การเมืองลายพราง เขย่าโผทหาร เขย่ากองทัพ วัดใจ 4 ผบ.ก่อนเกษียณ

การเมือง ลายพราง เขย่า โผทหาร เขย่า กองทัพ วัดใจ 4 ผบ.ก่อนเกษียณ ทัพเรือ คลื่นสูง

ความชัดเจนทางการเมืองประการหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะยุบสภา ที่คาดกันว่าเป็น 15 มีนาคมนี้ และจะมีเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566

แต่ที่ยังไม่ชัดเจน และไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้คือผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร และจะเกิดอะไรขึ้นตามมาหรือไม่

โดยเฉพาะหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ พรรครวมไทยสร้างชาติได้จำนวน ส.ส.ไม่มากพอ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ กลายเป็นพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีอาจจะเกิด “ทฤษฎีสมคบคิด” เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการเมืองไทยอีก โดยอาจมีการสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง

โดยเฉพาะหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมใดๆ ที่จะเอื้อให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ

ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้ จะเกษียณราชการพร้อมกันแบบยกแผง 30 กันยายน 2566 นี้ โดย ผบ. 4 เหล่าทัพเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ด้วยกันทั้งหมด

มีเพียงบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เท่านั้นที่เป็นรุ่นพี่ ตท.21 ส่วน บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และบิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ล้วนเป็นเพื่อนรัก ตท.22 ที่สามารถตัดสินใจอะไรร่วมกันได้เป็นอย่างดี

อีกทั้ง พล.อ.เฉลิมพลก็เป็นนายทหารม้าที่มีความเด็ดขาด ในความเงียบ เคร่งขรึม และนั่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด คอแดงคนแรก มายาวถึง 3 ปี ถือว่ามีอำนาจแข็งแกร่งไม่น้อยแม้จะไม่ได้คุมกำลังรบก็ตาม

แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผู้เป็น ผบ.ทบ. คุมกำลังทหารมากที่สุด และเป็น ผบ.ทบ. คอแดง นานถึง 3 ปี จะเคยแสดงจุดยืนชัดเจนในการเป็นทหารอาชีพ ไม่คิดเรื่องการรัฐประหารก็ตาม

แต่หากมองไปที่คอนเน็กชั่นระหว่าง พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่ถือเป็นน้องรักของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก ก็อาจทำให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกพาดพิง และตกในกระแสข่าวลืออยู่เสมอ เพราะสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ

จึงยิ่งทำให้กระแสข่าวลือรัฐประหารสะพัดล่วงหน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ

แน่นอนว่าฝ่ายทหารคงไม่มีใครอยากทำรัฐประหาร เพราะอาจเจอการต่อต้านที่รุนแรง และอาจเกิดการนองเลือดอีกครั้ง อีกทั้งเป็นสถานการณ์ที่กองทัพเกิดความแตกแยก ระหว่างทหารคอแดง กับทหารคอเขียว จึงไม่เป็นยูนิตี้เช่นที่ผ่านมา

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และทีมสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่มองเห็นได้และที่มองไม่เห็น จึงต้องพยายามอย่างหนักและทุกวิถีทางด้วยกลไกอำนาจที่มีอยู่ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะคิดมอตโตในการหาเสียงว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” และย้ำว่า “ถ้าไม่เลือก ก็ไม่ได้ไปต่อ” เพื่อเรียกคะแนนจากฝ่ายอนุรักษนิยมให้เทคะแนนมาที่พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยไม่ต้องแบ่งไปให้พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่

เพราะนับวันยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นว่า พล.อ.ประวิตรจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการร่วมรัฐบาล เช่นที่มีกระแสข่าวมาตลอด อีกทั้งการเจรจากับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เพื่อเตรียมจับมือตั้งรัฐบาล

แม้จะมีกระแสข่าวว่าหลังเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรอาจถูก “สะกิด” ให้มาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

แต่ส่อเค้าว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ยอมใคร และประกาศพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง และให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นฝ่ายค้าน

ในช่วงที่ผ่านมาจึงจะเห็นความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ในการกระทำเข้าใกล้กองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพมากขึ้น ทั้งการไปร่วมงานกองทัพและพบปะผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหน่วยงานต่างๆ รวมถึงพูดคุยเป็นการส่วนตัว

เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์มีประเพณีดินเนอร์กับผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกๆ 3 เดือน ที่ส่วนใหญ่มักจะใช้บ้านรับรองกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่พบปะกัน โดยเป็นประเพณีที่ริเริ่มในยุคที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. และแม้แต่เมื่อเกษียณราชการแล้วก็ยังเป็นแขกรับเชิญได้มาร่วมวงกับ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกครั้ง จนถึงปัจจุบัน

หากประเมินสถานการณ์การเมืองในอนาคตว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็ต้องยอมรับว่าเสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหารอีกครั้ง

แต่หากเป็นช่วงที่ยังเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดปัจจุบันอยู่ คือก่อน 30 กันยายนนี้ก็อาจจะเร็วไป และยังไม่พีกถึงขั้นเกิดจลาจล และจะถูกมองว่าเป็นการล้มผลการเลือกตั้ง

อีกทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ออกตัวแล้วว่า เตรียมนับถอยหลังเกษียณราชการ และวางแผนที่จะท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะในสมรภูมิรบต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่เขาค้อ เพชรบูรณ์ ที่มีสถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่งที่จะต้องใช้เวลาในการเยี่ยมชมและศึกษา

แต่ก็คาดกันว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ และ พล.อ.เฉลิมพล อาจมีตำแหน่งสำคัญรองรับ เช่นนายทหารคอแดงหลายคนที่เกษียณราชการไป

 

ดังนั้น แม้โอกาสของการเกิดรัฐประหารมีอยู่เพราะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ยิ่งหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมี พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็น รมว.กลาโหม หรือ มท.1 ร่วมรัฐบาลอยู่ ก็อาจจะต้องมีการถอดสลักรัฐประหารด้วยการยึดอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ ที่เป็นห่วงที่ต้องมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพยกแผง

เพราะอย่างน้อย พล.อ.ประวิตรก็เป็นอดีต ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคที่ 1 ที่มีลูกน้องอยู่ในกองทัพจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในสายบูรพาพยัคฆ์

แต่ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ศึกเลือกตั้งพฤษภาคมนี้ กองทัพจึงถูกจับตามองอย่างยิ่งว่าจะต้องพยายามช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัยหรือไม่ ด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์แสดงตนว่าเป็นคนที่ทำเพื่อชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่อาจเกิดปรากฏการณ์กองทัพเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อที่จะให้ไปต่อ

แม้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์จะยืนยันว่าทหารสั่งไม่ได้ว่าจะให้เลือกใคร เพราะเมื่อเข้าไปในคูหากาเลือกตั้งก็ไม่มีใครรู้ว่าเราเลือกใครก็ตาม แต่ทหารระดับผู้บังคับบัญชาก็มีเทคนิคที่จะโน้มน้าวจูงใจหรือพูดให้กำลังพลคิดว่าควรจะเลือกใคร

 

จึงไม่แปลกที่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะชิงอำนาจรัฐในการมาเป็นรัฐบาลและชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นการชิงกองทัพด้วย

เพราะเป็นกองทัพที่ พล.อ.ประยุทธ์คุมเองมาตลอด 4 ปีของการเป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม และเป็นช่วงที่จะมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 คน เรียกได้ว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเดือนสิงหาคม ก็จะได้จัดโผโยกย้ายทหารครั้งใหญ่พอดี

ดังนั้น แคนดิเดตที่ลุ้นจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพในขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะต้องพยายามที่จะช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้คัมแบ๊กกลับสู่อำนาจอีกครั้ง

ขณะที่บางคนที่ไม่ใช่สาย 3 ป. และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเลือกสนับสนุน พล.อ.ประวิตร แต่จะมีในสัดส่วนที่น้อยกว่า

แต่ทิศทางการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีในเดือนสิงหาคม-กันยายนจะเป็นอย่างไร ก็จะดูได้จากการจัดโผทหารทิ้งทวนของ พล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ ที่แม้จะเป็นโยกย้ายกลางปี แต่ก็มีการขยับคนที่เกษียณเพื่อที่จะจัดวางตัวบุคคลลงตำแหน่งสำคัญแทน

การจัดโผทหารครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลาโหมกำหนดให้แต่ละเหล่าทัพส่งบัญชีรายชื่อตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในส่วน ทบ.ส่งท้ายสุด เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกลาโหมหรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม 24 กุมภาพันธ์ เพื่ออนุมัติรายชื่อก่อนที่เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารก่อน แล้วยุบสภา 15 มีนาคมพอดี

แม้จะเป็นโผกลางปี ที่ปกติจะโยกย้ายรองรับคนที่จะเกษียณราชการเท่านั้นก็ตาม แต่เพราะเป็นโผสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำให้ถูกจับตามองว่าจะมีการทิ้งทวนหรือเซอร์ไพรส์หรือไม่

 

แต่ที่จับตามองกันมากที่สุดคือที่กองทัพเรือ เพราะหลังจากที่มีการอภิปรายในสภาเรื่องสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ก็ตามมาด้วยกระแสข่าวลือ การเด้งนายทหารที่เกี่ยวข้อง

เพราะเดิมคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการขยับบิ๊กล้อ พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พ้นเก้าอี้ และไม่ได้เป็นพลเรือเอก ก่อนที่จะเกษียณราชการกันยายนนี้

แต่กลับมีกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ที่ถือว่าเป็นผู้คุมกำลังรบทางเรือและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสายกำลังรบทางเรือของเรือหลวงสุโขทัย

จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนักในกองทัพเรือ เพราะ พล.ร.อ.อะดุงถือเป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.คนต่อไปด้วย จนมีการเช็กข่าวกันว่ากระแสข่าวลือนี้จริงหรือไม่และใครปล่อยข่าว และหวังผลอะไร และเนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า อำนาจในการคุมเรือที่ออกปฏิบัติหน้าที่จะเป็นของ ผบ.ทัพเรือภาค ก็ตาม

อีกทั้ง พล.ร.อ.อะดุงก็เป็นแกนนำเตรียมทหาร 23 ที่กุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพเรือมากมายหลายตำแหน่ง และมีบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เพื่อนร่วมรุ่น เป็น เสธ.ทร. ที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.อีกคนด้วยเช่นกัน

อีกทั้งจากการให้ปากคำของกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยที่รอดชีวิต ก็ไม่ปรากฏความเชื่อมโยงกับ พล.ร.อ.อะดุงในเรื่องคำสั่งที่ผิดพลาดแต่อย่างใด

จึงมีการกระซิบมาว่าไม่ได้เปลี่ยน ผบ.กร. จึงทำให้คลื่นลมสงบลง

สำทับด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่ายังไม่มีการโยกย้ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพราะต้องรอสรุปผลการสอบสวน ที่ต้องรอการกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาเป็นวัตถุพยานก่อนด้วย

แม้ว่าคลื่นลมจะสงบ แต่ก็เป็นที่จับตามองว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ที่เป็นผู้บัญชาการทหารเรือแค่ปีเดียว จะเอ็กเซอร์ไซส์อำนาจ และกระชับอำนาจ ในการโยกย้ายครั้งนี้ด้วยหรือไม่ เพื่อเตรียมปูทางสู่การจัดโผทหารปลายปีก่อนเกษียณ

เช่นเดียวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพคนอื่นๆ ที่ถือว่าโผนี้เป็นโผโยกย้ายกลางปีโผสุดท้ายก่อนเกษียณ และเป็นจังหวะในการวางหมากและวางตัวทายาทเพื่อรองรับการโยกย้ายปลายปีได้อีกด้วย

กองทัพจึงเข้าไปอยู่ในการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยากที่จะถอยห่างออกมา ตราบใดที่พี่น้อง 3 ป. ยังคงโลดแล่นในการเมืองเช่นนี้