Little Thailand Wayย่านคนไทยในนิวยอร์ก | เปิดตา

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสหรัฐอเมริกา มีชาวไทยอาศัยอยู่มากมาย อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อปี 2019 ของ Pew Research Center บันทึกว่ามีอยู่ถึง 343,000 คน ไม่รวมที่มาอยู่แบบผิดกฏหมาย มาเรียน และมาแบบทัศนาจรชั่วคราว โดยจุดที่มีประชากรไทยหนาแน่นที่สุดนั้น เราทราบกันดีว่าคือ Los Angeles ที่มลรัฐ California จากข้อมูลเดียวกัน แจ้งว่ามีคนไทยอยู่ถึง 33,000 คน ซึ่งผมมั่นใจว่าที่ไม่ได้แจ้งน่าจะมีอีกเยอะ ทำให้ที่แอลเอมี Thai Town แหล่งรวมธุรกิจและร้านอาหารของคนไทยขึ้นมานานแล้ว

ส่วนจุดที่มีคนไทยเยอะเป็นอันดับสองในอเมริกานั้นก็คือ New York ซึ่งจากบทสัมภษณ์ของท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้แจ้งเอาไว้ ว่าแค่ในย่าน Queen ก็มีชาวไทยอาศัยอยู่ถึง 15,000 – 17,000 คนเลยทีเดียว (แน่นอนว่าไม่รวมอีกหลายคนที่อยู่แบบไม่มีใครทราบ)

ด้วยเหตุนี้เมื่อไม่นานมานี้ที่ New York จึงได้มีการแต่งตั้งย่านคนไทยอย่างเป็นทางการกับเขาขึ้น ชื่อว่า Little Thailand Way เป็นถนนช่วงหนึ่งยาวประมาณ 3 บล็อค ตรงถนน 77th Street ตัดกับ Woodside Avenue ในย่าน Queen ที่นี่จะเรียกง่าย ๆ ว่า Little Thailand ก็ได้ โดยที่แห่งนี้อยู่ห่างออกมาจากมหานครนิวยอร์กราว 14 กิโลเมตร มีคนไทยมาเริ่มอยู่ที่นี่ตั้งแต่ราว 50 ปีก่อนแล้วในยุค 1970’s และมีการจัดกิจกรรมไทย ๆ ณ ที่แห่งนี้เรื่อยมา

ที่ Little Thailand Way และละแวกใกล้เคียงมีทั้งร้านอาหารไทยหลากหลายชนิด ร้านของชำ และวัดไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการรวบรวมข้อมูลร้านและธุรกิจไทยต่าง ๆ ในย่านนี้ให้ค้นหาได้ง่าย ๆ แบบที่เดียวจบทางอินเตอร์เน็ต ผมเลยจำเป็นต้องเดินทางไปดูให้รู้ด้วยตัวเองสักครั้ง ว่าเมืองไทยในนิวยอร์กนั้นมันเป็นเช่นไร

วันที่ได้ฤกษ์ไปเยือน Little Thailand เป็นวันที่ฝนโปรยลงมาไม่หยุดหย่อนพอดี แต่ก็เป็นวันเดียวที่ญาติผมสามารถพาไปได้ สำหรับการเดินทางจริง ๆ นั่งรถไฟสาย F มาเองแล้วเดินราว 7 นาทีก็ถึง แต่ผมไม่ค่อยคุ้นชินย่านแถวนั้น เลยคิดว่ามากับคนที่เคยมาบ่อย ๆ จะดีกว่า และการขับรถมาก็สะดวกดีด้วย ทว่าพอมาถึงความท้าทายแรกคือการวนหาที่จอดรถ ที่หาค่อนข้างยาก และสำหรับคนไม่เคยมา มองไปข้าง ๆ ทาง บ้านช่อง ผู้คนแถวนี้ ก็ดูออกจะน่ากลัวนิด ๆ

เราได้ที่จอดที่ห่างออกมาน่าจะพอ ๆ กับการเดินมาจากสถานีรถไฟ ขณะเดินฝ่าสายฝนก็พบว่าผู้คนที่อยู่อาศัยในละแวกนี้ ที่เดินผ่านไปมา มีหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวตะวันตก คนผิวดำ คนอเมริกาใต้ และน่าจะมีคนไทยด้วยแต่อาจจะหลบฝนอยู่

เมื่อมาถึงบริเวณ Little Thailand Way ตรงนั้นจะมีป้ายถนนเล็ก ๆ เขียนชื่อถนน Woodside Avenue ไว้ข้างบน และมีป้ายอีกแผ่นอยู่ติดกันด้านล่าง เนื่องจากป้ายขนาดเท่ากันแต่คำยาวกว่า จึงเขียนด้วยตัวอักษรที่เล็กกว่าว่า Little Thailand Way ถ้าไม่สังเกตุดี ๆ อาจมองไม่เห็น แต่อย่างไรก็ตามผมคนไทยเห็นแล้วก็ภูมิใจเล็ก ๆ อยู่ดี

สำหรับย่านนี้ บอกตามตรงว่าถ้าไม่ชินก็จะรู้สึกน่ากลัวเล็กน้อย เพราะบรรยากาศจะไม่ได้สวยงามนัก และมีกลุ่มคนชาติอื่น ๆ ที่ดูไม่น่าไว้ใจมาจับกลุ่มกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้คุกคามกัน สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าถามว่านี่คือย่านที่ดีไหม ตอบตรง ๆ คือไม่ แต่เท่าที่สัมผัสมาก็ยังไม่ได้อันตรายอะไร และไม่ใช่ที่ ๆ จะพากันมาเดินเล่นชมวิวแน่ ๆ

สองข้างทางไม่ใช่ทุกร้านจะเป็นร้านไทย เพราะจะมีร้านคนอเมริกาใต้ คนจีน ญี่ปุ่น ปะปนประปรายสลับกันไป ส่วนร้านของคนไทยก็จะมีเยอะหน่อย เท่าที่ผมเดินสำรวจจะพบร้านสุรา ร้านอาหารไทย ร้านไทยขายซุชิ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง และ ร้านอาหารอีสานมากกว่า 1 ร้าน ห่างออกไปมีวัดไทย และร้านของชำไทยอยู่ด้วย แม้บรรยากาศเมืองจะไม่ไทย แต่เรียกว่าใครรคิดถึงอะไรไทย ๆ มาที่นี่จะตอบโจทย์ที่สุดในนิวยอร์ก

คราวนี้มาถึงทั้งทีก็ต้องลองทานอะไรหน่อย ระหว่างกำลังด้อม ๆ มอง ๆ อยู่หน้าร้านอาหารอีสานร้านหนึ่งอยู่ ที่ตกแต่งทันสมัย มีร่มเบียร์ช้างกางอยู่หน้าร้านเสียด้วย ตอนนั้นเรายังไม่ได้ตัดสินใจจะเลือกร้านนี้ แต่เจ้าของร้านก็เดินออกมายิ้มแย้ม ทักทายและเชิญเข้าร้าน เราเลยเดินตามเข้าไปแต่โดยดี

ข้างในตกแต่งทันสมัยด้วยภาพวาดแนวโมเดิร์นเต็มเพดาน และเอาชามตราไก่มาวางประดับสวย ๆ หลังเคาท์เตอร์ (ซึ่งชามตราไก่ในสายตาคนอเมริกันคือ exotic ระดับแรร์ไอเท็ม) ส่วนน้ำเปล่าเขาเสริฟในขันเล็ก ๆ รินน้ำลงไปแล้วเย็นเจี๊ยบ ส่วนจานก็ใช้ประเภทที่ดูเหมือนเครื่องสาน แต่จริง ๆ ก็จานพลาสติกเรานี่เอง

ทุกอณูร้านมีความเป็นไทยยิ่งกว่าไปทานที่ไทย แต่มองไปรอบ ๆ ไม่มีลูกค้าไทยสักคน มีแต่ชาวฟิลิปปินส์ และคนอเมริกัน ซึ่งพอจะเดาได้ว่า นี่ไม่ใช่ร้านที่คนไทยในนิวยอร์กเลือกมาทานเป็นร้านแรกแน่ ๆ แต่จะตอบโจทย์ทุกกระเพาะที่ถวิลหาอาหารไทยบรรากาศไทยโมเดิร์น (มาทราบภายหลังว่าคนไทยเขาทานอีกร้านกัน)

อย่างไรก็ตามเมื่ออาหารมา ก็พบกับอาหารอีสานที่แท้จริงเลย ผมแอบรู้สึกว่าอร่อยกว่าที่ทานที่ร้านอีสานทั่วไปในไทยเสียด้วย เพราะวัตถุดิบเขาน่าจะดีระดับภัตราคารอีสานห้าดาว ต้มแซ่บ ลาบเป็ด ไก่ย่าง กระเพราเนื้ออร่อยทุกจาน และเนื้อย่างของเขา แน่นอนว่าเป็นเนื้อยูเอส ทานกับข้าวเหนียวอร่อยเหาะสามตลบกลางท้องฟ้าวันฝนพรำของนิวยอร์กไปเลย

สรุปแล้วอาหารถือว่าดี ส่วนราคานั้นจะไม่ใช่ราคาอาหารอีสานบ้านเรา แต่จะเหมือนไปทานอาหารหรู ๆ เพราะอาหารไทยที่นิวยอร์ก คืออาหารที่เขาไม่ได้ทานกันทุกวัน เป็นอาหารมื้อพิเศษ

เมื่อทานเสร็จ ชำระค่าอาหารและทิปอีก 20% เราเดินออกจากร้านไปแบบเหงา ๆ ขากลับนี้เจ้าของร้านไม่ได้สนใจจะส่งหรือกล่าวลาใด ๆ ถ้าร่ำลาหรือมองแล้วยิ้มมาสักหน่อยจะประทับใจกว่านี้ แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยอาหารก็อร่อยจนหายคิดถึงเมืองไทยครับ

จากนั้นผมขอให้เขาพาไปสำรวจร้านของชำไทยสักหน่อย พบว่าอะไรที่เป็นของถูก พวกขนม หรือเครื่องดื่มไทย มาที่นี่ราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นของหรูไป แต่พอมาเทียบกับราคาขนมและเครื่องดื่มของอเมริกัน ที่แพงกว่าของไทยเยอะ ก็ดูสมเหตุสมผลดี ผลเลยควักเงินราว 20 เหรียญหรือ 700 บาท จ่ายค่าโรตีสายไหมหนึ่งถุง และข้าวเหนียว + หมูปิ้ง 3 ไม้ไป อิ่มแบบไทย สบายกระเป๋าแบบอเมริกัน