Yamaha YH-5000SE Orthodynamic Headphones

Yamaha YH-5000SE Orthodynamic Headphones

 

ปลายปีที่แล้วได้ข่าวค่ายเครื่องเสียงยามาฮ่าจะเปิดตัวชุดหูฟังระดับ Super Hi-End ซึ่งจะมาเป็นเรือธงลำใหม่ ก็ให้รู้สึกน่าสนใจอยูไม่น้อย

เนื่องเพราะก่อนหน้านี้เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ราวๆ กลางทศวรรษที่ 70s ชุดหูฟังของค่ายนี้ได้เคยทำให้ยุทธจักรเฮดโฟนสั่นสะเทือนมาแล้วหนหนึ่ง เมื่อได้เผยโฉม Model HP-1 ออกมาด้วยเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ และว่ากันว่าสุดล้ำในเวลานั้นเอามากๆ

และที่สำคัญคือมันสามารถถ่ายทอดเสียงดนตรีออกมาชนิดที่คู่แข่งระดับแถวหน้าของวงการได้ฟังแล้ว พาสะดุ้งกันไปทั้งบางเลยนั่นเทียว

ด้วยแต่ไหนแต่ไรมาชุดหูฟังส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบ Dynamic Headphones คือใช้ไดรเวอร์หรือตัวขับเสียงที่เป็นแบบไดนามิก มีความพยายามอย่างมากจากผู้ผลิตหลายๆ ค่าย ที่จะนำเทคโนโลยี Electrostatic และ Planar เข้ามาใช้ในการขึ้นรูป Diaphragm ของตัวขับเสียง เพื่อให้ได้การถ่ายทอดเสียงที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการให้รายละเอียดพร้อมความคมชัดและกระจ่างใสของน้ำเสียง และสอดคล้องกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงในเวลานั้น ที่มีความรุดหน้าไปมากทั้งด้านระบบเสียงไฮ-ไฟ สเตอริโอ และแบบมัลติ-แชนเนล

เพราะลำโพงใช้งานในบ้านทั้งแบบอิเล็กโทรสแตติก และพลานาร์ ที่แผ่นไดอะแฟรมเป็นแบบแถบริบบิ้นบางๆ มีสื่อหรือวัสดุตัวนำไฟฟ้าในตัว เริ่มมีปรากฏให้เห็นและเป็นที่ยอมรับกัน ว่าให้คุณภาพเสียงออกมาได้ดีมากๆ เพียงแต่มีราคาสูงกว่าลำโพงส่วนใหญ่

เช่นเดียวกับทีมวิศกรเสียงของยามาฮ่าในขณะนั้น ที่พยายามนำจุดเด่นของเทคโนโลยีทั้งสองเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ โดยมุ่งเน้นความสนใจไปที่ประสิทธิภาพของอิเล็กโทรสแตติก ที่แม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่มีโครงสร้างที่ค่อนข้างเรียบง่าย

สุดท้ายคำตอบที่ได้จากความพยายามครั้งนั้นก็คือตัวขับเสียงแบบ Orthodynamic หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Planar Magnetic Driver ที่ใช้ประโยชน์จากสนามแม่เหล็กแบบ Isodynamic Magnetic Field มาขับเคลื่อนแผ่นไดอะแฟรมที่มีความบางมากๆ นั่นเอง

ทีมวิศวกรของยามาฮ่าบอกว่าได้ขึ้นรูปไดอะแฟรมด้วย Polyester ที่มีความบาง 12 ไมโครเมตร ซึ่งบางพอๆ กับความหนาของเส้นเทปม้วนเทปคาสเส็ต ขนาด C-90 (ระยะเวลาบันทึกเสียงได้นาน 90 นาที) แล้วใช้กรรมวิธี Photo-Etching Technology ในการพิมพ์ลายด้วยสื่อตัวนำไฟฟ้าลงบนพื้นผิวในรูปแบบเกลียว เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Voice Coil

จากนั้นได้แบ่งวอยซ์ คอยล์ ออกเป็นห้าส่วนวางตามตำแหน่งของแม่เหล็กแบบสลับขั้วกัน ซึ่งเมื่อสัญญาณดนตรี (ไฟฟ้า) ไหลผ่านสื่อที่เป็นวัสดุตัวนำ มันก็จะสร้างสนามแม่เหล็กตอบโต้กันเพื่อให้ไดอะแฟรม (ที่มีวอยซ์ คอยล์ในตัว) เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างเป็นคลื่นเสียงออกมา

นั้น, เป็นหลักการคร่าวๆ ของแหล่งกำเนิดเสียงจากไดอะแฟรมที่มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ โดยมีสื่อหรือวัสดุตัวนำไฟฟ้ากระจายอยู่เหมือนเคลือบเอาไว้บนผิวแผ่นนั่นแหละครับ

กลับมาที่ชุดเฮดโฟนตัวล่าสุดนี้ ก็ต้องย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.2016 ทีมวิศวกรของยามาฮ่ามีความปรารถนาที่จะนำแนวคิดนี้กลับมาใช้อีกครั้ง กับการรังสรรค์เฮดโฟนที่ตั้งใจจะให้เป็นเรือธงลำใหม่ของค่าย ผ่านเทคโนโลยีพร้อมกรรมวิธีและวัสดุที่ทันสมัยของปัจจุบัน ซึ่งพวกเขาได้ใช้เวลานานกว่าหกปีในการคิดค้นและพัฒนา รวมไปถึงการออกแบบและทดสอบไดอะแฟรมของไดรเวอร์มากกว่า 1,000 แบบ ในที่สุดก็ได้มาซึ่ง Orthodynamic Driver ที่เป็นพัฒนาการล่าสุด และนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน Model YH-5000SE ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปีนี้เอง

พร้อมกับระบุว่าเป็นชุดหูฟังที่ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างคุณภาพเสียงของเสียงเพลงด้วยความสมจริงอย่างถึงที่สุด ด้วยชุดตัวขับเสียงต้นแบบที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด รวมถึงการใช้วัสดุและมีงานฝีมือการผลิตที่ดีที่สุด เพื่อมอบแก่นแท้ของเสียงแบบ True Sound ที่ยามาฮ่ายึดมั่นมาโดยตลอด สำหรับใครผู้แสวงหาจุดสุดยอดของเสียงในเฮดโฟน คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

โครงสร้างของชุดหูฟังต้นแบบ Model HP-1 นั้น เป็นงานออกแบบของ Mario Bellini นักออกแบบชาวอิตาลี ที่ยุคนั้นสร้างชื่อให้กับผลิตภัณฑ์ของยามาฮ่าด้านหน้าตาของเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับเครื่องเล่นเทปคาสเส็ต เด็ค Model TC-800 ที่แลดูโฉเฉี่ยวและก้าวล้ำมากในยุคนั้น ด้วยรูปทรงสามเหลี่ยมที่นักเล่นหลายๆ คนในยุคนั้นยังคงจำได้ติดตาจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เรือธงลำล่าสุดชุดนี้จะมาจากฝีมือของทีมงานลูกหม้อในค่ายเองก็ตาม เมื่อดูภาพลักษณ์โดยรวมแล้ว มันยังคงแฝงกลิ่นอายของตัวต้นแบบให้รับรู้ได้อยู่ในที

โดยเฉพาะกับการใช้โครงสร้างของแถบคาดศีรษะแบบสองชั้น ด้านบนเป็นแผ่นโลหะสแตนเลสบางซ้อนด้วยแผ่นหนังคุณภาพสูง ซึ่งช่วยกระจายแรงกดด้านข้างทั่วทั้งศีรษะเพื่อความสบายยามสวมใส่มากที่สุด หนึ่งในทีมออกแบบบอกว่า – เราพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้ได้ความสบายในการสวมใส่ระดับอุดมคติ โดยมีการวัดตรวจสอบอย่างพิถีพิถันว่าโครงสร้างของมันจะสัมผัสส่วนบนของศีรษะกับด้านข้างของใบหน้าเท่าๆ กันหรือไม่ รวมทั้งให้มีแรงกดน้อยที่สุด แม้ว่าจะสวมใส่อยู่บนศีรษะที่มีลักษณะผิดปกติก็ตาม

ขณะที่โครงสร้างของส่วนครอบหูนั้นขึ้นรูปด้วยแมกนีเซียมความแกร่งสูง แต่มีน้ำหนักเบามาก ทำให้เฮดโฟนชุดนี้มีน้ำหนักเบาอย่างน่าทึ่งทั้งๆ ที่เป็นแบบครอบหู เปิดด้านหลัง หรือ Over-Ear, Open-Back Design Headphones คือหนักเพียง 320 กรัม เท่านั้นเอง ซึ่งเบากว่าเมื่อเทียบกับตัวท็อปของคู่แข่งค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Focal Utopia Headphones, Audeze LCD-5, Beyerdynamic T1 รวมทั้ง Sennheiser HD-820 ด้วย ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมนั้นขณะที่แลดูมั่นคงแข็งแรงมากกลับมีน้ำหนักเบาอย่างไม่น่าเชื่อ

วัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบล้วนคัดสรรมาเป็นอย่างดี ในส่วนของ Ear-Pad มีทั้งหนังปกติและหนังกลับ สายนำสัญญาณเป็นแบบทองแดงบริสุทธิ์ปลอดออกซิเจนเคลือบเงิน (Silver-Coated OFC : Oxygen Free Copper) โดยมีสายให้สองชุดแบบหัวเสียบขนาด 3.5 มิลลิเมตร และขนาด 4.4 มิลลิเมตรแบบ Balanced Cable และมีขาตั้งวางอะลูมิเนียมให้มาด้วยพร้อมสรรพ

Yamaha YH-5000SE ผลิตขึ้นในโรงงานที่เมือง Kakegawa ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงงานเดียวกันกับที่ผลิตแกรนด์ เปียโน อันมีชื่อเสียงก้องโลกของยามาฮ่า

หลังจากเปิดตัวมีสื่อทางยุโรปบางรายได้นำไปทดลองใช้ แล้วบอกว่านอกจากจะให้สวมใส่ได้สบายติดต่อกันได้เป็นเวลานานแล้ว มันยังให้เสียงออกมาได้ยอดเยี่ยมมากจริงๆ โดยเฉพาะในแง่ความคมชัดและรายละเอียดตลอดจนไดนามิกของเสียงนั้น มันเหนือชั้นน่าทึ่งมาก

แล้วสรุปว่า, แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอยู่อย่างคือ ยากที่ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงมันได้เนื่องเพราะราคาค่าตัวของมันนั้น คิดเป็นเงินบาทบ้านเราแล้วใกล้ๆ สองแสน (ยังไม่รวมภาษี) นั่นเอง

เลยทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสเข้ามาให้นักเล่นบ้านเราได้สัมผัสตัวเป็นๆ กันหรือเปล่า •

 

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]