จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2560

จดหมาย

0 ชัดแจ๋ว

ขับเรือเหาะ ขึ้นไป ก็ไม่เห็น
ส่งโดรนบิน ยังเร้น หาเห็นไม่
จีทีสองร้อย ไม่ชี้ อยู่ที่ใด
ตักน้ำใส่ กะโหลก ชะโงกดู
— ชัด —
ไมตรี รัตนา

ช่าย ชะโงกดู ก็ “ชัด” เลย
ไม่ต้องถึง 6 กะโหลก
แค่ 6 คำถาม ทุกอย่างก็ชัดแจ๋ว
อย่างนี้ ต้องมอบให้ “ขาประจำ” ช่วยตอบ

0 ตอบ 6 คำถาม

ตามที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
โยนหินตั้งคำถามถึงอนาคตการเมืองไทย 6 ข้อนั้น
ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ
ดังนี้
คำถามที่ 1 การที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าการเป็นนักการเมืองต้องกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาให้ประชาชนได้เลือก
ดีกว่ามีนักการเมืองพวกอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นนักการเมือง
เพราะนักการเมืองถึงจะชั่วจะดี ประชาชนก็สามารถตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ได้
คำถามที่ 2 คสช. ไม่มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด
ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น
เพราะ คสช. และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้วางกฎระเบียบใหม่ของสังคม
หาก คสช. อยากจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ ก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดเสีย ณ บัดนี้
อย่าทำตนเป็นอีแอบต่อไป
คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติเลย
ดังนี้
– การแก้ไขปัญหาที่อ้างว่าหมักหมมมานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ วางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU, ICAO ฯลฯ
เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใช้ประชาชนเป็นข้ออ้างเท่านั้น
แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใกล้ชิดรัฐบาลแทบทั้งสิ้น
อีกทั้งเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งการแก้ IUU, ICAO
และไม่เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
แค่เริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศก็ขาดธรรมาภิบาล
ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ประชาชนจะไปคาดหวังการเมืองไทยในอนาคตที่มีประสิทธิภาพที่มาจาก คสช. หรือรัฐบาลนี้ได้อย่างไร
– การทำงานของทุกรัฐบาล แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด แต่นโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ
เพราะไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วม
เป็นสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการ
คำถามที่ 4 ตลอดระยะเวลากว่า 85 ปีของระบอบประชาธิปไตยของไทย
หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง
โดยไม่มีมือที่สามหรืออำนาจแฝงมาคอยควบคุมการจัดตั้งรัฐบาล
ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใด พ.ศ. ใดก็สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพราะนิสัยคนไทยชอบรักสงบ
เว้นแต่พวกที่อยากจะมีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น
ที่มักชอบใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นใหญ่
โดยเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้าง อ้างขจัดความขัดแย้ง อ้างปราบปรามคอร์รัปชั่น ฯลฯ
ณ วันนี้ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยทำไมจึงตกจาก 76 ไปอยู่ที่ 101
คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย
แม้จะขาดประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง
แต่เมื่อถึงเวลาครบวาระ ประชาชนก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหาร
ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบได้ คนไหนดี ประชาชนก็เลือกกลับมาได้
คนไหนไม่ดี ประชาชนก็ไม่เลือกเข้ามา
แต่การพัฒนาประเทศที่ไม่มีความต่อเนื่องที่ผ่านมาเพราะ
คนที่อยากมีอำนาจไม่อยากผ่านการเลือกตั้งต่างหาก
คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุที่พรรคการเมือง นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกตินั้น
ก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ เชื่อมั่น คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีต่างหาก
นายกรัฐมนตรีต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้กับประชาชนแล้วทำไม่ได้บ้าง
เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 2558 ก็เลื่อนมาเป็นปี 2559
ก็เลื่อนมาเป็นปี 2560 ก็เลื่อนไปเป็นปี 2561 และก็ไม่แน่ใจว่าในปี 2562 จะมีรัฐบาลใหม่หรือไม่
เช่นนี้ยังคิดจะมาถามประชาชนอยู่อีกหรือ
การใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบนั้นชอบหรือไม่
การแทรกแซงองค์กรอิสระนั้นมีหรือไม่
การใช้เงินภาษีของประชาชนไปซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในขณะที่ข้าวยากหมากแพงนั้นเหมาะสมหรือไม่
การออกกฎหมายหรือยกเว้นกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุนนั้นชอบหรือไม่ ฯลฯ
ท่านนายกฯ ไม่ต้องมาถามประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร
แต่ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่า “การเสียสัตย์เพื่อชาติ”
นั้นมันคุ้มหรือไม่ต่างหาก…
นายศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

ท่วงท่าของ “ขาประจำ”
อาจรำคาญอก รำคาญใจ เจ้าของคำถามบ้าง
แต่หลัก “ประชาธิปไตยเบื้องต้น” จำต้องทนให้ได้ ไม่ใช่หรือ
เอ๋… ถามไผหว่า