โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง : จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป และความหมายใหม่หลังรื้อเฉลิมไทย (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ที่มีลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์อยู่ด้านหน้า ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภาพจำที่สำคัญภาพหนึ่งของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

เป็นเสมือนภาพแห่งการเดินทางเข้าสู่พื้นที่เมืองเก่า หรือกล่าวให้ชัดก็คือ เป็นดั่งภาพสัญลักษณ์ของ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์”

เมื่อถนนราชดำเนินกลางถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ถนนสายนี้จะกลายมาเป็นถนนแกนหลักในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ แต่กระนั้นก็ยังมิได้ทำให้สถานะของพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศมีความหมายที่พิเศษของการเป็น “ประตู” แต่อย่างใด

ความเปลี่ยนแปลงทางความหมายเริ่มขึ้นเมื่อมีการเลือกพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีมอบกุญแจเมืองให้แก่ประมุขต่างประเทศที่มาเยือนกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พิธีมอบกุญแจเมือง เป็นพิธีใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรก พ.ศ.2504 เมื่อคราวที่ประธานธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทย

แต่น่าสังเกตว่าในครั้งนั้นพิธีมอบกุญแจเมืองถูกจัดขึ้นที่สถานีรถไฟจิตรลดา โดยมีรัชกาลที่ 9 ทรงรอรับพระราชอาคันตุกะอยู่ ณ ที่นั่นด้วย จนในเวลาต่อมา พิธีมอบกุญแจเมืองได้ถูกย้ายมาจัด ณ ปะรำพิธีชั่วคราวของเทศบาลนครกรุงเทพ ณ บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศแทน

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ คือจุดเริ่มต้นของการสร้างความหมายใหม่ให้แก่พื้นที่บริเวณนี้ในฐานะของ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์”

ภาพถ่ายแสดงมุมมองหลักที่เป็นภาพจำของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ในปัจจุบัน
ที่มาภาพ : https://powermag.kingpower.com/th/power-mag-th/power-lifestyle2-th/old-bangkok-city-th/ โดย PIYALAK NAKAYODHIN

เมื่อพื้นที่นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประตูเมือง มีบทบาทในฐานะของการเป็นภาพปรากฏแรกในเชิงความหมายของการก้าวเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ความรู้สึกคาดหวังในแง่ของความสวยงามที่ต้องทำหน้าที่เป็นภาพตัวแทนของกรุงรัตนโกสินทร์จึงเริ่มเกิดขึ้น

แต่ทัศนียภาพหลักเมื่อขับรถเข้ามาในพื้นที่ ณ ขณะนั้น (ทศวรรษ 2510-2520) กลับเป็นโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย สิ่งก่อสร้างหน้าตาสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร

ซึ่งในทัศนะกระแสหลักของสังคมไทยเวลานั้น (แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่) คืออาคารที่มีหน้าตาน่าเกลียด

ยิ่งเมื่อมีแนวคิดในการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2510 ที่ตามมาด้วยการก่อตั้ง “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” ในเวลาต่อมา ความคิดว่าด้วยการสร้างทัศนียภาพที่เน้นความยิ่งใหญ่ของวัด วัง คูน้ำ กำแพงเมือง แบบโบราณ ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น

ภายใต้กระบวนการทางความคิดดังกล่าวที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ได้นำมาสู่ความรู้สึกที่อยากจะรื้อเฉลิมไทยเพื่อเปิดมุมองทางสายตาไปสู่โลหะปราสาท ที่เหมาะสมมากกว่าในฐานะของการเป็นสัญลักษณ์แรกของการเดินทางเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์

ตัวแทนความรู้สึกนี้ คงไม่มีอะไรที่ชัดเจนมากไปกว่า ข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่กล่าวถึงการรื้อศาลาเฉลิมไทย ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2532 ความตอนหนึ่งว่า

“…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง…แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง…”

ในที่สุด เฉลิมไทยก็ถูกรื้อลงเมื่อ พ.ศ.2532 เผยให้เห็นโลหะปราสาทอย่างชัดเจนแทนที่

ตามมาด้วยการสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และพลับพลาจตุรมุขขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีมอบกุญแจเมือง (รวมถึงพิธีอื่นๆ บ้างครั้งคราว) มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของสังคมที่มีต่อโลหะปราสาทตามที่กล่าวมา เป็นความรู้สึกอย่างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น อย่างเร็วที่สุดเพียงแค่ราวกลางทศวรรษที่ 2510 เท่านั้น โดยสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของความหมาย “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” และการเกิดขึ้นของแนวคิดว่าด้วย “เมืองเก่า” ที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยผ่าน “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ที่สำคัญ (ซึ่งหลายคนไม่น่าจะทราบ) คือ วัดราชนัดดาราม แท้จริงเป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ที่มีชะตากรรมที่แปลกประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อ โดยนับตั้งแต่เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2389 มาได้เพียงราว 5 ปี เมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคตลงในปี พ.ศ.2394 การก่อสร้างทั้งหมดภายในวัดก็หยุดชะงักลง

แทบไม่มีการก่อสร้างที่มีนัยยะสำคัญอีกเลยนับตั้งแต่นั้น (มีเพียงเล็กน้อยในช่วงสมัยของพระประสิทธิ์สุตคุณ เป็นเจ้าอาวาสเท่านั้น) จนมาถึงราว พ.ศ.2506 จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่รวมถึงก่อสร้างโลหะปราสาทต่อมาจนแล้วเสร็จ

ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี นับตั้งแต่รัชกาลที่ 3 สวรรคต โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 วัดราชนัดดารามมีสถานะเป็นดั่ง “วัดต้องสาป” ที่ไร้การเหลียวแล กฐินหลวงก็ไม่มี เจ้านายชั้นสูงก็ไม่เสด็จไปที่วัด

 

แม้เมื่อมีการตัดถนนราชดำเนินแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเผยให้เห็นทัศนียภาพของโลหะปราสาทในมุมมองใหม่ที่สามารถยกระดับให้กลายมาเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองได้ แต่ก็ปรากฏว่ามิได้เป็นเช่นนั้น

รัชกาลที่ 5 มิได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างโลหะปราสาทต่อให้แล้วเสร็จแต่อย่างใด ยังคงปล่อยให้เป็นเสมือนซากโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งร้างกลางพระนครอยู่ริมถนนราชดำเนินกลางอยู่นั่นเอง

ทั้งๆ ที่โลหะปราสาท (ภายหลังการตัดถนนราชดำเนิน) ได้กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ถนนอย่างมาก และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนทันทีเมื่อข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศมา

นอกจากนี้ ภาพถ่ายถนนราชดำเนินหลายต่อหลายมุมที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเผยให้เราเห็นบรรยากาศของบ้านเมืองสองข้างทางถนนราชดำเนิน

หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า แทบไม่ปรากฏภาพถ่ายมุมที่มองเห็นโลหะปราสาทเลย (มีบ้างแต่น้อยมากจนน่าสังเกต)

ส่วนภาพถ่ายที่ปรากฏโลหะปราสาทอยู่ในเฟรม โดยเฉพาะภาพที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีโลหะปราสาทเป็นจุดรวมสายตาหลัก ก็แทบมิได้ถูกถ่ายให้เราเห็นเลย

นั่นก็แสดงว่า มุมมองที่ต้องการให้โลหะปราสาทเป็นจุดหมายตาสำคัญเมื่อข้ามสะพานผ่านฟ้าฯ มาแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในความคิดของคนในสมัยรัชกาลที่ 5 (รวมถึงรัชกาลที่ 5 เองด้วย) และไม่เคยเป็นมุมมองที่สลักสำคัญอะไร

 

ดังนั้น ความต้องการอยากเห็นโลหะปราสาทในมุมที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จึงเป็นเพียง “ความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง” ที่มาพร้อมกับความรู้สึกของสังคมไทยยุคหลัง พ.ศ.2500 ที่เริ่มให้ความสำคัญต่อโลหะปราสาทมากขึ้น จากที่ในยุคก่อน พ.ศ.2500 โลหะปราสาทมิได้มีสถานะที่พิเศษอะไรนัก

ด้วยประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาดของสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญที่สังคมไทยเพิ่งจะมาภูมิใจได้ไม่นาน (เพียงราว 50 กว่าปี) ในฐานะโลหะปราสาทหลังที่ 3 ของโลก ต่อจาก ‘มิคารมาตุปราสาท’ โลหะปราสาทหลังแรก ในประเทศอินเดียที่สร้างโดยนางวิสาขา และต่อจากโลหะปราสาทหลังที่สองในลังกาที่สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย

บทความนี้ ผมจึงอยากลองมองย้อนกลับไปทบทวนดูประวัติศาสตร์ความรู้สึกของสังคมไทยที่มีต่อโลหะปราสาทและวัดราชนัดดาราม นับตั้งแต่ยุคแรกสร้างโดยรัชกาลที่ 3 ที่ต้องการสถาปนาโลหะปราสาทอันยิ่งใหญ่ขึ้นในพระนคร โดยมีต้นแบบมาจากโลหะประสาทของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ตามเนื้อความที่ปรากฏในคัมภีร์มหาวงษ์

เรื่อยมาจนถึงการเป็น “วัดต้องสาป” ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดหลวงที่อาภัพ ยาวนานกว่า 100 ปี

จนสุดท้าย ภายใต้การกลายความหมายมาเป็นพื้นที่ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ที่พ่วงมาด้วยความรู้สึกเกลียดมรดกสถาปัตยกรรมคณะราษฎร และการถือกำเนิดขึ้นของทัศนะแบบคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ทำให้โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามถือกำเนิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

การพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ผมเชื่อว่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของโลหะปราสาทและพื้นที่เมืองในอาณาบริเวณดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงจะช่วยให้เข้าใจความพยายามในการรื้อถอนเฉลิมไทยได้อย่างรอบด้านตามไปด้วย