เสียงของความเงียบ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เสียงของความเงียบ หรือที่ภาษาฝรั่งใช้ว่า Sound of Silence ดูจะน่าเอามาวิเคราะห์

การออกเสียงลงมติชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เรื่อง ประณามการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน

ล่าสุดโดยผลคือ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีมติท่วมท้น ให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครนโดยทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

เสียงส่วนใหญ่หรือ 141 ชาติโหวตเห็นชอบ ขณะที่มี 7 ชาติที่โหวตไม่เห็นชอบ และ 32 ชาติที่งดออกเสียง

โดยครั้งนี้ ไทยเป็น 1 ในชาติที่เห็นชอบ ก่อนหน้านั้น ไทยเคยงดออกเสียงประณามรัสเซีย

 

เสียงของความเงียบจากแดนไกล

ความน่าสนใจของสงครามรัสเซียกับยูเครนนั้นมีมากมายและมองได้หลายแง่มุม

ผมสนใจเสียงของความเงียบจากแดนไกล โดยเฉพาะจากชาติต่างๆ ในทวีปแอฟริกา ทวีปที่มีความสำคัญหลายๆ ด้าน แต่เราไม่ค่อยรู้

ทวีปที่หลายคนคิดถึงแค่ชนเผ่า ดูไร้อารยธรรม ด้อยพัฒนา ขนาดเรียกได้ว่ายากจน

แต่ชาติมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีนได้รุกเข้าไปในชาติต่างๆ ของทวีปนี้มานาน

แล้วทวีปนี้ก็ถูกแบ่งแยกด้วยความต้องการของชาติมหาอำนาจ

ความจริงความต้องการของชาติมหาอำนาจสมัยสงครามเย็นช่างไม่ต่างจากความต้องการของขาติมหาอำนาจในยุคอาณานิคมมากนัก

ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดทั้งต่อสินค้าและบริการ รวมถึงแรงงานเหลือล้น ยังเป็นหัวใจของความต้องการของชาติมหาอำนาจ

แต่ภายหลัง ภูมิรัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์ทางการทหาร ค่ายหรือกลุ่ม มีความสำคัญมากขึ้น แล้วความต้องการของชาติมหาอำนาจก็สำแดงออกมาด้วยในเวทีแห่งสหประชาติ รวมถึงญัตติประณามรัสเซียครั้งนี้ด้วย

ความจริงแล้ว การลงมติต่อญัตติประณามรัสเซียไม่แตกต่างจากการลงมติครั้งที่แล้ว

การลงมติออกเสียงประณามรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อ 2 มีนาคม 2022 โดยดูจากชาติสมาชิกในทวีปแอฟริกา จำนวนประเทศ 28 ของ 54 ประเทศ (แค่ 51%) สนับสนุนญัตติประณามรัสเซีย

35 ประเทศของแอฟริกา มีประเทศแอฟริกา 17 ประเทศที่งดออกเสียง หรือคิดเป็น 48.6% รวมประเทศแอลจีเรีย แองโกลา และแอฟริกาใต้

มี 8 ประเทศที่ไม่แจ้งการออกเสียง ได้แก่ แคเมอรูน เอธิโอเปีย และโมร็อกโก เป็นต้น

มีเพียงประเทศแอฟริกาที่ออกเสียงคัดค้านมติการประณามรัสเซียคือ เอริเทรีย (Eritera) อันเหมือนกับกลุ่มของรัสเซียคือ เบรารุส รัสเซีย เกาหลีเหนือและซีเรีย1

ดังที่กล่าวมาแล้ว ทวีปแอฟริกาถูกชาติมหาอำนาจรุมสูบมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมก่อนได้รับเอกราชเสียอีก

แล้วชาติมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีนก็เข้าไปแทนที่ชาตินักล่าอาณานิคม ด้วยวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างกัน อาจปรับเปลี่ยนวิถีการขูดรีดประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น

สำหรับการออกเสียง และงดออกเสียง ในสหประชาชาติเรื่องประณามรัสเซียย้ำและฉายภาพให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในแอฟริกากับชาติมหาอำนาจทั้งสามได้ชัดเจนขึ้น

ที่อยากขยายความในที่นี้คือ แอฟริกาใต้ ประเทศที่อยู่ตอนใต้สุดของทวีป แต่มีเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าที่สุด แล้วยังเป็นประเทศที่ปกครองโดยคนผิวขาวจากยุโรปมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลแอฟริกาใต้ผูกพันกับรัสเซียมายาวนาน ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงการต่อสู้กับลัทธิแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวหรือที่เรียกว่า Aparthied2 ยิ่งท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามในยูเครน และการเพิ่มความก้าวร้าวของท่าทีจีนต่อการปกครองตนเองของไต้หวัน

ในขณะที่แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศสำคัญและทำการปกครอง African National Congress แล้วแอฟริกาใต้มีความใกล้ชิดรัสเซียที่สนับสนุนลัทธิแบ่งแยก เชื้อชาติและสีผิว ก็ยิ่งทำให้ชาติมหาอำนาจของโลกแข่งขันสร้างอิทธิพลในทวีปแอฟริกา

การแข่งขันสร้างอิทธิพลในแอฟริกาดำเนินไปอย่างเข้มข้น รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย Sergei Lavrov เยือนทวีปแอฟริกา 2 ครั้งในปี 2023 และได้เยือนทวีปนี้กลางปี 2022

ประธานาธิบดีปูตินจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด (summit) รัสเซีย-แอฟริกาในเดือนกรกฎาคมปี 2023 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบริก (St. Peterburg) รัสเซีย

การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของประธานาธิบดีปูตินเพื่อสร้างความนิยมในหมู่ชาติแอฟริกา หลังจากถูกสับเปลี่ยนความนิยมโดยชาติตะวันตก เมื่อมีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา-แอฟริกัน ปี 2022 จัดที่กรุงวอชิงตัน ทั้งนี้ เป็นการจัดประชุมเพื่อแสวงหาหาทางเร่งและเพิ่มพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการปรากฏตัวของรัสเซียและจีนในทวีปแอฟริกา3

 

ความเงียบที่ดังก้องโลก

ก่อนครบรอบ 1 ปีรัสเซียรุกรานยูเครน (24 กุมภาพันธ์ 2022) เพียง 1 วัน และก่อนการโหวตญัตติประณามรัสเซียในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาติ แอฟริกาใต้จัดซ้อมรบร่วมกับทหารรัสเซีย จีนและกลุ่มทหารรับจ้างของรัสเซียที่เรียกว่า Wagner group4 เป็นเวลา 10 วัน

แล้วชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ก็ตอบโต้การเคลื่อนไหวของแอฟริกาใต้ทั้งการงดออกเสียงญัตติประณามรัสเซียและการร่วมซ้อมรบกับกองทัพรัสเซียและจีน

ตามรายงานของสื่อทางการรัสเซีย สำนักข่าว TASS รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย Mikhail Bogdanov อ้างว่าสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศในแอฟริกา คุกคามด้วยการแซงก์ชั่น ระงับความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม5

แล้วทางการสหภาพยุโรปก็เพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียมากขึ้น คำแถลงของหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป Joseph Borrell ได้เตือนว่า สหภาพยุโรปจะแซงก์ชั่นมากขึ้นต่อรัสเซีย ที่แรงมากคือ Ursala vonder Leyen ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป ได้กล่าวในทวิตเตอร์ว่า “…สหภาพยุโรปกำลังเปลี่ยนแรงกดดันการแซงก์ชั่นมากกว่าเดิม การแซงก์ชั่นจะทำให้อาวุธสงครามรัสเซียหมดเกลี้ยง และกัดกร่อนลึกลงไปต่อเศรษฐกิจรัสเซีย… ยังมีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบอาวุธรัสเซียที่ใช้ในสนามรบ รวมทั้งโดรน (Drones) จรวด เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งสินแร่หายาก วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (electronic integrated) และ thermal camera ล้วนอยู่ในบัญชีห้ามส่งออกทั้งสิ้น…”6

มาตรการที่มีผลรุนแรงครั้งนี้คือ การใช้ Financial Action Task Force – FATF องค์กรเฝ้าระวังอาชญากรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ที่เพิ่มแอฟริกาใต้ ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดของทวีปแอฟริกา เข้าอยู่ในบัญชีสีเทา (grey list) และประเทศไนจีเรีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาด้วย7

การเพิ่มสองประเทศสำคัญของแอฟริกาอยู่ในบัญชีสีเทา เท่ากับเพิ่มการตรวจสอบทางการเงิน กระทบต่อต้นทุนทางการเงิน สร้างความยุ่งยากต่อความพยายามให้ได้รับเงินทุนและการสนับสนุนจากสถาบันพหุภาคีด้านการพัฒนาและการให้กู้ของภาครัฐ การอยู่ในบัญชีสีเทากระทบชื่อเสียงของประเทศนั้นๆ แล้วทำให้สถาบันการเงินต่างๆ หันเหการทำธุรกรรมด้วย

มีการวิเคราะห์ว่า การใช้ FATF เป็นอาวุธสุดท้ายที่ชาติตะวันตกใช้แก้แค้นเอาคืนแอฟริกาใต้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติตะวันตก ด้วยแอฟริกาใต้เป็น 1 ใน 17 ประเทศงดออกเสียงประณามรัสเซียรุกรานยูเครน

การจัดซ้อมรบร่วมกับรัสเซียและจีนเป็นเวลา 10 วันที่แอฟริกาใต้ การงดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติของแอฟริกาใต้เป็นพลังต่อต้านชาติตะวันตก นับเป็นเสียงอึกทึกก้องโลกเลยทีเดียว

 


1Abraham White and Leo Haltz, “Africa countries votes on the UN resolution condemning Russia’s invasion of Ukraine” Brooking.edu, 9 March 2022.

2Siyabanga Sishi, “Russia will not fire Zircon missile at South Africa naval exercise”, Reuter 22 February 2023.

3“Moscow accuses U.S. of attempts to disrupt Russia-African relations” Reuters 26 February 2023.

4กลุ่มทหารรับจ้างนี้นอกจากเข้าไปรบในยูเครนแล้ว ยังรับจ้างโดยส่งกำลังพลเพื่อกวาดล้างกลุ่มกบฏในประเทศมาลี และแอฟริกากลางในทวีปแอฟริกาก่อนหน้านี้ด้วย

5“Moscow accuses U.S. of attempts to disrupt Russia-African relations” Reuters 26 February 2023.

6“EU adopts fresh sanctions to raise pressure on Moscow” Reuters 26 February 2023.

7Tassilo Hummel Bhargav and Alexander Winning, “Financial crisis watchdog adds SAF to ‘grey list” Reuters 24 February 2023.