มุสลิมในอินเดีย และเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (1)

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

มุสลิมในอินเดีย

และเซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (1)

 

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย ตามมาด้วยปากีสถาน โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 220 ล้านคน จึงเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การมีพลเมืองมุสลิมมากเช่นนี้ แทนที่คนเหล่านี้จะหาทางสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองด้วยการแยกไปมีมาตุภูมิของพวกเขาเอง แต่พวกเขากลับพร้อมที่จะอยู่ในอินเดียและรุ่งเรืองอยู่ในประเทศนี้

มีตัวประกอบอยู่หลายประการ ซึ่งป้องกันชาวมุสลิมในอินเดียจากการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ใช้แนวคิดแบบสุดโต่งหรือเอาตัวเองไปอิงอยู่กับแนวคิดที่กลุ่มสุดโต่งต่างๆ ใช้อยู่

ความจริงชาวมุสลิมในอินเดียมีลักษณะพิเศษของตัวเอง โดยแม้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 220 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ก็ไม่มีความคิดสุดโต่งรุนแรงและปฏิเสธรูปแบบของความรุนแรงทุกอย่าง

จนถึงเวลานี้ไม่มีชาวมุสลิมอินเดียคนใดเข้าร่วมกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงให้เห็นแม้แต่น้อย

มีความไม่แจ่มชัดหลงเหลืออยู่ว่าทำไมต้องเป็นกรณีของอินเดีย ในขณะที่ชาวมุสลิมในบังกลาเทศและปากีสถานยิ่งเพิ่มความสุดโต่งเข้าไปอีก

สถาบันศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งของอินเดีย (Institute of Peace and Conflict Studies) หรือ IPSC และ Konrad Adenauer ของเยอรมนีจึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เพื่อหาเหตุผลให้กับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมีข้อค้นพบ

 

ดังนี้

ประการแรก มรดกของขบวนการเคลื่อนไหวแห่งชาติของอินเดีย (India’s national movement) มีบทบาทอย่างสำคัญในการนำเอาชุมชนต่างๆ มารวมเข้าด้วยกัน ขบวนการต่อต้านอังกฤษ นำโดยพรรคคองเกรสมีลักษณะทางโลกหรือโลกวิถี (secular) ด้วยเหตุนี้ขบวนการแห่งชาติที่แยกศาสนาออกจากการเมืองจึงกลายเป็นพื้นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย

หรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าชาตินิยมแบบแยกศาสนาออกจากการเมืองนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่แยกศาสนาออกจากการเมือง ซึ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันในอินเดีย และได้รับการปกป้องตามกฎหมาย

ประการที่สอง การมีระบบกฎหมายที่เป็นอิสระในอินเดียเป็นการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยมิให้รัฐเอารัดเอาเปรียบพวกเขา ในระหว่างที่มีความขัดแย้งและมีการปะทะกันระหว่างชุมชนต่างศาสนา กฎหมายก็มีบทบาทสำคัญ เป็นอิสระและเป็นตัวแสดงส่วนหนึ่งในการหาเหตุแห่งความจริง และจริงจังกับผู้ที่ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่

ประการที่สาม ระบบการปกครองของอินเดียและการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือไปจากจุดอ่อนต่างๆ แล้ว ถือว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการนำเสนอต่อชนกลุ่มน้อย รวมทั้งชาวมุสลิม พรรคการเมืองหลักๆ ที่มีบทบาทสำคัญ คำนึงถึงความรู้สึกของชนกลุ่มน้อย

ดังนั้น ในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตย มีการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา หลักกฎหมายจึงยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมที่คนเหล่านั้นจะได้รับการปกป้อง ในขณะที่มีการปะทะของกลุ่มชนถึงขั้นจลาจล ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน ปฏิกิริยาของประชาสังคมก็จะให้ความมั่นใจต่อชุมชนกลุ่มน้อยโดยมีมาตรการที่เป็นบทลงโทษและการนำบทลงโทษมาใช้

ประการที่สี่ ลักษณะของอิสลามในอินเดียและแนวทางที่ชนกลุ่มน้อยและชุมชนกลุ่มใหญ่ให้การปกป้องและยกย่องก็มีบทบาทสำคัญไม่ให้เกิดช่องทางที่เป็นอันตรายและการใช้ความสุดโต่ง ในอินเดียสายสัมพันธ์แบบรหัศยนัยหรือซูฟี (Sufi) ของอิสลามและการส่งเสริมแนวคิดซูฟีจากชุมชนศาสนาต่างๆ เป็นลักษณะเฉพาะในประวัติศาสตร์การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและศาสนิกอื่นๆ ในประเทศ

ประการที่ห้า วัฒนธรรมผสมที่หลากหลายของสังคมอินเดีย และการไม่มีวัฒนธรรม “แห่งชาติ” ก็เป็นลักษณะเฉพาะของอินเดีย แม้ว่าพรรคภารัตติยะชะนะตะ (BJP) จะพยายามสร้างรัฐฮินดู (Hindutva) ขึ้นมาในฐานะแนวทางแห่งชีวิตของอินเดียแต่ก็ล้มเหลวที่จะเจริญเติบโตได้ต่อไป

วัฒนธรรมอันหลากหลายของอินเดีย และการปกป้องวัฒนธรรมที่ให้การยอมรับโดยรัฐและสังคมนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่งดงามที่ชุมชนต่างๆ ให้การเคารพไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะมีความโน้มเอียงไปทางศาสนาและวัฒนธรรมใดก็ตาม

ตัวอย่างเช่น ชารุค ข่าน ซึ่งเป็นพระเอกชาวมุสลิมในภาพยนตร์อินเดียที่โด่งดังที่สุดในปัจจุบัน และดารามุสลิมอีกจำนวนมากแห่งบอลลีวูด (Bolly wood)

ไปจนถึงตำนานนักคริกเก็ตชาวมุสลิมของอินเดียอย่างอิรฟาน ปาทาน (Irfan Pathan) ก็เป็นวีรบุรุษในดวงใจที่ได้รับความชื่นชมโดยคนทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือมุสลิมก็ตาม

 

ด้านที่เป็นลบ

แม้ว่าจะมีตัวประกอบข้างต้นที่เป็นบวก

แต่อินเดียก็มีจลาจลระหว่างกลุ่มชนต่างศาสนาอยู่เป็นระยะๆ นับตั้งแต่ได้รับเอกราช

มีรายงานล่าสุดว่าชาวมุสลิมอินเดียเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการที่ใช้ความรุนแรงระหว่างประเทศอยู่บ้าง

กระนั้นก็ตาม ประสบการณ์ที่เป็นทั้งบวกและทั้งลบจากประเทศอินเดียก็เป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ

รวมทั้งความรุนแรงและความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยได้เช่นกัน

 

บทเรียนเหล่านี้

เราเรียนรู้จากแบบอย่างของอินเดีย

ได้หรือไม่?

จากสเปนไปจนถึงอินโดนีเซีย ประเทศที่มีมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับปัญหาในระดับต่างๆ กัน อินเดียจะสามารถเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ เพราะอินเดียก็ผ่านความสำเร็จและล้มเหลวมาแล้ว

ในส่วนที่เป็นผลสำเร็จของอินเดีย ความสำเร็จนั้นเกิดจากขบวนการแยกศาสนาออกจากการเมือง ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญที่แยกศาสนาออกจากการเมือง การมีหลักการทางกฎหมายที่เป็นอิสระ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ครอบคลุมพร้อมการเลือกตั้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

อินเดียไม่เคยมีประวัติศาสตร์รัฐประหารโดยทหารเหมือนบังกลาเทศและปากีสถาน มีประชาสังคมที่เข้มแข็งและสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ

อินเดียได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวมุสลิมที่นิยมความเป็นกลางตามคำสอนของอิสลาม และต่อต้านความสุดโต่ง รวมทั้งปกป้องวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย

ที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นบทเรียนสำคัญที่อินเดียได้นำเสมอ

 

เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน

: ปัญญาชนมุสลิมของอินเดีย

เซอร์ ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan – 1817-1898) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าเซอร์ ซัยยิด ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกแห่งอินเดียสมัยใหม่ (architect of modern India)

ในทางหนึ่งเขาได้ใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีอยู่รับใช้ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม

และในอีกทางหนึ่งเขาได้ใช้ความสามารถเพื่อรับใช้เพื่อนร่วมชาติ

เขาเป็นคนรุ่นแรกๆ ของอินเดียเฉกเช่นมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) บิดาของอินเดียที่เป็นเพื่อนร่วมชาติของเขา ทั้งมหาตมะ คานธี และเซอร์ ซัยยิด ต่างก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวอินเดียในสมัยของตน

และมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ โดยใช้นโยบายอหิงสาเช่นเดียวกัน และต่างก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปกครองของอังกฤษ

ทั้งมหาตมะ คานธี และเซอร์ ซัยยิด ต่างก็รับรู้ว่าชาวอินเดียจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากได้ก็ต่อเมื่อชาวอินเดียได้ก้าวพันจากความเขลา พ้นจากความเคร่งครัดศาสนาจนกลายเป็นความคลั่ง รวมทั้งการก้าวพ้นจากความขัดแย้งและอคติของชุมชนที่นับถือศาสนาต่างกัน (communal hatred and prejudices)

ความสำเร็จที่เหมือนกันของทั้งสองนักคิดได้แก่ การนำเอาชาวอินเดียกลับมาสู่ศรัทธาและความมั่นใจในตนเอง หลังจากได้เคยสูญเสียไปอันเนื่องมาจากผลของการลุกฮือในปี 1857 มาก่อน

เซอร์ ซัยยิด เป็นผู้สืบทอดปัญญาชนมุสลิมอย่างชาฮ์ วะลีญุลลอฮ์ (Shah Wali-Allah 1703-1762) ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิวัติการศึกษาของอินเดียสมัยใหม่

เซอร์ ซัยยิด เป็นทั้งนักการศึกษา นักปฏิรูปสังคมศาสนาซึ่งมีผลงานด้านการเขียนจำนวนมาก ทั้งในภาษาอุรดูและภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ เซอร์ ซัยยิด ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สถาปนาแนวคิดอิสลามทันสมัย (Islamic modernism) ในอนุทวีปอินเดียอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทางปัญญาและการศึกษาของอินเดียเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะชาวมุสลิม เซอร์ ซัยยิด มีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าและความเที่ยงแท้ของอัลกุรอาน

ลักษณะเด่นในความคิดทางศาสนาของเซอร์ ซัยยิด ก็คือการใช้หลักเหตุผลในเรื่องศาสนาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของชาฮ์ วะลีญุลลอฮ์ ในการตีความคำสอนและแนวคิดของอิสลามนั้น เซอร์ ซัยยิด ได้ใช้สปิริตทางวิทยาศาสตร์ของอัลกุรอานที่กระจายคำสอนของอิสลามออกไปอย่างกว้างขวางมาเป็นที่ตั้ง

เซอร์ ซัยยิด พบว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นมรดกสำคัญของปัญญาชนมุสลิมและได้รับการพัฒนาต่อมาโดยตะวันตกนั้นมีความสอดคล้องกับเรื่องราวแห่งศรัทธาของอิสลาม และมีส่วนส่งเสริมภารกิจของอิสลาม

แนวคิดของเซอร์ ซัยยิด ได้กลายมาเป็นพื้นฐานความคิดด้านสังคม-ศาสนา และขบวนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเซอร์ ซัยยิด ได้นำเสนอให้กับชาวอินเดียมุสลิมมาแล้วนับชั่วอายุคน บางทีอาจจะกล่าวได้ว่าความเป็นนักสมัยนิยมอิสลามของเซอร์ ซัยยิด คือการปูทางไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และเทคโนโลยีในอนุทวีปอินเดียในทางหนึ่ง และเป็นการเตรียมตัวชาวอินเดียมุสลิมสู่พลังทางปัญญาและพลังทางการศึกษาในอีกทางหนึ่ง

เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้ ตลอดจนการสร้างการรับรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในหมู่ชาวอินเดีย เซอร์ ซัยยิด จึงได้ก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ (Scientific Society) ขึ้นในปี 1864 และสร้างวิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล (Muhammadan Anglo-Oriental Collage) ขึ้นในปี 1875 ซึ่งใช้รูปแบบของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ของอังกฤษมาเป็นต้นแบบ

เซอร์ ซัยยิด เป็นชาวอินเดียมุสลิมคนแรกที่อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลตามแนวตรรกศาสตร์ ในปี 1862 หนังสือเล่มสำคัญอื่นๆ ของเขาก็เช่น รวมบทความว่าด้วยชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (Essays in the life of Muhammad-1870) ซึ่งงานของเซอร์ ซัยยิด พิสูจน์ได้ถึงความเป็นต้นฉบับและความรู้ที่กว้างขวาง

เซอร์ ซัยยิด เป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีคุณูปการต่อความอุดมสมบูรณ์ของวรรณกรรมอิสลามร่วมสมัย ซึ่งเซอร์ ซัยยิด ได้เขียนหนังสือที่บรรจุหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญเอาไว้จำนวนมาก