เปิดวิสัยทัศน์ปลัดดีอีเอสคนใหม่ รับภารกิจใหญ่ ‘บิ๊กตู่’…อวสารบัญชีม้า ‘วิศิษฏ์’ลั่น…ต้องทำ Do or Die

บทความเศรษฐกิจ

 

เปิดวิสัยทัศน์ปลัดดีอีเอสคนใหม่

รับภารกิจใหญ่ ‘บิ๊กตู่’…อวสารบัญชีม้า

‘วิศิษฏ์’ลั่น…ต้องทำ Do or Die

 

เข้ามารับตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)” คนที่ 4 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 สำหรับนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ที่ข้ามห้วยมาจากผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) สำนักนายกรัฐมนตรี หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565

ว่ากันว่า การข้ามฟากมานั่งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำของกระทรวงดีอีเอสครั้งนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จิ้มชื่อเองกับมือ

จึงเป็นที่จับตาถึงแนวทางการทำงานกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ 3 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ

นายวิศิษฏ์เล่าว่า เป็นนักกฎหมายที่สนใจด้านเทคโนโลยีมาแต่ไหนแต่ไร เคยทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีเอส ในสมัยยังเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ขณะนั้นได้รับเลือกให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2 สมัย หลังจากนั้นได้เข้ามาเป็นบอร์ดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า จนถึงปัจจุบันก็เป็นประธานบอร์ดของเอ็ตด้าอยู่ด้วย

“งานของกระทรวงดีอีเอสถือว่ามีความสำคัญ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ได้รับนโยบายจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ในหลายด้าน จึงมีความเชื่อว่าประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านงานของรัฐบาลให้เป็นดิจิทัล” นายวิศิษฏ์กล่าว

ดังนั้น ทิศทางนโยบายกระทรวงดีอีเอสปี 2566 จะกำหนดเป้าหมายการทำงานเชิงรุก เพื่อทรานฟอร์เมชั่นรัฐบาลไปสู่ดิจิทัล (อี-กัฟเวอร์เมนต์) หรือรัฐบาลดิจิทัล ปัจจุบันมีกระทรวง 3 แห่ง ที่เป็นระบบลดการใช้กระดาษ (เปเปอร์เลส) ได้แก่ กระทรวงดีอีเอส กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าภายในเดือนมิถุนายน 2566 จะผลักดันให้อีก 17 กระทรวงที่เหลืออยู่ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานไปสู่เปเปอร์เลสให้ได้เกินครึ่ง

 

สําหรับแนวทางการทำงาน ปลัดดีอีเอสมองว่า การขับเคลื่อนโลกดิจิทัลจะมุ่งในบริการดิจิทัล (ดิจิทัล เซอร์วิส) ต้องมีแนวทางการขับเคลื่อน 3 ประเด็นสำคัญ

1. มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้ (เซฟแอนด์ชัวร์) เพราะความปลอดภัยคือปัจจัยสำคัญในโลกดิจิทัล

2. ลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัล

และ 3. ดิจิทัลต้องเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง คนในเมืองและชนบทต้องไม่มีข้อแม้ในการเข้าถึงบริการ นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาสกิมมิ่ง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างแรกและต้องทำให้สำเร็จ เพื่อทำให้ปัญหาการหลอกลวงในโลกออนไลน์นี้ลดน้อยลง

“เราได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกันเร่งสร้างรัฐบาลดิจิทัลอย่างปลอดภัยในทุกหน่วยงานราชการ เริ่มที่การลดใช้กระดาษ ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงใช้เงินไม่แพง เนื่องจากมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำนวนมากเข้ามาช่วย จึงเชื่อว่าจะเห็นหน่วยงานราชการเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งเราได้เคลียร์กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและองค์กรอื่นๆ แล้ว เพราะก่อนหน้านี้เกิดความไม่เข้าใจกันในการตรวจสอบเอกสารของแต่ละหน่วยงาน”

นายวิศิษฏ์กล่าว

 

ขณะเดียวกัน แนวทางสร้างความปลอดภัยเรื่องการหลอกลวงเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศไทย การป้องกันหลายด้านเพื่อตรวจสอบ การหลอกลวงผ่านฟิชชิ่ง มีการสร้างโปรแกรมแสดงตัวตน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบเชื่อมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการสร้างแพลตฟอร์มกลางป้องกันบัญชีม้าการทำธุรกรรมกลางระหว่างธนาคาร โดยจะมีการยกระดับไปสู่การแจ้งเตือนไปในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ Do or Die เราจะหาแพลตฟอร์มกลางจับบัญชีม้า เพื่อเพิ่มอำนาจทางกฎหมายให้โลกมีระบบการซื้อขายออนไลน์มาร์เก็ตเพลสที่ดี มีการช่วยยืนยันตัวตน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสอาจจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ เพิ่มอำนาจการแก้ไขปัญหาผ่านอำนาจทางกฎหมายที่มากขึ้น” นายวิศิษฏ์กล่าว

นายวิศิษฏ์กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการตรวจจับ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อเก็บข้อมูลที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ทำให้รู้ได้ว่ามีเว็บอะไรบ้าง หากตั้งอยู่ในประเทศไทยสามารถประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการหาพื้นที่ตั้งและติดตามตัวคนร้าย และขออำนาจศาลสั่งปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์เหล่านี้ได้ทันที ถ้าเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ

อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านจะเร่งขอศาลมีคำสั่งปิดกั้น และให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกับประเทศนั้นๆ เพื่อติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป

 

สําหรับด้านการเข้าถึงดิจิทัล เซอร์วิส ต้องดูที่ความสมเหตุสมผลว่าราคาควรอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ให้มีราคาการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐขยายให้มีผู้บริการที่เป็นเซอร์วิส โพรวายเดอร์เป็นธรรมมากขึ้น ประเด็นนี้จะพยายามคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างใกล้ชิด

“พร้อมกับต้องผลักดันให้ดิจิทัล คือ ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง ผ่านการเชื่อมต่อที่ไม่มีความต่างศักดิ์ หมายถึงคนในเมืองและคนในชนบทต้องไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง โดยจะมุ่งไปที่ระบบบริการดิจิทัลด้านสาธารณสุข และระบบการศึกษา พร้อมกันนี้ยังจะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนเร็วมาก ซึ่งเมตาเวิร์สมีการพัฒนาตัวเอง อย่าให้กระทรวงดีอีเอสตกขบวน ซึ่งจะต้องมีการนำองค์ความรู้มาประกอบกัน” นายวิศิษฏ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังสร้างแพลตฟอร์มการตลาดกลาง (มาร์เก็ตเพลส) ในการโอน เพื่อให้การทำตลาดและการชำระเงินบน โลกดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีความปลอดภัยในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และจะเชิญแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มกลไกในเรื่องการโอนเงินและระงับข้อพิพาทด้วย และจะผลักดันเรื่องดิจิทัลไอดีให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย จะทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีการยืนยันตัวตนและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ส่วนการเข้าถึงบริการด้านดิจิทัลเพื่อลดความเลื่อมล้ำก็เป็นอีกหนึ่งนโยบาย

โดยเฉพาะส่งเสริมคนพื้นที่ชายขอบห่างไกล ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยความร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมเด็กพื้นที่ชายขอบเรียนทางไกล ได้เนื้อหาเหมือนเด็กในเมือง และประชาชนได้ใช้ดิจิทัลในการประกอบอาชีพ อาทิ ค้าขาย ฯลฯ การรักษาสุขภาพด้วยเทเลเมดิซีน หรือแพทย์ทางไกลไม่ต้องเดินทางมาในเมือง ได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้ดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

พร้อมส่งเสริมให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต แข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม มีราคาค่าบริการที่สมเหตุผล เป็นไปตามกลไกตลาด

ได้ฟังความในใจปลัดดีอีเอสใหม่หมาด…ที่เหลือคอยตามดู จะ DO หรือ DIE รู้กัน!