ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา เหตุบังเอิญที่กลายเป็นช่วงเวลาดีๆ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา

เหตุบังเอิญที่กลายเป็นช่วงเวลาดีๆ (1)

 

หลังจากแวะชมโบราณสถานอันอลังการและงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ (แต่ดีต่อใจ) ที่เมืองเซโกเบียเสร็จแล้ว คณะทัวร์ศิลปะของเราก็มุ่งหน้าต่อไปยังจุดมุ่งหมายที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกอย่างกรุงมาดริด นั่นเอง

เมื่อไปถึงมาดริด สถานที่แห่งแรกที่เราเดินทางไปเยี่ยมชมคือพระราชวังหลวงแห่งกรุงมาดริด (Royal Palace of Madrid) อันใหญ่โตอลังการ ที่เต็มไปด้วยของล้ำค่าและงานศิลปะชั้นเยี่ยมมากมาย ที่โดดเด่นเตะตาเราที่สุดคือผลงานของ คาราวัจโจ (Caravaggio) จิตรกรเอกชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคบาโร้ก (Baroque) ผู้วาดภาพศาสดาและนักบุญโชกเลือด ที่นำเสนอความโหดเหี้ยมทารุณและความตายของมนุษย์ด้วยแสงเงาจัดจ้าน

อย่างภาพวาด Salome with the Head of John the Baptist (Madrid) (1609) ที่เล่าเรื่องราวจากพระคัมภีร์ของนางสะโลเม ผู้ถือถาดเงินวางศีรษะ (ที่ถูกตัด) ของนักบุญยอห์นแบปติสต์อยู่อย่างน่าสยดสยอง

พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา

หลังจากชมพระราชวังหลวง ก่อนที่เราจะไปชมสองพิพิธภัณฑ์เอกแห่งกรุงมาดริด ที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดแห่งการตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน อย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไรนา โซเฟีย และพิพิธภัณฑ์ปราโด เราพอจะมีเวลาว่างที่จะแวะไปพิพิธภัณฑ์อีกแห่งในมาดริด ที่คู่สามีภรรยานักท่องเที่ยวชาวอเมริกันผู้โอบอ้อมอารี ที่เราบังเอิญเจอในตอนที่แล้วแนะนำว่า ไม่ควรพลาดเข้าชมอย่างยิ่ง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา (Thyssen-Bornemisza Museum) หรือเรียกย่อๆ ว่าพิพิธภัณฑ์ทิสเซน

พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา

อนึ่ง ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา เป็นชื่อสกุลของนักธุรกิจชาวฮังกาเรียน/เยอรมัน ไฮน์ริช, บารอน ธิสเซิน-บอร์เนมิสซา เด คัสซอน (Heinrich, Baron Thyssen-Bornemisza de Kászon) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเอง

พอเสิร์ชเส้นทางในกูเกิลแม็ป เราก็พบว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนจุดบรรจบระหว่างถนน Paseo del Prado และถนน Carrera de San Jerónimo ใจกลางกรุงมาดริด ไม่ไกลกับพิพิธภัณฑ์ปราโด ที่เราวางแผนจะไปกันตั้งแต่แรก เราเลยเดินทางมุ่งหน้าไปที่นั่นกัน

พอไปถึงก็พบว่ามันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ธรรมดาๆ เสียแล้ว เพราะตัวอาคารหรือก็ดูใหญ่โตโอฬาร แลดูภูมิฐานราวกับพระราชวังเก่า บนป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์ยังมีเขียนว่า Museo Nacional ที่แปลว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ” อยู่ข้างหลัง

รูปปั้นของ ไฮน์ริช, บารอน ธิสเซิน-บอร์เนมิสซา เด คัสซอน ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

พอย่างเท้าเข้าไปก็พบว่าภายในนั้นเต็มไปด้วยผลงานของศิลปินแทบทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ยุคเก่าอย่าง เรอเนสซองส์ (Renaissance), บาโร้ก และ โรโกโก (Rococo) ทั้งผลงานของศิลปินอย่าง อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer), เอลเกรโก (El Greco), คาราวัจโจ, รูเบนส์ (Rubens), เรมบรันต์ (Rembrandt), ฟรานซิสโก โกยา ฯลฯ ไปจนถึงศิลปินสมัยใหม่อย่าง วินเซนต์ แวน โกะห์ (Vincent van Gogh), ปอล โกแกง (Paul Gauguin), ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir), คามิลล์ ปิซาโร (Camille Pissarro), โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet), โอกุสต์ รอแด็ง (Auguste Rodin), แอร์นส์ ลุดวิก เคียร์สเนอร์ (Ernst Ludwig Kirchner)

เรมบรันต์ Self-Portrait wearing a Hat and Two Chains (1642-1643)
โอกุสต์ รอแด็ง Christ and Magdalen (1905)

จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ (Georgia O’Keeffe), มาร์ก ชากาล (Marc Chagall), วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky), พีต มองเดรียน (Piet Mondrain), แจ็กสัน พอลล็อก, มาร์ก รอธโก, โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก, รอย ลิกเทนสไตน์, จูเลียน โอพี, ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon), เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper), เบน ชาห์น (Ben Shahn), ออตโต ดิกซ์ (Otto Dix), ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucien Freud), อีฟว์ ไคลน์ (Yves Klein) และศิลปินอื่นๆ อีกมากมายจนนับไม่ไหว

วาสซิลี คานดินสกี Picture with Three Spots, No. 196 (1914) ผลงานของคานดินสกีในช่วงที่เป็นงานศิลปะนามธรรมแล้ว

ผลงานทั้งหมดต่างถูกจัดแสดงให้มีบทสนทนากันอย่างน่าสนใจ

เราใช้เวลากว่าสามชั่วโมงดูงานศิลปะข้างในพิพิธภัณฑ์อย่างเพลิดเพลินแทบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เรียกว่าเป็นช่วงเวลาอิ่มเอมกับศิลปะที่สุดช่วงหนึ่งในการเดินทางครั้งนี้เลยก็ว่าได้

วินเซนต์ แวน โกะห์ Evening Landscape (1885)

ถ้าจะให้พูดถึงงานทุกชิ้นที่ได้ดูมา พื้นที่ในคอลัมน์นี้คงจะไม่พอ เอาเป็นว่าเราขอพูดถึงผลงานที่โดดเด่นโดนใจ และถือเป็นไฮไลต์ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สำหรับเราก็แล้วกัน

เริ่มต้นด้วยผลงานของ วินเซนต์ แวน โกะห์ ศิลปินชาวดัตช์แห่งกระแสเคลื่อนไหวโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะสมัยใหม่ในโลกตะวันตก อย่าง Evening Landscape (1885) ภาดวาดทิวทัศน์ยามเย็น กับดวงอาทิตย์ในภาพ ที่กระชากใจเราแต่แรกเห็นในระยะสิบเมตร

แวน โก๊ะห์ วาดภาพนี้ในเดือนเมษายนปี 1885 ในช่วงที่เขาคร่ำเคร่งวาดภาพ Potato Eaters (1885) ซึ่งอุทิศให้กับชนชั้นแรงงานท้องถิ่นในเมืองบราบันต์ ในช่วงนั้น แวน โก๊ะห์ เขียนจดหมายถึงธีโอ น้องชายของเขาว่า

“ฉันกำลังวาดภาพพระอาทิตย์ตกสีแดงเอาไว้ด้วย” หรือในจดหมายอีกฉบับหนึ่งเขาเขียนถึงงานชิ้นล่าสุดของเขาในช่วงเวลานั้นว่า “เป็นบรรยากาศยามเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน”

วินเซนต์ แวน โกะห์ Les Vessenots in Auvers (1890)

นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนเชื่อว่าภาพทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกดินที่แวน โก๊ะห์ กล่าวถึงในจดหมายอยู่ในคอลเลคชั่นส่วนตัวของนักสะสมในสวิตเซอร์แลนด์ แต่บางคนก็เชื่อว่าคือภาพนี้ และก็เป็นเช่นเดียวกับภาพวาดครอบครัวนั่งกินมันฝรั่งในห้องมืดทึม

ภาพทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกดินภาพนี้ที่แสดงเวลาใกล้ค่ำ แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลของแวน โก๊ะห์ ในการวาดภาพความมืดในยามสนธยาในแบบของศิลปินเนเธอร์แลนด์ในยุคศตวรรษที่ 17 ที่เขาหลงใหลนั่นเอง

ปอล โกแกง Mata Mua (In Olden Times) (1892)

ต่อด้วยผลงานของ ปอล โกแกง ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เป็นที่รู้จักจากการทดลองใช้ทฤษฎีสีสันและสไตล์การทำงานรูปแบบใหม่ ผู้อยู่ร่วมในกระแสเคลื่อนไหวโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์อีกคน อย่าง Mata Mua (In Olden Times) (1892) ภาพวาดกลุ่มหญิงสาวชาวพื้นเมืองท่ามกลางทิวทัศน์ในชนบทอันงดงาม ห้อมล้อมด้วยภูเขา พวกเธอกำลังบูชา ฮินะ (Hina) เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ของตาฮิติ โกแกงเดินทางไปตาฮิติในปี 1891 โดยหวังว่าจะพบแรงบันดาลใจทางศิลปะจากชนพื้นเมืองที่ยังไม่แปดเปื้อนอารยธรรมตะวันตก หากสิ่งที่เขาพบเจอคือซากอารยธรรมแห่งอดีตอันรุ่งโรจน์ที่ล่มสลายไปแล้ว

ชื่อผลงาน Mata Mua ได้มาจากชื่อของเพลงสดุดีวิถีชีวิตตามธรรมชาติของตาฮิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่โกแกงเสาะแสวงหาอย่างลุ่มหลง โกแกงวาดภาพนี้ด้วยสีสันเรียบง่ายแต่สดใส ไม่ยึดติดกับความเหมือนจริง เพื่อไว้อาลัยแด่ยุคทองของอารยธรรมที่ล่วงลับไปในกาลเวลา

เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ Hotel Room (1931)

และผลงานของศิลปินในยุคถัดมาอย่าง เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ จิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์แนวสัจนิยม (Realism) ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะอเมริกัน ผู้ถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของคนอเมริกันด้วยการใช้สีสันแสงเงาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงออกถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา แปลกแยก ที่แฝงอยู่ท่ามกลางความปกติธรรมดาของชีวิตในสังคมเมือง อย่าง Hotel Room (1931)

ภาพวาดขนาดใหญ่ชิ้นนี้ เป็นผลงานชิ้นแรกในชุด “ภาพวาดในโรงแรม” ของฮอปเปอร์ หญิงสาวในภาพนั่งอยู่บนเตียงในห้องของโรงแรมไร้ชื่อในยามค่ำคืน ท่าทางของเธออ่อนล้า เธอปลดเปลื้องหมวก เสื้อผ้า และรองเท้าออกจากตัวจนเหลือแต่ซับใน แลดูเหนื่อยเกินกว่าจะรื้อข้าวของออกจากมากระเป๋าเดินทาง ได้แต่นั่งจ้องมองกระดาษบอกตารางเวลาเดินรถไฟในมืออย่างนิ่งงัน

(อย่าเพิ่งสงสัยว่ารู้ได้ไงว่าเป็นกระดาษอะไร เมียฮอปเปอร์เขาบอกมาน่ะนะ)

วาสซิลี คานดินสกี The Ludwigskirche in Munich (1908), ผลงานของคานดินสกีก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นงานศิลปะนามธรรม

ฉากของห้องถูกบีบจำกัดพื้นที่สายตาอยู่ระหว่างกรอบผนังด้านหน้าทางซ้ายมือไปจนถึงตู้ลิ้นชักด้านขวา ในขณะที่เส้นสายเฉียงๆ ของเตียงนำสายตาเราไปสู่ความลึกทอดยาวของปลายห้องจนเห็นหน้าต่างเปิดมูลี่ไว้กึ่งหนึ่งให้พอเห็นความมืดภายนอก

หญิงสาวในภาพแลดูเหมือนตกอยู่ในภวังค์ความคิดของเธอเอง ท่ามกลางบรรยากาศอันเยือกเย็น แข็งกระด้าง นิ่งงัน ในห้องที่ถูกสาดส่องด้วยแสงไฟจากหลอดไฟจัดจ้าบนเพดาน จนเห็นรายละเอียด สีสันของร่างกายคน ข้าวของ และเครื่องเรือนในห้องชัดเจน กระจ่างตา

สำแดงห้วงขณะแห่งความเปลี่ยวเหงาอันประทับตราตรึงในใจเราอย่างยากจะลืมเลือน

แอร์นส์ ลุดวิก เคียร์สเนอร์ Street with Red Streetwalker (1914 – 1925) ศิลปินชาวเยอรมัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปะ Die Brücke หรือ The Bridge ที่เป็นรากฐานสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเอ็กเพรสชั่นนิสม์ในศตวรรษที่ยี่สิบ

พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado กรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. วันจันทร์ เปิดทำการเวลา 12.00-16.00 น.

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 13 ยูโร

ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี และนักเรียนนักศึกษา 9 ยูโร

เข้าชมเป็นหมู่คณะ 11 ยูโร

เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้ว่างงาน, ผู้พิการ และผู้มีสัญชาติยูเครน เข้าชมฟรี

ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่นี่ https://www.museothyssen.org/en/visit

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์