป็นว่า วิปรัฐบาล และ ส.ส.รัฐบาล 3 พรรค ได้เล่นเกมเตะถ่วง เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายฯ ใช้กลเกมนอกสภา ล่าชื่อ 100 ส.ส. เพื่อส่ง พ.ร.ก.ชะลอใช้กฎหมายอุ้มหาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อสกัดโหวตคว่ำกฎหมาย

การเดินเกมของวิปรัฐบาล โดยนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล เกิดขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคฝ่ายค้าน และพรรครัฐบาลหลายพรรคส่งสัญญาณคว่ำ พ.ร.ก.ชะลอใช้กฎหมายอุ้มหาย อย่างชัดเจนล่วงหน้า

28 กุมภาพันธ์ การอภิปรายไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ชะลอใช้กฎหมายอุ้มหายของ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย

ส.ส.ทั้งปีกฝ่ายค้านและปีกรัฐบาล อภิปรายอย่างหนักแน่น และฉายด้านมืดของการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ออกไปถึงตุลาคม 2566 อย่างชัดแจ้ง เป็นเอกฉันท์

เสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล กลบข้ออ้างความไม่พร้อมของตำรวจ ที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชี้แจงต่อสภา ลงอย่างสิ้นเชิง จนมองไม่เห็นเหตุผลในการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย

 

เมื่อรู้ว่าเสียงในสภาคว่ำ พ.ร.ก.ชะลอการใช้กฎหมายอุ้มหายแน่นอน วิปรัฐบาลเดินเกมนอกสภาอย่างรวดเร็ว รวบรวมชื่อ 100 ส.ส. ชิงส่งกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นวิกฤตการเมือง ไม่ต้องยุบสภาหรือลาออกให้เสียหน้า

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลว่า เป็นช่วงวิกฤตสุดท้าย ถ้า พ.ร.ก.ชะลอการใช้กฎหมายอุ้มหายไม่ได้รับการอนุมัติจากสภา นายกฯ จะต้องรับผิดชอบโดยตรง จึงเป็นเรื่องไม่สวยงาม หากพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาทิ้งพี่ ทิ้งเพื่อนในช่วงวิกฤตเช่นนี้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ออกมาตั้งคำถามกับทัศนะของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิปรัฐบาล ในทันทีว่า “ตกลงแล้วพรรคนี้ พี่และเพื่อน สำคัญกว่าประชาชนหรืออย่างไร?”

ทั้งๆ ที่รู้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายทรมาน คือการสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพ เมื่อประชาชนถูกจับกุมจะไม่ถูกซ้อม ทรมานให้สารภาพ ไม่ถูกคลุมถุงดำ ไม่ถูกอุ้มหาย แต่กลับเลือกหน้าตาของประยุทธ์ ไม่ให้ถูกคว่ำ พ.ร.ก. แต่ผลักให้ประชาชนต้องเสี่ยงเอาดาบหน้ากับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ทิ้งพี่ ไม่ทิ้งเพื่อน แต่ทิ้งประชาชน

พร้อมกับเปิดเผยชื่อ 3 พรรคใหญ่ที่ร่วมลงชื่อส่ง พ.ร.ก.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตัดหน้าการลงมติคว่ำ พ.ร.ก. คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

 

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายทรมานในทันที เนื่องเพราะกฎหมายฉบับนี้สร้างหลักประกัน คุ้มครองสิทธิประชาชนหลายประการ

หนึ่ง เมื่อมีการจับกุมหรือควบคุมตัว จะต้องมีการบันทึกภาพและเสียง

สอง ต้องมีการบันทึกข้อมูลผู้ถูกจับกุม

และสาม ถ้าญาติหรือทนายความของผู้ถูกจับกุมขอข้อมูล เจ้าหน้าที่ที่จับกุมจะต้องให้ข้อมูล ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชน ที่หมายถึงเราทุกคน จากการถูกอุ้มหายทรมาน

พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ได้ให้เวลา 120 วันในการเตรียมการ

แต่เมื่อเวลาใกล้ถึง 120 วัน นายกรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้สาระสำคัญเหล่านี้ออกไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566

ซึ่งเท่ากับปล่อยให้การอุ้มหายทรมานทำได้ต่อไปอีก 8 เดือน

นี่หมายความว่านายกฯ ไม่ได้คุ้มครองประชาชน แต่กำลังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่อุ้มหายทรมานประชาชน?

การให้เหตุผลว่าจัดหากล้องไม่ทันนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะพระราชบัญญัติป้องกันการอุ้มหายทรมานไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้กล้องอะไร

ส่วนเหตุผลเรื่องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทันก็ไม่ใช่เหตุผล เพราะสาระสำคัญที่เจ้าหน้าที่ต้องทำก็มี 3 ประการข้างต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไรเลย

 

เช่นเดียวกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อ่านเกมว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการช่วยเตะถ่วงให้ พ.ร.ก.ที่ออกมาโดยมิชอบ สามารถบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน และคนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญคือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ หากสภาโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ของรัฐบาล

ทีมงานพรรคก้าวไกลได้เปิดข้อมูล กรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนดไปแล้ว 5 ฉบับ (ตั้งแต่ปี 2562-2566) ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนสรุปว่า การเล่นเกมการเมือง โยนเผือกร้อนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ และยื้อเวลาของตัวเองในการลงมติไปอีกจนกว่าจะจบสมัยเลือกตั้งหน้า ซึ่งคาดว่ากว่าจะประชุมสภาได้อย่างเร็วที่สุดคือปลายเดือนมิถุนายน

หมายความว่ากฎหมายฉบับที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องอุ้มหายไปอีกถึงอย่างน้อย 4-5 เดือน เหตุผลในการตัดสินใจคือเกมการเมือง แต่ผู้รับผลของเกมการเมืองคือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จะว่าไปแล้ว เกือบตลอด 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ รัฐบาลประยุทธ์ใช้กลไกระบบและองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในสภาและนอกสภามาโดยตลอด จนเอาชนะฝ่ายค้านได้ทุกครั้ง

ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ชัยชนะของรัฐบาลประยุทธ์ ต้องแลกด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน