กรองกระแส / ปัญหายางพารา กับมาตรการปรับทัศนคติ แก้ ‘วิกฤต’ ได้หรือไม่

กรองกระแส

ปัญหายางพารา
กับมาตรการปรับทัศนคติ
แก้ ‘วิกฤต’ ได้หรือไม่

การเรียกตัว “แกนนำ” ชาวจังหวัดตรัง ชาวจังหวัดพัทลุง โดย กอ.รมน.ประจำจังหวัดครั้งล่าสุด อาจอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.เหมือนกับกรณีอื่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ หลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่รายละเอียดของปฏิบัติการมีความแตกต่าง
อาจเป็นเพราะ 1 กรณีอันเกิดขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในสถานการณ์หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่นานนัก
ขณะที่กรณีของภาคใต้เป็นสถานการณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2560
ขณะเดียวกัน 1 อาจเป็นเพราะกรณีอันเกิดขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสถานการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับความคิด และการเมือง
ขณะที่กรณีของภาคใต้เป็นสถานการณ์อันเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจ”
เมื่ออย่างหนึ่งเป็นสถานการณ์ในทางการเมือง เมื่ออย่างหนึ่งเป็นสถานการณ์ในทางเศรษฐกิจ รายละเอียดของการปฏิบัติย่อมแตกต่างกัน
แม้จะอยู่บนพื้นฐานของ “การปรับทัศนคติ” เหมือนกันก็ตาม

ปัญหาการเมือง
ปัญหาเศรษฐกิจ

การเรียก “ปรับทัศนคติ” ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และแม้กระทั่งใน กทม. หลังรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในทางการเมือง
ด้านหลัก คือ ไม่เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร”
เมื่อไม่เห็นด้วย พวกเขาก็เคลื่อนไหวในรูปแบบแตกต่างกันออกไปเพื่อสะท้อนให้รัฐบาลและ คสช. รับรู้ในความคิด
ที่เป็นแกนนำด้านหลักก็เป็นคนเสื้อแดง เป็น นปช. ขณะเดียวกันก็เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
ความเฉียบขาดจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองนำไปปฏิบัติส่งผลอย่างฉับพลันมิให้การเคลื่อนไหวในทางการเมืองขยายวง
กลายเป็นผลงานและความสำเร็จสำคัญของ คสช. และรัฐบาล
แต่ความไม่พอใจอันแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางแสดงออกทางภาคใต้กระทั่งบางส่วนที่จังหวัดตรังและพัทลุงถูกเรียกตัวเข้า “ปรับทัศนคติ” ที่เด่นชัดก็คือ การเรียกร้องของพวกเขามิได้เป็นปัญหาในทางการเมือง หากเป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจ
จึงไม่แน่ว่าการเรียก “ปรับทัศนคติ” จะสามารถทำให้ปัญหาและความเดือดร้อนหมดสิ้นไปได้หรือไม่

ปัญหาเศรษฐกิจ
แนวโน้มปรับ ครม.

หลังจากเกิดปัญหาในกระทรวงแรงงานกระทั่ง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ยื่นใบลาออกในวันที่ 1 พฤศจิกายน มีความจำเป็นต้องปรับ ครม. อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่
กระนั้น แนวโน้มที่เห็นเด่นชัดก็คือ จะมีการปรับ ครม. หลายตำแหน่ง
หากฟังจากเสียงของนักการเมือง นักวิชาการ ประสานเข้ากับผลการสำรวจความเห็นของประชาชน เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเรียกร้องต้องการให้มีการปรับ ครม.กระทรวงเศรษฐกิจอย่างเป็นด้านหลัก
สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจกำลังเป็นปัญหา
กระทรวงที่ตกเป็นเป้าหมาย 1 คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 คือ กระทรวงพาณิชย์ และ 1 คือ กระทรวงการคลัง
เมื่อนำเอาประเด็นเหล่านี้ประสานเข้ากับปัญหาของ “เกษตรกร” ก็เห็นอย่างเด่นชัด
ปัญหา 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ปัญหาที่ราคาสินค้าเกษตรเสื่อมทรุด ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมิได้ตกต่ำเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ตรงกันข้าม เป็นปัญหาต่อเนื่องมายาวนานแล้วเป็นเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและกำกับงานทางด้านเศรษฐกิจ
แม้จะมีการปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออก และนำทีมของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามา แต่เมื่อพิจารณาจากกระแสเรียกร้องต้องการก็เท่ากับฟ้องว่าปัญหาเศรษฐกิจยังดำรงอยู่
ปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางจึงเสมอเป็นเพียงปัญหา 1 ภายในปัญหามากมายเท่านั้น

มาตรการการเมือง
มาตรการเศรษฐกิจ

การเรียกปรับทัศนคติเกษตรกรชาวสวนยางที่จังหวัดตรังและพัทลุง อาจทำให้การเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยางหยุดชะงักลงได้ในระดับหนึ่ง
แต่ประเด็นก็ยังอยู่ที่ความเป็นจริงของปัญหา
การปรับทัศนคติอาจเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาเฉพาะในประเด็นทางการเมือง แต่ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในประเด็นทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้และอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นี่คือปัญหาที่ คสช. และรัฐบาลจักต้องนำไปขบคิดพิจารณา
เพราะว่าเสียงเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางมิได้เป็นเรื่องใหม่ หากแต่ดำรงอยู่มาเป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้วโดยที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขหรือสร้างความหวังให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างเป็นจริง ขณะเดียวกันปัญหาก็มิได้มีแต่เรื่องยางพารา หากแต่ยังมีในเรื่องข้าว น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง เป็นต้น
เท่ากับว่ามาตรการการเมืองต้องแก้การเมือง มาตรการเศรษฐกิจต้องแก้เศรษฐกิจ