ลด ‘อนุรักษนิยม’ เพิ่ม ‘เสรีนิยม’ ‘ป้อม’ เอียงแก้ม ให้ทุกขั้ว ‘หอม’

ในประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มีพัฒนาการการต่อสู้ทางการเมือง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน การจะแสดงออกหรือบอกว่าตัวเองสังกัดทางการเมืองใดเป็นเรื่องปกติมากๆ

เราจึงได้เห็นการแข่งขันทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายขวาแข่งกับฝ่ายซ้าย พรรคอนุรักษนิยมแข่งกับพรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษนิยมกับพรรคแรงงาน เช่น ในหลายๆ ประเทศ อย่างสหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือในยุโรปอีกหลายประเทศ

เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเหล่านั้น ความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย หรือการเห็นต่างกันในแง่อุดมการณ์ เป็นเรื่องปกติ ขอเพียงมีหลักการพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน เช่น การเคารพสิทธิ การเชื่อในหลัก 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง หลักเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมือง ภายใต้รัฐที่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นต้น

การเป็นอนุรักษนิยมไม่ใช่เรื่องน่าเกียจ เพราะหลักใหญ่ใจความของอนุรักษนิยมคือการบอกว่าอะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ถือว่าดี ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

ขณะที่การเป็นเสรีนิยม คือมุมมองทางโลกที่ตั้งอยู่บนความคิดเสรีภาพและความเสมอภาค และก็ไม่ได้หมายความถึงการล้มล้างทุกอย่างที่เคยมีมาอย่างไร้เหตุผล แต่เมื่อถึงจุดที่สิ่งที่เป็นอยู่มีปัญหา ก็ต้องเปิดกว้างต่อการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ด้วยโลกทัศน์ใหม่ ยึดความหลากหลาย ไม่ปิดกั้น

จะเป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมจึงไม่ใช่เรื่องใครดีกว่าใคร แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของปัญหาและการเลือกว่าจะหยิบใช้คุณค่าใดมาแก้ปัญหา

 

แต่ในสังคมไทยต้องยอมรับว่าเรามีพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่มากนัก เพราะเราเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นี้เอง

การเติบโตประชาธิปไตยไทยจึงกระท่อนกระแท่น โลกเก่ากับโลกใหม่ต่อสู้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่อยู่ในจุดที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะวางกติกาการอยู่ร่วมกันทางการเมืองอย่างไร บางช่วงเคยเกือบจะลงตัว แต่ก็ไม่ลงตัว ต้องมีอันเป็นไปตลอด

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง 2566 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผลิตออกมาภายใต้รัฐบาล คสช. ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แสดงออกซึ่งความขัดแข้งของ 2 ขั้วแนวคิดทางการเมือง

แนวคิดทางการเมืองที่ว่านั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ตามการนิยามของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งใน 3 ป. ร่วมหัวจมท้ายทางการทหารและการเมืองมากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะร่อนจดหมายฉบับแรกเปิดใจต่อสาธารณะ แยกทางกันเดินในทางการเมืองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ตามมาด้วยการเปิดใจผ่านจดหมายฉบับที่ 2 ชี้ว่าการเมืองไทยถึงจุดที่ต้องการนักการเมืองที่มีความประนีประนอมทางการเมือง ประสานการทำงานได้กับทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

แต่สาระสำคัญอยู่ที่จดหมายเปิดใจฉบับ 3 เพราะเป็นการเปิดเผยเรื่องอุดมการณ์การเมือง วิธีคิดในการอธิบายต้นตอปัญหาการเมืองไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะเป็นการอธิบายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยผ่านกรอบคิดทางอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม

 

พล.อ.ประวิตรเล่าถึงประวัติส่วนตัวของตัวเอง ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นคนที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็น “อีลิต” ของสังคมไทย ตั้งแต่การศึกษาตั้งแต่เด็ก กระทั่งรับราชการทหาร จนเข้าใจวิธีคิดของ “อีลิตไทย” ทั้งในภาคทหาร ราชการและธุรกิจ

พล.อ.ประวิตรยอมรับว่าได้สัมผัสกับบรรยากาศความเป็นอนุรักษนิยมไทยมาตลอดชีวิต กระทั่งสรุปความเห็นเกี่ยวกับอนุรักษนิยมไทยว่า ถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยก็คือคนที่หวังดีต่อประเทศ และมีคนที่มีศักยภาพจำนวนมาก

ขณะที่การเมืองแบบประชาธิปไตย ผลิตนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนมาจากหลากหลายพื้นที่ จำนวนมากเข้ามาสู่ตำแหน่งด้วยกลวิธีทางการเมืองแบบที่ตัวเองชำนาญ การเมืองแบบประชาธิปไตยนี้เองที่ปิดกั้น หรือกดทับอีลิตหรือฝ่ายอนุรักษนิยมไทย จนไม่มีพื้นที่ทางการเมือง หรือพื้นที่ในการร่วมกันพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทางประเทศที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยรัก

แม้ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยจะตั้งพรรคการเมืองลงมาแข่งขันในเวทีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแล้ว ก็ยังสู้ไม่ได้ พวกนักการเมืองอิทธิพล บ้านใหญ่ต่างๆ เก่งกว่าในการเข้ามามีตำแหน่ง จนฝ่ายอนุรักษนิยมไทยไร้อำนาจ บางครั้งก็เข้าแทรกแซงทางการเมือง หรือเห็นดีเห็นงามด้วยกับการแทรกแซงการเมือง ในการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น

รวมถึงการยึดอำนาจในยุค คสช.ด้วยเช่นกัน พล.อ.ประวิตรยอมรับว่า ด้วยความที่เป็นทหารมาทั้งชีวิต ก็เห็นด้วยกับการปฏิวัติว่าเป็นทางเดียวที่จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมที่หวังดีกับประเทศเข้ามามีอำนาจได้

แต่จากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมายาวนานมากกว่า 8 ปี จึงค้นพบว่า ประเทศจะเดินหน้าไปได้ ก็จำเป็นต้องเดินหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน

ดังนั้นแล้ว สำหรับต้นตอความขัดแย้งในการเมืองไทยมุมมอง พล.อ.ประวิตร สรุปรวบยอดได้ว่า เกิดจากฝ่ายอนุรักษนิยมที่หวังดีต่อประเทศชาติ พ่ายแพ้ประชาธิปไตยเสรีนิยม ที่เป็นตัวก่อกำเนิดนักการเมือง

ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายคือการหาจุดร่วมที่ลงตัวอยู่ร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าฝ่ายใดเข้ามามีอำนาจต้องสูญสิ้น นี่จึงเป็นต้นตออุปสรรคการพัฒนาประเทศ กระทบความเชื่อมั่นนานาชาติจนปัจจุบัน

 

จากนั้น พล.อ.ประวิตรก็เปิดใจผ่านจดหมายฉบับที่ 4 เล่าเรื่องจิตวิญญาณแห่งความเป็นอนุรักษนิยมของตัวเอง ว่าเติบโตมาในสังคมอีลิต พบปะเจอคนเยอะ จึงรู้ว่าอีลิตไทยจำนวนมาก หวังดีกับประเทศชาติอย่างสนิทใจจริงๆ พร้อมย้ำว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคาน ปิดกั้นความคิดดีๆ ของอีลิตไทย ไม่กล้าเข้ามาสู่การเมือง

เมื่อมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงเข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเข้ามาใช้ความสามารถร่วมกำหนดทิศทางประเทศด้วย

“แม้จิตวิญญาณผมยังมั่นคงกับสำนึกอนุรักษนิยม แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยประชาธิปไตยเสรีนิยมได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

เป็นความเคลื่อนไหวทางความคิดการเมืองที่น่าสนใจ แม้ตลอด 8 ปีที่ดำรงตำแหน่ง จะไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตรอธิบายปัญหาการเมืองในมิตินี้มาก่อนก็ตาม

ยิ่งมาเจอภาพ พล.อ.ประวิตรเปลี่ยนลุค แต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ ใส่ยีนส์ เดินสวนลุมฯ ไปต่อคิวกินร้านนมกับหลานๆ ลุกขึ้นมาเต้นเพลง “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ที่กล่าวถึงกันทั่วโซเชียล ยิ่งน่าสนใจ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนลุค ใช้เทคนิคการตลาดทางการเมือง คงไม่สามารถเรียกคะแนนนิยมได้เหมือนในอดีต ยิ่งในยุคที่คนตื่นตัวทางการเมืองรับรู้ข่าวสารหลากหลาย แต่วิธีการดังกล่าว ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบแคแร็กเตอร์ทางการเมืองต่างหาก

พูดให้ชัดขึ้นคือ เกิดการเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ป. ที่กำลังแข่งขันทางการเมืองกันในขณะนี้ว่า พล.อ.ประวิตร คือนักการเมืองที่ปรับตัวเข้ากับคนอื่น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หาเสียงอยู่บนฐานคิดว่าองค์ความรู้ตนเองเหนือกว่า จึงเหมาะสมที่จะมาเป็นผู้นำการพัฒนา สังเกตได้จากปฏิกิริยาเมื่อถูกถามสื่อเรื่องนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์สอน มองว่าประเทศไทยไม่ใช่ธุรกิจ ที่จะคิดแบบธุรกิจ แล้วจะมาบริหารได้

นี่ยังไม่เริ่มแข่ง ก็ไปด้อยค่าเขาแล้วชัดๆ

 

ขณะที่ทางฝั่งเพื่อไทย การขยับทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ก็หนีไม่พ้นต้องถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นไปได้ในการจับมือกันในอนาคต โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประวิตรพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม รวมถึงการพยายามตั้งคำถามของจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบจากฝั่งเพื่อไทย

รวมไปกับอาการของเครือข่าย พล.อ.ประวิตร อย่างไพบูลย์ นิติตะวัน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในการการันตีปริมาณ ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร กับอิทธิพลในการยกมือเลือกนายกฯ คนต่อไป ยิ่งชวนให้คิด

ในนาทีนี้ ตำแหน่งทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นการเปิดหน้า ยื่นแก้มไปให้ทุกฝ่ายเข้ามาหอมแก้มนั่นแหละ

แต่มีมุมนักวิชาการที่อธิบายการเคลื่อนของ พล.อ.ประวิตรขณะนี้ที่น่ารับฟัง อย่าง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า ที่จริงประเทศไทยไม่ได้ติดกับดักเสรีนิยม หรืออนุรักษนิยมอะไรหรอก จริงๆ สิ่งที่เราติดกับดักคือ อำนาจนิยม และรัฐประหารนิยมต่างหาก ซึ่งผู้เขียน จม.เปิดผนึก คือ แกนกลางของระบอบอำนาจนิยม/รัฐประหารอันเป็นต้นตอของความขัดแย้งร้าวลึกในสังคมไทยนั่นเอง

 

ยิ่งใกล้เลือกตั้ง อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง ป.ประยุทธ์ กับ ป.ประวิตร มีแนวโน้มจะห่างกันเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือเป็นไปตามธรรมชาติการแข่งขันก็ตาม

ฝ่ายหนึ่งทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ต่อว่าคู่แข่งว่าเก่งแค่ไหน ประเทศไม่ใช่ธุรกิจ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไปไกลกว่า ด้วยการอธิบายภาพรวมความขัดแย้งประเทศ ไม่เดินหนีหรือทำเป็นมองไม่เห็นความขัดแย้ง แล้วพยายามหาพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย

จับตาดูชนิดความต่างของ 2 ป.จากนี้ ชนิดอย่ากะพริบเลยทีเดียว