‘ชายแดนใต้’ มีแต่ต้องลุ้น

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘ชายแดนใต้’ มีแต่ต้องลุ้น

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” หัวข้อ “คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกพรรคไหน” มีความน่าสนใจ

การสำรวจชุดหลังของ “นิด้าโพล” เน้นเจาะในพื้นที่น่าสนใจ เช่น จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในแต่ละภาคเพื่อให้ลงลึกในความชัดเจนของความคิดประชาชน โดยจะตั้งคำถามเป็น “3 เรื่อง” นั้นคือ จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี, จะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคไหน และจะเลือก ส.ส.เขตพรรคไหน

การตั้งคำถามแบบนี้คำตอบจะสะท้อนความคิดที่นำมาใช้เลือกตั้งของประชาชน ว่ารวมๆ แล้วมีความแน่วแน่กับพรรคหนึ่งพรรคใด หรือยังไหวเอนไปตามความชอบความชังที่มีต่อตัวบุคคล

ในพื้นที่ใด หากคนที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคที่จะเลือกให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และยิ่งคนที่จะเลือก ส.ส.เขตเป็นพรรคเดียวกัน นั่นย่อมประเมินได้ว่าประชาชนในพื้นที่มีความชัดเจนในการเลือก คือมีพรรคที่ชอบอย่างมั่นคง

แต่หากว่าคำตอบทั้ง 3 เรื่องนี้กระจัดกระจาย ไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ย่อมหมายถึงการตัดสินใจของประชาชนยังไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเพราะยังไม่ตัดสินใจ หรือมีเงื่อนไขอื่น แต่ที่สุดแล้วคือยังไม่หนักแน่นในการเมืองเชิงอุดมการณ์

หลายๆ จังหวัด ผลโพลชัดเจนไปแล้วว่าเป็นพื้นที่ของฝ่ายใด

สำหรับ “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ไม่เป็นอย่างนั้น

 

ในคำถาม “สนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ร้อยละ 19.82 เลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 17.55 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ, ร้อยละ 16.73 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 12.20 ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้, ร้อยละ 9.76 นายพิธา ลิ่มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

แต่เมื่อถามว่า เลือก ส.ส.แบ่งเขตพรรคไหน ร้อยละ 22.64 พรรคประชาชาติ, ร้อยละ 19.64 พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 15.26 พรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 12.91 พรรครวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 10.73 พรรคก้าวไกล

และเมื่อถามถึงการเลือกบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 20.64 พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 19.91 พรรคประชาชาติ, ร้อยละ 14.73 พรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 13.55 พรรครวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 10.73 พรรคก้าวไกล

ผลการสำรวจนี้สะท้อนว่า ยังแทบหาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลยในความรู้สึกนึกคิดของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคหนึ่ง ขณะเลือกตัวบุคคลจากอีกพรรค และให้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์กับอีกพรรคหนึ่ง

 

พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชัดเจนว่ามีความเป็นไปเฉพาะของพื้นที่

และแน่นอนว่าความมั่นคงต่อความหนึ่งเดียวกับอำนาจรัฐนั้นแทบไม่มี

การเลือกตั้งจึงเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะ อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ต้องการสะท้อนให้เห็นการไม่ยอมรับอำนาจรัฐ

หรือเพราะเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดเล็กที่สามารถกดดันให้รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณให้มหาศาล พร้อมกับการอำนวยประโยชน์สารพัดเพื่อเอาใจ

ทำให้การตัดสินใจเลือกต้องมีชั้นเชิงที่จะต้องรักษาอำนาจต่อรองนั้นไว้

ไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งมาครอบงำ จนกลายเป็น “ของตาย”