ธุรกิจพอดีคำ : “ดินน้ำมัน วอลล์เปเปอร์”

วันก่อนเพื่อนส่งวิดีโอมาให้

เขียนเตือนว่า “คนใจอ่อน ห้ามดู”

ไอ้เราก็นะ เป็นคนชอบความท้าทาย

แข็ง ไม่แข็ง ไม่รู้ แต่คำโปรยเพื่อนนี่ มันช่างกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นเสียนี่

พอกดเปิดวิดีโอขึ้นมา ก็พบว่าเป็นเหมือน “คนมุงกัน” พยายามจะดูอะไรสักอย่าง

มุมกล้องเสมือนเป็นสายตาของคนหนึ่งคนในนั้นพยายามที่จะแหวกฝูงชนเข้าไปดูว่ามี “อะไรเกิดขึ้น”

เสียงผู้คนอื้ออึง สายตาดูตื่นเต้น

เมื่อผู้ถือกล้องแหวกฝูงชนเข้าไปใกล้ๆ พอจะเห็นตรงกลาง ก็พบว่ามีชายหนึ่งคนถือปืนอยู่

เขาพูดด้วยภาษาที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง

ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาจีน

อึดใจถัดมา ชายผู้นั้นก็จ่อปืนมาที่ร่างกายของตัวเอง

แล้วยิงปืนเสียงดังสนั่นขึ้นหนึ่งนัด

เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสสอนเรื่องความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) อีกครั้ง

คราวนี้เป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน หรือที่เรียกว่า CFO ขององค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง

ความคิดเชิงออกแบบนั้นมีหลายส่วน

ตั้งแต่การทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Empathy)

การพยายามคิดนอกกรอบ ให้ได้ความคิดเยอะๆ (Ideate)

และการสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบกับผู้ใช้งาน (Prototype & Test)

จากประสบการณ์ของผมในการสอนผู้บริหารของบริษัทไทย ปัญหาหนักอกที่สุดคือเรื่องของการทำ “ต้นแบบ (Prototype)”

ทำไมน่ะหรือครับ

เพราะว่ามัน “เสี่ยงจะล้มเหลว” น่ะสิ

เวลาให้พูดคุย ทำความรู้จักผู้ใช้งาน หรือให้ลองคิดนอกกรอบ

ถ้าเราลองคิดดีๆ ที่จริงแล้ว

“โลกนี้ยังไม่ได้เปลี่ยน”

เรายังไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาบนโลกใบนี้ ถ้ายังไม่ได้สร้าง “ต้นแบบ”

และเมื่อไรที่เราคิดจะสร้าง “ต้นแบบ” ขึ้นมาสักอย่าง

มันก็จะมีสองทาง

หนึ่ง คือ “สำเร็จ”

สอง คือ “ล้มเหลว”

หลายครั้ง เราจึงหยุดอยู่เพียงแค่ “ความคิดฟุ้งๆ” ที่ดูจะทำให้เราเหมือนเป็น “คนมีความคิดสร้างสรรค์”

หากแต่ว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นคงจะยังไม่เป็นประโยชน์

ถ้ายังไม่ได้ลอง “สร้าง” ขึ้นมาให้โลกได้เห็น

ซึ่งอาศัย “ทัศนคติ” ของนวัตกร

และ “ความกล้าหาญ” อยู่ไม่น้อยทีเดียว

ผมเองมีลูกชายหนึ่งคน ตอนนี้อายุได้สองขวบเต็มแล้ว

แน่นอนป็นวัยแห่งการเรียนรู้ บ้านจึงต้องรกเป็น “พิเศษ”

ถ้าพูดถึงของเล่นที่ต้องมีติดบ้าน ของเล่นที่ได้รับรางวัลมากมาย ช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ

สิ่งนั้นคือ “เพลย์-โดห์ (Play-Doh)” หรือดินน้ำมันไร้สารพิษนั่นเอง

ขยำๆ ปั้นๆ อะไรที่อยู่ในหัว ก็ออกมาเป็นรูปร่าง โลดแล่นอยู่ในโลกได้

หากแต่ว่า มีใครรู้บ้างว่า Play-Doh ออกมาสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930

ไม่ใช่ของเล่น

แต่เป็นที่ทำความสะอาดวอลล์เปเปอร์

กดๆ เข้าไปที่กำแพง แล้วฝุ่นก็ติดออกมา

เวลาผ่านไปหลายปี หลานของผู้สร้างเจ้า Play-Doh ก็ค้นพบวิธีการเอา “สารพิษ” ต่างๆ ออกจากดินน้ำมัน

ช่วงแรกๆ นั้นก็ขายไม่ค่อยจะได้ เพราะคนไม่เชื่อว่าของแบบนี้จะเอาไปให้เด็กๆ เล่นได้

มันดูน่าจะ “อันตราย”

มีเรื่องเล่า คนขายนั้น บางครั้งถึงกับต้อง “กิน” เจ้า Play-Doh นี้โชว์เลยด้วยซ้ำ

แสดงให้เห็นว่าสรรพคุณยอดเยี่ยมคือมันไม่อันตรายจริงๆ นะ

ทำบ่อยๆ เข้า คนก็เริ่มเชื่อ

แหม คนขายทำถึงขนาดนี้ ก็น่าจะ “ปลอดภัย” จริงๆ

ค่อยๆ ขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน Play-Doh ขายไปแล้วกว่าห้าพันล้านกระป๋อง

การ “ทดลอง” สินค้าให้ลูกค้าเห็นถึงสรรพคุณนั้นทำได้หลายแบบ

นอกเหนือจากสาธยายด้วยกระดาษ โบรชัวร์

การ “ทำให้ดู” ทำให้ “เห็นภาพ” มากกว่าเป็นไหนๆ

เป็นการสร้าง “ต้นแบบ” ของประสบการณ์ให้ลูกค้า

ถ้าคุณเอาไปใช้นะ ชีวิตคุณจะดีแบบนี้ๆ

วิธีการขายแบบนี้เราเห็นกันในชีวิตประจำวันมากมาย

หากเราเดินไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะมีพนักงานคอยเอาสินค้าใหม่ๆ มาให้เรา “ชิม” กัน

นี่ก็เป็นการสร้าง “ต้นแบบ” ให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ใหม่ ถ้าเขาชอบ เขาก็อาจจะซื้อ

แต่ถ้าเขาไม่ได้ “ลิ้มลอง” เลย ยากมากที่ลูกค้าจะเอาเงินออกจากกระเป๋าตัวเอง

กับแค่ “ตัวอักษร” บรรยายสรรพคุณข้างกล่อง

หากคุณเดินไปที่โรงเรียนกวดวิชา

หลายแห่งก็เริ่มจากให้ทดลองเรียนฟรีก่อน

ก็ของแบบนี้มันอธิบายให้ซื้อกันไม่ได้ง่ายๆ

ต้องได้รับ “ประสบการณ์” ก่อน จึงจะตัดสินใจได้

การทดสอบ “ต้นแบบ” เหล่านี้ให้ลูกค้า นอกจากจะเป็นหนทางที่ดีในการรับ “คำติชม” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แล้ว

ยังเป็น “วิธีการขาย” ที่สร้างรายได้มากมายมานักต่อนัก

หากเป็นเรื่องของการเอา “นวัตกรรม” ออกสู่ตลาดแล้ว

“การลงมือทำ” ดีกว่า “การสาธยาย” เป็นไหนๆ

ชายหนุ่มหยิบปืนขึ้นมายิงไปที่ตัวเอง

เสียงดังสนั่น ผู้คนกรีดร้อง ตกใจกับภาพที่เกิดขึ้น

ชายหนุ่มยังคงหน้ายิ้ม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

มองไปที่ตัวของเขา สวมเสื้อกั๊ก “กันกระสุน” อยู่

จึงถึงบางอ้อ

แหม ขายกันขนาดนี้ ยอมเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่ออวดสรรพคุณสินค้า

ตอนแรกไม่อยากซื้อ พอเห็นก็รู้สึกว่า อยากจะมีไว้สักตัวเหมือนกันนะ

หากมี “ผลิตภัณฑ์” ที่ดี อย่ามัวแต่ “เล่า” สรรพคุณ

“แสดง” ออกมาให้โลกเห็นสิ รับรองผลลัพธ์จะไม่เหมือนเดิม