จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 3-9 มีนาคม 2566

จดหมาย

ฉบับประจำวันที่ 3-9 มีนาคม 2566

 

• ญี่ปุ่น

สวัสดีครับ บก.

มีเรื่องสีเทาๆ จะเล่า แต่ไม่รู้จะเล่าที่ไหน ที่ออฟฟิศก็ไม่ได้ เพราะจะซวยกันหมด

เลยขอนำมาเล่าให้ บก. และแฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์ได้อ่านกัน

คือ เดือนก่อนผมและเพื่อนร่วมงานอีก 3 คน ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจเยี่ยมทีมงานสาขาเชียงใหม่

พอมาถึงหัวหน้าทีมสาขาเขาก็มารับ

เชื่อไหมว่าคืนแรก เขาพาไปไหน?

ใช่ครับ เที่ยวผู้หญิง

คนญี่ปุ่นอย่างผม ก็ช็อกสิครับ

คนไทยบางกลุ่มนี่เขามักมีความเข้าใจแบบเหมารวมอยู่นะว่า ถ้ามีเพื่อนร่วมงานญี่ปุ่นมาเยี่ยมเยือน จะต้องพาไปร่ำสุรา เคล้านารี

มันไม่ใช่นะ

สมัยนี้ญี่ปุ่นเขาก็คุยธุรกิจที่ร้านกาแฟสบายๆ กันได้

นี่อะไรก็ไม่รู้ พอไปถึงร้าน พี่เขาก็เรียกน้องจะให้มาป้อนเหล้า ป้อนเบียร์ผม

ผมซึ่งเป็นคนถือเนื้อถือตัวไง แฟนก็มีแล้ว อยู่ๆ มีสาวเชียร์เบียร์มาพันแขนพันขา กลไกการป้องกันตัวเองก็ทำงาน

ยกแขนสองข้างตั้งการ์ดทำนอง “Wakanda Forever”

ยิ่งเมาๆ ด้วย เกือบจะไปศอกใส่สาวๆ เขาซะอีก

ว่าไป ผมอยากให้สาวๆ พวกนั้นลุกจากผมไปไวๆ เลยม้วนๆ เงินยื่นให้เขา

จุดนั้นแหละที่รู้ตัวว่าปล่อยไก่ โดนหัวเราะกันทั้งโต๊ะ

หาว่าผมมาอยู่เมืองไทยนานไปจนเอาวิธีพับเงินส่งตำรวจมาพับให้สาวเชียร์เบียร์

แต่ก็นั่นแหละ จะไปตำหนิเขาคงไม่ได้ เพราะพี่คนไทย 3 คนที่มาด้วยกัน ก็เล่นตามหัวหน้าทีมสาขาไปซะเต็มที่

คนหนึ่งจากที่ดูเงียบๆ เขินอาย

ใน 5 นาทีแรก พอน้องเชียร์เบียร์คนหนึ่งมาคอยเอาทิชชู่เช็ดปาก ป้อนข้าวป้อนน้ำให้ อยู่ๆ ก็ยื่นเงินเข้าไปซุกในร่องหน้าอกเขาซะอย่างเต็มไม้เต็มมือ

พร้อมกับดึงน้องมานั่งตักแล้วทำหน้าเคลิ้มตลอดคืน

เพื่อนคนหนึ่งเพิ่งเป็นซึมเศร้า อกหักจากสาวแว่นกรอบบางมา บ่นตลอดวันว่าลืมเขาไม่ได้

พอเจอทรงหนานุ่มเข้าไป อาการป่วยใจหายเป็นปลิดทิ้ง

พี่อีกคนหนึ่งยิ่งแล้วใหญ่ ปากบอกไม่ชอบสาวจากประเทศเพื่อนบ้าน ว่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้

พอโดนสาวจุ๊บไปไม่กี่ที วันต่อมาร้องแต่จะให้พาไปหาสาวเพื่อนบ้านที่ร้าน

ผมละหนักใจจริงๆ ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง

ได้แต่บอกตัวเองว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

โทโหมะ (Tomo)

 

การเลี้ยงดู แล้วปูเสื่อ

เป็นวิถีปฏิบัติที่ฝังลึกในสังคม (ชาย) ไทย มาเนิ่นนาน

ด้วยคิดว่า “แขก” ที่มาเยือนจะชอบ

แต่สิ่งที่ “โทโหมะ” สะท้อนความรู้สึกมา

ก็ทำหน้าชาๆ อยู่เหมือนกัน

สำหรับคนไทยที่กำลังภาคภูมิใจกับการเป็นชาติชั้นนำด้านท่องเที่ยวของโลก

คงไม่คิดว่า สิ่งที่คุณโทโหมะเขียนมาเล่า

คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต่างชาติติดใจไทยแลนด์กระมัง?

 

• สหรัฐ

กองทัพไทย ร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพมิตรประเทศ

กำหนดจัดการฝึกคอบร้าโกลด์ 23

ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม 2566

การฝึกคอบร้าโกลด์ 23 มีดังนี้

1. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 23 ณ สถานีการบิน กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

2. วันที่ 3 มีนาคม 2566 การฝึกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AMPHIBEX) ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

3. วันที่ 3 มีนาคม 2566 การฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (HADR DEMO) ณ ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

4. วันที่ 5 มีนาคม 2566 การฝึกอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ความขัดแย้ง (NEO/RJNO) ณ ฝูงบิน 203 กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

5. วันที่ 8 มีนาคม 2566 พิธีส่งมอบอาคารตามโครงการช่วยเหลือประชาชน (ENCAP) ณ โรงเรียนบ้านเขาตลาด อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

6. วันที่ 11มีนาคม 2566 การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (CALFEX) และพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 23 ณ สนามยิงปืนใหญ่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

กองประชาสัมพันธ์

สำนักประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร

และ United States Embassy Bangkok Press

 

มีฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งใด

ชอบจะเอามารายงานให้รู้

รู้ว่า “มะกัน” เขาเกี่ยวขากับไทยอยู่ตลอด

ยิ่งจีนรุก มะกันยิ่งไม่ถอย

• โลก

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

ยินดีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ล่าช้ามาเนิ่นนานมีผลบังคับใช้แล้ว

แต่เรียกร้องให้ประเทศไทยทบทวนการตัดสินใจเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566

และให้ปรับวันที่มีผลบังคับใช้ใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนจากการถูกทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

โดยให้ปรับวันที่มีผลบังคับใช้ใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งขอเรียกร้องให้เร่งดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED)

และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture หรือ OP-CAT)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)

และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

โลกเขาจับตาเรื่องนี้ใกล้ชิด

แต่ดูเหมือน (รัฐบาล) ไทย

จะไม่สุกงอมสักเท่าไหร่

อุ้มหายได้ อุ้มหายตลอด (ฮา)

จึงมีประเด็น “สะดุด” ตลอด

ล่าสุด พ.ร.ก.ยกเว้นการใช้บางมาตรา

ถูก ส.ส.รัฐบาลอุ้มไปให้ศาล รธน.ตีความ เรียบโร้ยย… •