ทราย เจริญปุระ : พระเจ้าของฉัน พระเจ้าของเธอ

"ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์" (A Little History of Religion) เขียนโดย Richard Holloway แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ Open Worlds กันยายน, 2560

“เราต้องไหว้ยังไงอะ”

สวนสาธารณะที่ฉันกำลังเดินอยู่นี้ปลูกต้นไม้สวยงามเป็นระเบียบ มีทั้งไม้ใหญ่ยืนต้นและไม้พุ่มเตี้ยๆ ทางเดินปูหินลัดเลาะลดเลี้ยวลึกเข้าไปในสวน มองไม่เห็นป้ายห้ามเข้าหรือตีตราจองใดๆ ที่จะมากีดกั้นไม่ให้ฉันเดินไปตามทาง มีเพียงป้ายเล็กๆ ติดกับต้นไม้บางต้น แนะนำตัวว่าต้นนี้ชื่ออะไรเท่านั้นเอง

และที่สุดทางเดิน เป็นบ้านไม้เล็กจิ๋วจำลองของจริง ด้านข้างมีอ่างน้ำกับลำไม้ไผ่รองรับ มองรวมๆ แล้วคงไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากศาลเจ้า

ตามประสาคนหัวอ่อนว่าง่าย ไปไหนมาไหนก็อยากแจ้งให้เจ้าของที่ทางทราบเสียก่อน ฉันเลยยืนเก้กังมองหน้ากับเพื่อนร่วมเดิน ว่าเราจะทำยังไงดี

เทน้ำนี่เหรอ

หรือตบมือ

หรือจุดธูป

แต่ก็ไม่เห็นมีเทียน ธูป หรือบทสวดแปะให้เตะตาอะร้าอร่ามอย่างที่เคยคุ้น จะลอบมองเลียนแบบคนอื่นเพื่อความมั่นใจ ในสวนนี้ก็ไม่มีใครนอกจากเราสองคน

เอ๊ะ ไม่สิ

มีอีก 2 คน

แต่มาในแบบรูปปั้น

“ศาลนี่เป็นของสองคนนั้นแน่เลย เหมือนในห้างมาบุญครองไง”

“เค้าเป็นเจ้าของตึกนี้ป่าว”

“มั้ง ถ้าไม่ใช่จะมาสร้างทำไม”

“แล้วตกลงเราต้องทำอะไรต่อ”

บอกตามตรงว่าฉันไม่ค่อยคุ้นกับการเจออะไรที่ไม่เรียกร้องการกระทำตามแบบแผนเสียเท่าไหร่ มองไปรอบสวนก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ บ้างก็คุยโทรศัพท์ บ้างก็พาลูกวิ่งเล่น ขี่จักรยาน ยืนสูบบุหรี่กันเป็นปกติ

หรือก็ไม่ต้องทำอะไร

เพราะในใจก็รู้สึกดีกับสวนนี้ไปแล้ว ไม่ว่าคนที่ถูกปั้นนั้นจะเป็นใคร ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ หรือต้องทำพิธีใดๆ ต่อหน้ารูปปั้นทั้งสองหรือเปล่า

 

“นักมูลฐานนิยมไม่ว่ารูปแบบใดล้วนไม่ชอบประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับมัน–คนเหล่านี้ต้องการเพียงอดีต และร่ำร้องว่า “ทำไมต้องเอาแต่พูดถึงอนาคตด้วย” มูลฐานนิยมคือการตีโพยตีพาย กรีดร้อง และปฏิเสธที่จะยอมรับความเป็นจริงรูปแบบใหม่

แต่ถ้าจิตของผู้เคร่งศาสนาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และความรู้ใหม่ที่วิทยาศาสตร์นำมาให้แล้วละก็ คงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าที่พวกเขาจะยอมรับแนวทางบริหารจัดการสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบัน มูลฐานนิยมทางศาสนาหงุดหงิดกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าแรงกดดันจากวิทยาศาสตร์

และสำหรับการเปลี่ยนแปลงบางรูปแบบ มันไม่เพียงฉุนเฉียวเท่านั้น แต่ยังถึงขั้นใช้กำลังตอบโต้”*

 

ฉันบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไรกับศาสนา

ก็ดีล่ะมั้ง-เหมือนของที่มีอยู่ตรงนั้น เหมือนตู้เหมือนโต๊ะที่คุ้นตา เป็นสิ่งที่มีมาก่อนเราจะลืมตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ และคงยังอยู่ต่อไปแม้เราจะตายจากไปนานแล้ว

คำถามเชิงปรัชญาว่าเราเกิดมาทำไม มีธุระอะไรกับโลกใบนี้ หรือตายแล้วไปไหน ไม่เคยรบกวนชีวิตอันวุ่นวายของฉัน แม้ตอนเด็กๆ ฉันจะเคยสอบวิชาพระพุทธศาสนาได้ที่ 1 ของห้อง แต่ก็แค่นั้น มันคือการท่องจำ แล้วก็ตอบ เรียนกี่ปีเนื้อหาก็เหมือนเดิม ง่ายจะตาย

จะมาได้ยินแนวทางศาสนาบ่อยๆ อีกครั้งก็ช่วงฉันป่วยและแม่ป่วยนี่แหละ ที่คนกว่าครึ่งบอกให้ฉันหันเข้าหาธรรม

ฉันยิ้มๆ ไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ

เพราะการปฏิบัติตามความเป็นจริงก็ถือว่าเป็นหลักการหนึ่งที่ฉันยึดถืออยู่เสมอ

และมันคงเข้าได้กับหลักการของบางศาสนาแหละน่า

 

หลายคนบอกว่าศาสนาทำให้โลกสงบสุข

ก็-

ลองดูข่าวทุกวันนี้ก็ได้

ไอซิสกับโรฮิงญา

พระวีระธู

การเรียกร้องให้ยืดหยุ่นกติกาทางศาสนาคริสต์จากพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน

หรือจะย้อนไปสักพันปีก็ได้

การกระทบกระทั่งรบรากันด้วยเหตุจากความเชื่อนั้นมีอยู่คู่มนุษยชาติมาตลอด

พระเจ้าของฉันถูกต้องกว่าพระเจ้าของเธอ

หรือที่แท้แล้วศาสนานั้นสงบงาม

คนที่ตีความมันต่างหากที่ก้าวร้าว

 

“นับตั้งแต่ยุคโบราณกาล เมล็ดพันธุ์แห่งศาสนาได้ฝังราก งอกเงย แตกแขนง ยืนหยัดและเติบโตเคียงคู่กับวิวัฒนาการของมนุษย์ หนังสือเล่มนี้จะพาคุณตามรอยการเดินทางของศาสนาจากทั่วทุกมุมโลก นับตั้งแต่ศาสนาฮินดูอันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งแนวคิดเรื่องเวียนว่ายตายเกิด การปฏิรูปศาสนาคริสต์ที่เกี่ยวพันกับการเมืองของราชวงศ์ยุโรป ปัญหาเรื่องผู้สืบทอดอำนาจอันนำไปสู่การแตกนิกายในศาสนาอิสลาม ไล่เรียงมาถึงเรื่องราวของสารพัดลัทธิน้อยใหญ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น วิถีแห่งเต๋าที่มุ่งสอดประสานกับธรรมชาติ ลัทธิไซเอนโทโลจีกับแนวคิดสุดโต่งที่ดึงดูดเหล่าดาราฮอลลีวู้ด ฯลฯ

นี่คือหนังสือที่รวบรวมเกร็ดประวัติของศาสนาทั่วโลกมาร้อยเรียงกันได้อย่างมีชีวิตชีวา สะท้อนให้เห็นว่าศาสนาทับซ้อนกับมิติทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างมิอาจแยกขาด พร้อมชวนให้ขบคิดถึงบทบาทของศาสนาที่มีต่อมนุษย์

เมื่อศาสนาอาจไม่ได้เป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวที่ช่วยปลอบประโลมใจ แต่ยังถูกตีตราว่าเป็นชนวนเหตุแห่งสงครามกวาดล้าง และการเข่นฆ่าคุกคามในหน้าประวัติศาสตร์ เช่นนั้นแล้ว เราควรรับมือกับดาบสองคมที่มีชื่อว่าศาสนาอย่างไร เพื่อไม่ให้คมดาบแห่งศรัทธานั้นทิ่มแทง”*

 

เป็นหนังสือที่สนุก

ไม่ใช่เป็นคู่มือการใช้ศาสนาอย่างที่เราต้องท่องจำสมัยเด็ก

สนุกแบบสนุก เพราะมีทั้งเรื่องราว ตัวละคร และมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

และค่อยๆ บอกเราว่ามนุษย์ทั้งหลายล้วนแตกต่างกันไปตั้งแต่ต้นทาง

————————————————————————————————————-
*ข้อความจากในหนังสือ