ศึกพระพุทธสิหิงค์ (2) : พระขนมต้ม คู่บ้านคู่เมืองพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วิทยากรท่านที่สองที่ร่วมเปิดประเด็นคือ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนให้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลก

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นไว้ 4 ประเด็นคือ

1. พระพุทธสิหิงค์กับตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

2. พระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์

3. รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์

4. พระพุทธสิหิงค์ภาคพิสดารที่วัดอินทคีรี

พระพุทธสิหิงค์ กับตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์นั้นปรากฏในตำนานที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราชสองฉบับหรือสองสำนวน

ฉบับแรกคือ ตำนานการสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

กับอีกฉบับคือ ตำนานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งสองฉบับระบุศักราชไว้ตรงกันคือ พ.ศ.1719 (มหาศักราช 1098)

ฉบับแรกนั้นมีการกล่าวถึง พญาศรีธรรมาโศกราชโปรดให้ทำอิฐทำปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นที่หาดทราย ณ บริเวณที่มีชเลรอบ ครั้งนั้นยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาจากกรุงลังกา มาถึงหาดปีนัง และมาถึงหาดทรายแก้ว สถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์นั้น

ตำนานอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า พญาศรีธรรมโศกได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช อัครมเหสีของพระองค์ชื่อนางสังขเทวี พร้อมด้วย พญาพงศากษัตริย์ และบาคู ก็ตริกันด้วยมหาพุทธคัมเภียร ซึ่งจะทำอิฐทำปูนก่อพระมหาธาตุ จึ่งรู้ข่าวว่าพระสิหิงค์เสด็จมาจากลังกา แลล่องน้ำมา มีผีพรายเงือกงูฉลามประคองตามหลัง พระสิหิงค์ลอยมาถึงเมืองเกาะปีนัง แล้วถึงเกาะแก้วเจ้าไทนั้น

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า รายละเอียดในตำนานทั้งสองสำนวนนั้นอาจต่างกันไปบ้างตามแต่ผู้รจนา ทว่า กล่าวโดยสรุปแล้วมีสิ่งที่เหมือนกันจับใจความได้ว่า

“มีพระพุทธสิหิงค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในขณะที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชกำลังโปรดให้สร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช”

ส่วนเส้นทางของพระพุทธสิหิงค์ที่ตำนานทั้งสองระบุว่าจากลังกา ผ่านปีนัง และมาถึงหาดทรายแก้ว จะเดินทางมาอย่างไรนั้น นักวิชาการในท้องถิ่นให้ความเห็นไว้สองกระแส

กระแสแรกว่า จากทะเลอันดามัน น่าจะผ่านมาทางช่องแคบมะละกา ทำให้สามารถขึ้นสู่ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู คือที่นครศรีธรรมราชได้ง่ายกว่าเดินบก

อีกกระแสหนึ่งเห็นว่า เมื่อถึงปีนังแล้ว อาจนำพระพุทธสิหิงค์ผ่านมาทางเมืองตรัง เป็นการเดินบกแล้วตัดมายังฝั่งทะเลตะวันออกที่นครศรีธรรมราช

ผศ.ฉัตรชัยเห็นว่า ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใดก็แล้วแต่ ตำนานทั้งสองสำนวนนี้ชี้ให้เห็นถึง ความผูกพันกันชนิดแยกไม่ออกระหว่างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชกับพระพุทธสิหิงค์ เนื่องจากสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน

อีกนัยหนึ่ง การปรากฏขึ้นของพระพุทธสิหิงค์ก็ดี พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชก็ดี แท้ที่จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์แห่งการรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากลังกามาสถาปนาในแผ่นดินนครศรีธรรมราชอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตอนต้นนั่นเอง และจากนั้นลัทธินี้ก็ได้แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคใกล้เคียง

พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เครดิตภาพจากเว็บ นครออนไลน์

พระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์

ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระพระภิกษุชาวล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในบทที่ใช้ชื่อว่า “พระสีหลปฏิมา” มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ และกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช

พระโรจน์เจ้า (หลายท่านสันนิษฐานว่าหมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ใคร่จะเห็นมหาสมุทร จึงแวดล้อมด้วยทหารหลายหมื่นเสด็จล่องใต้ไปตามลำน้ำน่าน จนกระทั่งถึง สิริธัมนคร (เป็นชื่อภาษาบาลีของนครศรีธรรมราช)

ได้ยินว่าพระเจ้าสิริธัมครองราชย์ในเมืองนั้น พระองค์ทรงทราบว่าพระโรจน์เสด็จมา จึงเสด็จออกไปต้อนรับเป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นตรัสเล่าให้พระโรจน์ฟังว่า พระสีหลปฏิมา (หมายถึงพระพุทธสิหิงค์) นี้มีความอัศจรรย์ในลังกาทวีปตามที่ได้สดับมา พระโรจน์เจ้าทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามว่าเราจะไปที่นั้นได้ไหม พระเจ้าสิริธัมตรัสว่า ไปไม่ได้

เหตุเพราะมีเทวดา 4 ตน ชื่อสุมนเทวราช 1 รามเทวราช 1 ลักขณาเทวราช 1 ขัตตคามเทวราช 1 มีฤทธิ์เดชมากรักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นดังนั้น สองกษัตริย์จึงส่งทูตไปยังลังกาทวีป ครั้นแล้วพระโรจน์เจ้าก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย

ผศ.ฉัตรชัยอธิบายว่า ความที่ยกมาตอนนี้สะท้อนว่าสุโขทัยเริ่มมีความสนใจพุทธเถรวาทสายลังกาวงศ์เป็นอย่างมาก โดยรับผ่านจากนครศรีธรรมราช

หลักฐานที่ปรากฏถึงความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับลังกาที่สอดรับกับชินกาลมาลีปกรณ์ก็คือ ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราชมีเทวดา 4 ตนเฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุอยู่จริง พบในวิหารม้า นั่นคือเทวดาคู่แรกนั่งชันเข่าถือพระขรรค์อยู่ที่บันไดตอนบนทางเข้าสู่พระมหาธาตุ มีชื่อว่าขัตตคาม (ขัตตุคาม) กับรามเทพ หรือที่เรียกเพี้ยนเป็น “จตุคาม-รามเทพ” ปรากฏการณ์อันโด่งดังราวทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา

และอีกคู่คือทวารบาลที่บานประตูทางเข้า แม้ไม่มีชื่อสลักเหมือนคู่แรก แต่จากลักษณะของเทพาวุธนั้น มีความคล้ายคลึงกับศาสตราวุธของลักขณา และสุมนเทพที่สถิต ณ ศรีลังกา

น่าสนใจว่า ชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงเทวดา 4 ตนที่เฝ้ารักษาพระพุทธสิหิงค์ในเกาะลังกา โดยชินกาลไม่ได้บอกว่าเทวดา 4 ตนนี้ ทางนครศรีธรรมราชรับคติมาแล้วด้วยหรือไม่

แต่กลับปรากฏว่าวัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรรมราช รับคติเทวดาทั้ง 4 ตนนี้มาจากลังกาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ปัจจุบันจะถูกนำไปเฝ้าพระบรมธาตุ ไม่ได้เฝ้าพระพุทธสิหิงค์ก็ตาม

พระพุทธรูปสกุลช่างขนมต้ม ทำตามอย่างพระพุทธสิหิงค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์

ระหว่างตำนานและพุทธศิลปะนั้น ผศ.ฉัตรชัยมองว่าค่อนข้างขัดแย้งกันอยู่ ในขณะที่ตัวองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชนั้น มีรูปแบบที่เก่าแก่จริงสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18

ในทางกลับกัน พระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราช องค์ที่ประดิษฐาน ณ หอพระ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น กลับไม่ใช่งานพุทธศิลป์ในพุทธศตวรรษที่ 17-18

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กำหนดอายุพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราชไว้ว่า เก่าไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 21

พุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ฉบับนครศรีธรรมราชเป็นอย่างไร ไฉนจึงถูกกำหนดอายุไว้เพียงช่วง พ.ศ.2000 ลงมา และทำไมจึงถูกเรียกว่า “พระขนมต้ม”

ผศ.ฉัตรชัยพรรณนาว่า ลักษณะโดยรวมอาจดูคล้ายกับ “พระสิงห์ 1” หรือ พระพุทธสิหิงค์ฉบับล้านนา กล่าวคือ พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม เกตุดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วนคล้ายราชสีห์ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย

สิ่งที่แตกต่างไปจากล้านนาคือ ชายสังฆาฏิของพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช ไม่ได้ทำปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบอยู่เหนือพระถัน แต่ทำเป็นริ้วแฉกซ้อนกันหลายริ้ว

วรกายที่อวบอ้วนก็เช่นกัน ของล้านนาแม้จะบ่าใหญ่เอวเล็ก แต่ก็ไม่ดูล่ำสันเน้นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ผิดกับของที่นครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้ จึงมาเรียกกันภายหลังว่า “พระขนมต้ม” หรือ พระพุทธปฏิมารูปแบบขนมต้ม

เหตุไรพระพุทธสิหิงค์ทั้งของล้านนาและของนครศรีธรรมราช จึงนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย ไม่นั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ แบบพระพุทธรูปลังกาที่นิยมกัน ในเมื่อเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา เดี๋ยวจักค่อยๆ เฉลย ในตอนต่อๆ ไป

พระพุทธสิหิงค์วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) นครศรีธรรมราช พระพักตร์คล้ายศิลปะลังกามากที่สุด เคดิตภาพจากเว็บ นครออนไลน์

พระพุทธสิหิงค์ภาคพิสดารที่วัดอินทคีรี

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์ในนครศรีธรรมราช ได้กลายเป็นที่นิยมชมชอบของชาวพุทธทั่วภาคใต้ไปโดยปริยาย มีการจำลองแบบไปสร้างทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งใหญ่-เล็กกว่าองค์จริง ซึ่งองค์จริงมีขนาดหน้าตักกว้างแค่ 14 นิ้ว บ้างสร้างขนาดมหึมาตามภูเขาหลายจังหวัดทางภาคใต้

มีพระพุทธสิหิงค์อยู่องค์หนึ่ง ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ดูเก่าและละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธสิหิงค์องค์คู่บ้านคู่เมืองที่เก็บรักษาไว้ในศาลากลางมากที่สุด นั่นคืออยู่ที่วัดอินทคีรี หรือวัดบ้านนา

หลายคนทักว่าพระพักตร์ค่อนไปทางศิลปะลังกายิ่งกว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ใดๆ ทั้งหมดในสยามประเทศด้วยซ้ำ

มีนิทานในท้องถิ่นที่เล่ากันถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธสิหิงค์ที่วัดอินทคีรี ไว้อย่างค่อนข้างพิสดาร อันเป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์แต่อย่างใด นั่นคือ

กล่าวกันว่า เมื่อพระโรจน์เจ้าเสด็จมาที่เมืองสิริธัมนคร ได้ขอพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ไปไว้ที่สุโขทัย พระเจ้าสิริธัมไม่อยากให้เพราะเห็นว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง แต่ครั้นจะปฏิเสธตรงๆ ก็อาจจะทำให้ผิดใจกันกับกษัตริย์สุโขทัย จึงบอกว่ายังไม่สามารถให้ได้ตอนนี้ ขอทำจำลองไว้ก่อน เดี๋ยวจะส่งตามไปให้ภายหลัง

จากนั้น ชาวเมืองสิริธัมนครก็เกรงว่าพระโรจน์จะยกทัพมาทวง จึงมีการเอาไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ บ้างว่าโยนในสระน้ำ บ่อน้ำ แนวป่า เถื่อนถ้ำ กระทั่งกาลเวลาผ่านไป 700 กว่าปี พระพุทธสิหิงค์องค์ดังกล่าวจึงยังคงอยู่ที่วัดบ้านนา (อินทคีรี) จวบจนวันนี้

เป็นการขยายความอย่างค่อนข้างพิสดารทีเดียว ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าของชาวล้านนาว่าพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ ช่วงที่ทางสยามจะมาเอาไป ได้มีการซ่อนองค์จริง โยนลงบ่อดินบ้าง ซ่อนในถ้ำอุโมงค์ใต้เจดีย์บ้าง แล้วเอาองค์ปลอมมาให้แทน ซึ่งมุขปาฐะนี้จักได้กล่าวรายละเอียดในตอนต่อๆ ไป

เรื่องราวจักจริงเท็จเช่นไรมิอาจอาจทราบได้ แต่ทั้งหมดสะท้อนว่า ทุกคนทุกชุมชนต่างหวงแหนพระคู่บ้านคู่เมืองของตน •

 

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ