ภารกิจฟื้นชีพ ‘โดโด้’ (4) ความก้าวหน้าของโคลอสซัล | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ไม่ใหญ่แน่นะวิ… ไม่ใหญ่ได้ไง เพราะน้อนนนนคือ “ไอคอน” แห่งวงการสัตว์สูญพันธุ์

ในบางประเทศ โดโด้ถือเป็นสัตว์ในตำนานเทียบชั้นยูนิคอร์นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะน้อนนนไปเฉิดฉายเล่นใหญ่อยู่ในวรรณกรรมเด็กแนวแฟนตาซีชื่อดังอย่าง “อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice in wonderland)”

แม้แต่ในเวอร์ชั่นการ์ตูนดิสนีย์ น้อนนนนก็ยังมีไปแจมกับเขาด้วยในบท “กัปตันโดโด้ (captain Dodo)”

ด้วยความน่ารัก ปุ๊กลุกแฝงด้วยเสน่ห์แนวๆ สัตว์ในตำนาน ทำให้ภารกิจฟื้นชีพโดโด้นั้น กลายเป็นหนึ่งในมิชชั่นที่ทั้งสร้างชื่อและน่าจะทำเงินของสตาร์ตอัพฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ “โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences)”

แต่เทคนิคและแนวคิดอาจจะดูแหกคอกไปนิด แต่ด้วยพันธกิจของบริษัท ก็ถ้าจะจัดเป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะแนวคิดหลักของบริษัทคือเน้นให้โอกาสสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้ฟื้นชีพมาโลดเล่นบนโลกอีกรอบ

เปิดมาแค่สองปี ก็ดูดเงินนักลงทุนกระเป๋าหนักไปก้อนมหึมากว่า 225 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยงบประมาณที่ทุ่มกันมาแบบแทบไม่จำกัด ทีมนักวิจัยโคลอสซัลสามารถทำวิจัยได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าโครงการจะล่มระหว่างทาง

และนั่นทำให้ความก้าวหน้าของโครงการดำเนินไปไวและไกลกว่าที่คิดอย่างมหาศาล

กัปตันโดโด้จาก Alice in Wonderland ของดิสนีย์

ในกรณีของช้างแมมมอธ ในเวลานี้ พวกเขาได้อ่านรหัสดีเอ็นเอทั้งหมดในจีโนมของช้างเอเชียและช้างแอฟริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จีโนมอ้างอิงของช้างของทีมโคลอสซัลนั้นถือว่าเป็นจีโนมของช้างที่ละเอียดที่สุดเท่าเคยมีมา

ซึ่งพอมีจีโนม ก็ต้องมีซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์จีโนม พวกเขาก็เลยสร้างซอฟต์แวร์ “ฟอร์มไบโอ (Form Bio”) กันขึ้นมา เพื่อเปรียบเทียบและยืนยันความเหมือนความต่างของสารพันธุกรรม รวมถึงการจำแนกและระบุยีนใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นเป้าหมายของการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนช้างเอเชียให้กลายไปเป็นช้างแมมมอธ

และเพื่อหาเงินเพิ่มพวกเขาสปินออฟฟอร์มไบโอออกมาเป็นสตาร์ตอัพใหม่ และส่งเข้าไประดมทุนในซีรีส์เออีกรอบ และฟอร์มไบโอก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะระดมทุนเพิ่มเติมมาได้แล้วอีกสามสิบล้านเหรียญ

บุกเบิกการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ช้าง ออกแบบไปป์ไลน์สำหรับการแก้ไขยีนแบบเป็นซีรีส์ และการถ่ายนิวเคลียสในเซลล์ช้างเพื่อต่อยอดไปเป็นเทคโนโลยีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (in-vitro gametogenesis) และสร้างตัวอ่อน (in-vitro embryogenesis) ในหลอดทดลอง

และที่น่าสนใจที่สุดก็คือริเริ่มโครงการกำจัดไวรัสเริมช้าง (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus, EEHV) ให้หมดสิ้นไป

ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการฟื้นชีพช้าง แต่ก็แอบเกี่ยว

“ไวรัสเริมช้าง คือต้นเหตุของการเสียชีวิตของลูกช้างกว่าครึ่งในสวนสัตว์ เป็นปัญหาสะสมแต่ป้องกันได้” พอล ลิง (Paul Ling) นักไวรัสวิทยาจากวิทยาลัยแพทย์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine) กล่าว ทีมวิจัยของพอลที่เบย์เลอร์มุ่งเน้นในการพัฒนาวิธีการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาการติดเชื้อเริมช้างในช้างทั้งในสวนสัตว์ ปางช้างและในถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ

และจากการสนับสนุนของทีมโคลอสซัล อีกไม่นาน เราน่าจะได้เห็นชุดตรวจ ยา และวัคซีนต้านไวรัสเริมช้างออกมาสู่ตลาด

หนูบูลด๊อก (bulldog rat) โดยชาร์ลส์ วิลเลียม แอนดรูว์ส (Charles William Andrews) ปี 1900

“ประชากรช้างเอเชียนั้นสำคัญมากต่อการฟื้นฟูประชากรแมมมอธ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการปกป้องสายพันธุ์ของช้างเอาไว้ให้ได้” จัสติน ควินน์ (Justin Quinn) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโคลอสซัลกล่าว “เราตื่นเต้นมากที่เป็นส่วนช่วยในการผลักดันวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ของทั้งช้างและแมมมอธ”

แม้จะโดนค่อนขอดเป็นระยะๆ สำหรับโคลอสซัล แต่มุมมองของพวกเขาในเชิงอนุรักษ์ก็น่าสนใจ และบางทีการเข้าไปร่วมมือกับทีมเบย์เลอร์เพื่อสร้างเทคโนโลยีล้างบางไวรัสเริมช้างนั้นอาจจะเป็นการรุกไปข้างหน้าที่ชาญฉลาดที่นอกจากจะให้ผลผลิตเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะขายได้แล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับบริษัทอีกด้วย

ก้าวนี้ของโคลอสซัลทำให้นักวิจัยและนักอนุรักษ์ที่แต่เดิมรู้สึกไม่ค่อยโอเคกับการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ หรือ de-extinction เริ่มหันมองพันธกิจของโคลอสซัลในอีกมุม เพราะบางที ผลพวงที่พ่วงไปกับมิชชั่นต่างๆ ของโคลอสซัล อย่างโปรเจ็กต์เทคโนโลยีต้านเริมช้างนี้ อาจจะเป็นประโยชน์จริงๆ ในการวิจัยและการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่เอาพวกที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมา แต่ช่วยพวกที่ยังอยู่ในลิสต์แดง (red list) ด้วยว่าจะไปหรือจะอยู่

เพราะถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต สิ่งมีชีวิตมากมายกสิ้นชีพวางวายไปด้วยโรคระบาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ มะเร็งใบหน้า (Devil facial tumour disease, DFTD) ในทาสมาเนียนเดวิล (Tasmanian devil) และไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ที่เล่นเอาประชากรกอริลล่าลดฮวบจนแทบสูญพันธุ์

และบางที มนุษย์นี่แหละที่เป็นตัวการในการนำโรคไปติดพวกมัน

 

รอสส์ แม็กฟี (Ross MacPhee) ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนิวยอร์กรายงานในเปเปอร์ของเขาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS one ในปี 2008 ว่า “การสูญพันธุ์ของ “หนูบูลด๊อก (bulldog rat)” และหนูแม็กเคลียร์ (Maclear’s rat) แห่งเกาะคริสต์มาสที่เกิดขึ้นในราวๆ ปี 1908 นั้นน่าจะเกิดจากเชื้อโรคเหงาหลับ (Trypanosoma lewisi) ที่ติดมากับหนูที่โดยสารเรือเอส เอส ฮินดูสถาน (S.S. Hindustan) ที่มาขึ้นฝั่งที่เกาะในปี 1899″

“หลังจากการมาเยือนของเรือฮินดูสถาน หนูท้องถิ่นบนเกาะก็เริ่มมีอาการป่วยตายระเกะระกะอยู่ตามฟุตปาธ และไม่นาน ก็ไม่มีใครเห็นพวกมันอีกเลย” รอสส์เล่า เขาเชื่อว่าทั้งหนูท้องถิ่นบนเกาะน่าจะติดเชื้อมาจากหนูบนเรือผ่านเห็บ

ลองจินตนาการไวรัสร้ายแรง ที่ติดและกระจายเร็วอย่างโควิด สามปีก็ติดไปมากกว่าหกร้อยเจ็ดสิบล้านคนไปแล้ว ขนาดมนุษย์ที่ชาญฉลาดยังแทบกระอัก ถ้าคิดวัคซีนและยาต้านไม่ทัน ก็อาจจะเสียหายหนักยิ่งไปกว่านี้

อย่าลืมว่าหนูไม่มียา และวัคซีน และยิ่งพวกมันอยู่บนเกาะด้วย พอระบาดก็คือสูญพันธุ์ไปเลย ที่จริง ราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปในช่วงห้าร้อยปีที่ผ่านมา ก็คือพวกที่อาศัยอยู่ตามเกาะนี่แหละ

และนี่คือจุดจบอันแสนเศร้าของสองเผ่าพันธุ์หนูแห่งเกาะคริสต์มาสที่โด่งดัง

 

แบบนั้นถ้าอยากคืนชีพตัวอะไรก็ทำเถอะ เผื่อว่าความหลากหลายในโลกจะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยถ้ามีโดโด้มาเดินเล่นให้เห็นกันจริง วงการวิทยาศาสตร์คงครึกครื้นไม่น้อย

“โคลอสซัลคือสัญลักษณ์แห่งความหวังในการปกป้องและอนุรักษ์สปีชีส์เอาไว้” อีริก แอนเดอร์สัน (Erik Anderson) ผู้ก่อตั้งเวสต์ริเวอร์กรุ๊ป หนึ่งในนักลงทุนที่ลงเงินไปกันโคลอสซัลกล่าว “ความสำเร็จในการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์จะช่วยย้อนระบบนิเวศน์กลับไปเป็นแบบที่ควรจะเป็น และนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ”

เขาเชื่อว่าการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ของโคลอสซัลจะช่วยให้เราย้อนคืนระบบนิเวศน์กลับสู่สภาพเดิมที่เคยเป็นมาได้ ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะในความเป็นจริง พวกสัตว์ที่เราดึงกลับมาได้นั้นจะอยู่รอดได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ยังไม่ต้องพูดถึงจะไปเปลี่ยนระบบนิเวศน์

แต่ถ้าย้อนกลับไปฟังวิสัยทัศน์ของ “เบน แลมม์ (Ben Lamm)” ซีอีโอของโคลอสซัล ตอนที่ขายไอเดียให้นักลงทุน ก็อาจจะต้องแอบสงสัยว่าที่จริงแล้ว เป้าหมายจริงๆ ของบริษัทคืออะไรกันแน่

เพราะสารพัดสัตว์สูญพันธุ์ที่คืนชีพ ทั้งแมมมอธ เสือทาสมาเนีย และโดโด้ คงไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจที่จะทำเงินได้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คุ้มค่าสมราคาหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐที่เหล่านักลงทุนกระเป๋าหนักร่วมกันทุ่มทุนลงไป

แต่สิ่งที่น่าจะสร้างกำไรจากโคลอสซัลคือทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) และอีกสารพัดเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์ที่อาจจะเอาไปต่อยอดใช้ต่อในทางเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ได้ต่างหาก

 

กระซิบบอกอีกนิดว่าในโปรเจ็กต์ไทลาซีน ก็ไปไวไม่ต่างจากแมมมอธ และอาจจะให้ผลผลิตนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างครรภ์จำลอง หรือ artificial womb ขึ้นมาก็ได้ เพราะในตอนนี้ โปรโตไทป์สำหรับการเลี้ยงตัวอ่อนนอกมดลูก (artificial ex-utero supporting system) ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้วด้วยเช่นกัน

“ผลงานเชิงลึกของ ดร.จอร์จ เชิร์ช (George Church) และโคลอสซัลเกี่ยวกับจีโนมิกส์นั้นกำลังสร้างความก้าวหน้าแบบสุดขอบในวงการเทคโนโลยีชีวภาพ” โธมัส ทูลล์ (Thomas Tull) ซีอีโอของกองทุนเทคโนโลยีนวัตกรรมสหรัฐ (United States Innovative Technology Fund, USIT) หนึ่งในนักลงทุนในรอบซีรีส์บี (Series B) ของโคลอสซัลที่เพิ่งดีลกันไป ร้อยห้าสิบล้านเหรียญล่าสุด เมื่อต้นปี 2023 ในช่วงที่โคลอสซัลเปิดตัวภารกิจโดโด้

“นวัตกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ทั้งในด้านชีวการแพทย์ด้วยและพวกเราก็มองไปถึงอนาคตที่เราจะช่วยกันผลักดันผลงานที่สำคัญชิ้นนี้” โธมัสย้ำ

ด้วยกายวิภาค และกลไกการพัฒนาของนกที่แตกต่างกับของแมมมอธ และไทลาซีนโดยสิ้นเชิง มั่นใจได้ว่ามิชชั่นโดโด้คงจะให้เทคโนโลยีเด็ดๆ อีกมากมายที่อาจจะนำไปใช้ได้แพร่หลายไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการอนุรักษ์นก

“งบฯ วิจัยก้อนใหญ่ขนาดนี้ ถ้าเอามาทำเป็นแคมเปญรักษ์โลก บางทีอาจจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับโลกได้มากกว่าที่โครงการนี้จะให้ก็เป็นไปได้ คือถ้าจะทำ de-extinction จริงๆ ก็คงทำได้แหละ แต่แล้วต้องถามว่าควรทำหรือไม่ และถ้าทำขึ้นมาจริงๆ จะช่วยส่งผลดีกับโลกจริงหรือ?” ชัดเจนว่านักวิจัยและนักอนุรักษ์ยังมีคำถามอยู่อีกค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับความคุ้มค่า และความเป็นไปได้ที่แท้จริงของการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์

บางคนถึงกับออกมาประณามเสียด้วยว่า มิชชั่นโดโด้นั้นก็เป็นได้แค่ภารกิจเพื่อการโฆษณา กะแค่เพื่อหาเงินระดมทุนมาเพื่อทำวิจัย ไม่ได้ทำเพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงอนุรักษ์

แต่ในมุมมองของนักลงทุน บางทีการฟื้นชีพแมมมอธ ไทลาซีน โดโด้ และการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของพวกเขาก็ได้

เพราะผลพลอยได้ที่จะได้มาจากภารกิจไซด์ไลน์อาจจะหอมหวานเกินต้านยิ่งกว่าผลจริงๆ ที่จะได้จากมิชชั่นก็เป็นได้!!