ภารกิจ 1 ข้อ ผบ.ตร.ยังทำไม่ได้

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ล่วงข้ามพ้นต้นปีมาจนถึงวันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุค “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็น “ผบ.ตร.” ยังคงประสบเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัส

แม้จะมีความพยายามขจัดปัดเป่าเรื่องราวที่เลวร้ายให้ทุเลาเบาลง ด้วยการลงโทษลงทัณฑ์ ตั้งกรรมการสอบ ออกคำสั่งสอย ดังที่ “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง ออกมาแถลงข่าวว่า ได้ดำเนินการกับตำรวจนอกแถวจริงจังและรวดเร็ว ตั้งแต่มกราคมถึงกุมภาพันธ์ไล่ออกไปแล้ว 22 คน ปลดออก 4 คน แต่ดูเหมือนเรื่องร้ายๆ ยังคงกระหน่ำ

แต่ละเรื่องที่ฉาวล้วนชวนให้ “ผงะ”

ภาพลักษณ์ตำรวจไทยเสื่อมต่ำอย่างหนัก ยากที่จะกอบกู้ในเร็ววัน!

 

เช่น ยังไม่ทันที่พิษ “ตู้ห่าว” จะจางหาย “ดาราสาวไต้หวัน” ก็ออกมาแฉข้ามโลกว่าถูกตำรวจไทย (สน.ห้วยขวาง) ตั้งด่านรีดเงินจากกรณีพกพาบุหรี่ไฟฟ้า จนกลายเป็นไวรัล “สองหมื่นเจ็ด”

ตามด้วยกรณีตำรวจที่ขับรถนำหาลำไพ่พิเศษจากนักท่องเที่ยว “ชอบเท่” ที่สุดตำรวจก็โดนสอย

ถัดมานารีพิฆาต แฉแก๊งพนันออนไลน์ “มาเก๊า 888” นั่นก็ลากเอาตำรวจเน่าไปตามเคย

แต่ที่ทำให้ผู้คนทั่วประเทศถึงขั้น “ช็อก” ก็คือเรื่องที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกมาแฉเองว่า มีตำรวจตรวจคนเมือง หรือ “ตม.” ถึง 110 นาย มียศนายพล 3 นาย ลดหลั่นลงไปตั้งแต่พันตำรวจเอก พันตำรวจโท จนถึงชั้นประทวน ร่วมกันทุจริตอย่างเป็นขบวนการ ปลอมลายเซ็นรองผู้ว่าฯ ออกวีซ่าปลอมให้กลุ่มจีนเทาเข้ามาตั้งรกราก ทำธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย

ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ให้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.ณัฐวัฒน์ การดี อดีตผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 4 (ผบก.ตม.4) ที่เพิ่งเกษียณ กับพวกรวม 107 คน และดำเนินคดีกับ พ.ต.อ.ชัยรัตน์ รัตนาธรรมวัฒน์ กับพวกอีกรวม 9 คน

ว่ากันตามจริงงแล้ว ทุกเรื่องราวที่ฉาวออกมาในเวลานี้เป็น “พฤติการณ์ปกติ” ที่ดำรงอยู่ในวงการตำรวจมานาน เช่น การตั้งด่านรีดไถ หรือหาเงินจากธุรกิจสีเทาและผิดกฎหมายแล้วเอามาเป็น “กองกลาง”

“หัวหน้า” ทำหน้าที่จัดสรรแบ่งปัน!

และ “นาย” คนที่มักไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย แต่รู้แหล่งที่มาของผลประโยชน์ทุกขุมขนจะเป็นผู้ได้ส่วนแบ่งสูงสุด

เรื่องแบบนี้มีมานาน จริงหรือไม่จริงทั้ง ผบ.ตร. “บิ๊กเด่น” และรอง ผบ.ตร. “บิ๊กโจ๊ก” ย่อมให้คำตอบได้

 

แต่คำถามที่ควรจะจริงจังก็คือ เมื่อรู้ทั้งรู้ ทำไมจึงไม่มี “ผู้บังคับบัญชา” คนไหนเลยแก้ปัญหา

เมื่อ 26 ปีก่อน “อธิบดีกรมตำรวจ” สมัยนั้นเคยมีคำสั่งที่ 1212/2537 เรื่อง “มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ”

ในปี 2536 นั้น “บิ๊กเด่น” ยังคงเป็นตำรวจเด็กๆ คอยแต่รับคำสั่ง “นาย”

แต่ในวันนี้โชควาสนาทับขา “บิ๊กเด่น” จนขาใหญ่ขาบวมแล้ว ถามว่า เคยสนใจศึกษาคำสั่ง 1212/2537 และคิดจะ “สร้างฝัน” เพื่อพลิกโฉมให้วงการตำรวจบ้างไหม

หรือว่ามีข้อจำกัด ที่จะอยู่ในตำแหน่ง “ผบ.ตร.” แค่ 365 วัน!

บทบาทหัวหมู่ทะลวงฟันจึงตกแก่ “สุรเชษฐ์ หักพาล”

 

ที่จริงแล้ว คำสั่ง 1212/2537 ควรจะเป็น “คัมภีร์ปกครอง” ของคนที่เป็น “ผบ.ตร.”

เมื่อปี 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว “ผบ.ตร.” ที่ได้ชื่อว่าเป็นตำรวจดีมีวินัย ไม่กินเลือดกินเนื้อลูกน้อง มีแต่ให้ เป็นธรรม ตรงไปตรงมา เคยใช้ “คำสั่ง 1212/2537” นี้กำราบปราบปรามพฤติกรรมตำรวจ ด้วยการออกหนังสือเชิงสั่งการถึงระดับ “ผู้บัญชาการ” จากนั้นให้ผู้บัญชาการทั้งหลายใช้แนวทางเดียวกันกำชับกับ “ผู้บังคับการ” และหัวหน่วยหน่วยที่ลดหลั่นลงไปจนถึงรองสารวัตร

เป็นผู้บังคับบัญชาต้องกวดขัน กำกับ สอดส่อง ดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องตามคำสั่ง ตร.ที่ 1212/2537 อย่างเคร่งครัด ต้องจัดทำคำสั่งมอบหมายการปกครองบังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงไป ควรรู้ว่าใครมีทรัพย์สินหรือใช้ชีวิตเกินฐานะ ต้องจัดอบรมตอกย้ำกำชับอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องรับผิดชอบถ้าหากมีเหตุอันควรรู้ แล้วไม่รู้ หรือทั้งๆ ที่รู้แต่หาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาล่วงหน้า

คำสั่งนี้วางหลักเอาไว้ดีมาก ว่าตำรวจต้องเป็น “ผู้ประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่หน้าที่ ในฐานะผู้รักษากฎหมาย”

“ผู้บังคับบัญชา” มีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย ทัศนคติ และจิตสำนึกที่ดี โดยที่ต้อง “ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี” และปกครองด้วยความเที่ยงธรรม

“ผู้บังคับบัญชา” ต้องป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดวินัย ด้วยการเอาใจใส่ สังเกตการณ์ ขจัดเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดการกระทำผิดอันอยู่ในวิสัยที่จะป้องกันได้ และหากมีการทำผิดก็ต้องจัดการทันที

แต่ “ผบ.ตร.เด่น” ไม่ใช่มือสอบสวน ไม่ใช่นักสืบและไม่ใช่นักรบ

ท่วงท่าและที่มาแตกต่างกับ “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” คนละโทน

 

เป็นที่รู้กันว่า พฤติกรรมด้านลบหรือที่ผู้คนรู้สึกว่า “เลวร้าย” นั้นเกิดจาก “นาย” หาใช่ “ลูกน้อง”!

“นาย” ซึ่งหมายถึงตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความรู้ ผ่านการฝึกฝนอบรม บ่มเพาะ ขัดเกลามาอย่างหนักตั้งแต่ก่อนจะติดยศ “ร้อยตำรวจตรี”

ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่สมมุติฐานในคำสั่ง ตร.ที่ 1212/2537 จะเริ่มต้นที่ “นาย”

ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้อง “มีหน้าที่” และ “ทำหน้าที่” ปกครอง บังคับบัญชา ดูแล เอาใจใส่ กวดขัน กำชับ ติดตาม สอดส่อง ส่งเสริม และพัฒนาให้ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชามีสภาพที่เป็น “ตำรวจ” หรือมีความพร้อมที่จะเป็น “ผู้รักษากฎหมาย”

ผู้บังคับบัญชาที่ละเลย ไม่เคร่งครัดกวดขัน ไม่กำชับ ไม่เอาใจใส่ลูกน้อง ควรจะถูกลงโทษ ควรถูกหยุดความก้าวหน้า หรือยับยั้งการเจริญเติบโตเอาไว้

ถ้ามาเฟียผู้มีอิทธิพลครองเมือง สังคมไม่มีความปลอดภัย เต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย การพัฒนาประเทศทุกด้านก็จะหยุดชะงัก การตรวจตราป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและอำนวยความยุติธรรมซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจจึงเป็น “งานสำคัญมาก”

สังคมจำเป็นต้องฝากความหวังเอาไว้กับองค์กรตำรวจ แม้ว่าในวันนี้จะมีสภาพตกต่ำอย่างน่าใจหาย!?!!