จิตต์สุภา ฉิน : Google ชัดเจน เน้น VR และ ML ในงาน I/O 2016

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Google Home

งาน Google I/O 2016 ผ่านพ้นไปอีกปีแล้วค่ะ

ปีนี้เป็นปีที่สามแล้วที่ซู่ชิงเดินทางมาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อมาร่วมงาน Google I/O งานรวมนักพัฒนาจากทั่วโลกและเป็นงานที่กูเกิลเขาใช้ป่าวประกาศว่าปีนี้จะมีเทคโนโลยีอะไรดีๆ มาให้โลกมนุษย์ได้ใช้กันบ้าง

ปีนี้มีหลายอย่างที่ต้องเตรียมตัวแตกต่างออกไปจากสองปีที่แล้วค่ะ เพราะกูเกิลตัดสินใจย้ายสถานที่จัดให้กลับมาอยู่ในถิ่นของตัวเอง แทนที่จะไปจัดงานที่คอนเวนชั่นฮอลล์ในตัวเมืองซานฟรานซิสโกตามปกติ ก็ย้ายมาจัดกลางแจ้งที่แอมฟิเธียเตอร์ในเมืองเมาเท่นวิว เวทีกลางแจ้งขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านกูเกิลเพล็กซ์เลย และรู้ทั้งรู้ตั้งแต่ก่อนมาว่างานจะจัดกลางแจ้งแต่ซู่ชิงก็คิดว่า “โอ๊ย ถ้าเราเอาชีวิตรอดจากแดดนรกโลกันต์ของเมืองไทยช่วงเดือนเมษายนมาได้ แดดของแคลิฟอร์เนียก็คงจะหมูๆ แหละ” จนในที่สุดการตากแดดร้อนเปรี้ยงๆ แล้วมีลมหนาวพัดมาเป็นระลอกๆ อยู่สามวันเต็มก็ทำให้ร่างกายซู่ชิงประท้วงไม่ยอมไปต่อ และล้มป่วยจนได้ แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตามบรรยากาศของการจัดงานรวมถึงสิ่งที่ถูกพูดถึงในงานก็ยังคุ้มแสนคุ้มที่ได้มีโอกาสมาเป็นสักขีพยานอยู่ดีค่ะ เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มสรุปกันเลยดีกว่าว่ากูเกิลพูดถึงอะไรบ้าง

อย่างแรกเลยค่ะ ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิลขึ้นบนเวทีคีย์โน้ตหลักของงานและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งหลังๆ คำว่าเอไอที่ว่านี้ถูกเลี่ยงไปใช้เป็นคำว่า แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML) หรือ ดีพ เลิร์นนิ่ง แทน โดยหมายถึงการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลและ “คิด” ด้วยตัวเองได้ แทนที่จะต้องรอการป้อนคำสั่งจากมนุษย์ทุกก้าวย่างเหมือนแต่ก่อน

ซู่ชิง กับ ซันดาร์ พิชัย CEO กูเกิล

กูเกิลพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ผู้ช่วยกูเกิล (Google Assistant) ที่จะใช้แมชชีน เลิร์นนิ่ง มาทำให้เก่งกาจและฉลาดขึ้น เก่งกาจที่ว่าก็คือสามารถเข้าใจคำสั่งของมนุษย์ได้ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติและเข้าใจบริบทเองได้ทันทีแบบไม่ต้องพูดซ้ำ ทำให้การสนทนาไหลลื่นราวกับกำลังคุยกับผู้ช่วยที่เป็นมนุษย์ยังไงยังงั้น

ความเก่งกาจที่ว่านั้นก็จะมาอยู่ในอุปกรณ์ชิ้นใหม่ที่กูเกิลเปิดตัว คือ กูเกิล โฮม (Google Home) หน้าตาคล้ายๆ แจกันถูกผ่าครึ่งแบบเฉียงๆ หน้าที่ของมันคือการช่วยควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน อย่างเช่น ระบบไฟ อุปกรณ์ปรับอุณหภูมิ ระบบความบันเทิงอย่างทีวีหรือลำโพง นอกจากนี้ก็ยังช่วยค้นหาข้อมูลสำคัญๆ อย่างสภาพอากาศ สภาพการจราจร จดตารางนัดหมาย สั่งซื้อของช้อปปิ้งออนไลน์ สารพัดจะช่วยทำ ทั้งหมดนี้ทำได้ผ่านคำสั่งเสียงที่เราจะพูดคุยกับมันได้อย่างเป็นธรรมชาติค่ะ หากใครคุ้นเคยกับ Echo ของ Amazon อยู่แล้วก็จะเข้าใจทันทีเพราะนี่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันค่ะ
ผู้ช่วยส่วนตัวกูเกิลอันแสนจะเก่งกาจนี้นอกจากจะไปอยู่ในกูเกิลโฮมแล้ว ก็จะยังไปสิงสถิตอยู่ในแอปพลิเคชันใหม่ที่กูเกิลเปิดตัวด้วย ซึ่งซู่ชิงบอกเลยว่าแทบจะรอไม่ไหวที่จะทดลองใช้เลยล่ะค่ะ

อัลโล (Allo) คือแอปพลิเคชันแชตส่งข้อความที่กูเกิลเปิดตัวใหม่ ดูผิวเผินหน้าตาลูกเล่นภายนอกไม่แตกต่างจากแอปแชตอื่นๆ เท่าไหร่ แต่ความเจ๋งที่แท้จริงของมันก็คือการควบรวมเอากูเกิล และผู้ช่วยกูเกิลเข้ามาอยู่ในแชตด้วยกัน ซึ่งก็แปลว่าในระหว่างที่เราแชตและอยากรู้ข้อมูลอะไรก็ไม่จำเป็นต้องปิดแอปและไปเปิดกูเกิลเลย เพราะมันสามารถขอให้ผู้ช่วยเสิร์ชหาได้ภายในแอป และยังช่วยเราปฏิบัติภารกิจบางอย่างให้ด้วย เช่น หากเรากำลังแชตชวนเพื่อนไปดูหนัง นอกจากมันจะช่วยหารีวิวหนังให้แล้ว มันก็จะยังสามารถจองตั๋วหนังให้เราได้ทันทีเลยด้วย หรือเหงาๆ ไม่มีอะไรทำก็ชวนมันคุยเล่นได้ เพลินดีค่ะ

ในแง่ของความปลอดภัยของข้อมูลนั้นแอปพลิเคชันแชตนี้จะมีการเข้ารหัสแบบ End-to-end ให้ไม่มีใครล้วงข้อมูลไปอ่านได้ มีการแจ้งเตือนที่ปกปิด และตัวแชตเองก็สามารถตั้งค่าให้เป็นแบบทำลายตัวเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าอย่างอื่นก็ไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่ที่แอปอื่นไม่มี แต่ลำพังแค่การใส่แมชชีน เลิร์นนิ่ง เอาไว้ในแอปแชตก็ทำให้อัลโลนี้น่าทดลองใช้ไม่น้อยเลยค่ะ

อีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่เปิดตัวควบคู่ไปกับอัลโล ก็คือ ดูโอ (Duo) แอปสำหรับใช้วิดีโอคอลล์หากัน ฟีเจอร์เด่นที่สุดของแอปนี้มีชื่อว่า Knock Knock ที่ซู่ชิงคิดว่าไม่เลวเลย ปกติแล้วเวลาเรากดโทรวิดีโอคอลหาใคร กล้องหน้าเราจะเปิดใช้งานตั้งแต่เรากดโทร แต่คนที่เราโทรหาจะยังไม่เห็นภาพอะไรจนกว่าจะกดรับ แต่ฟีเจอร์นี้จะทำให้ผู้รับมองเห็นภาพวิดีโอสดๆ ของเราตั้งแต่ก่อนจะกดรับด้วยซ้ำ ซู่ชิงคิดว่ามันน่าจะนำมาซึ่งโมเมนต์อะไรน่ารักๆ ได้ อย่างเช่นการที่เราจะโทรไปง้อแฟนแต่แฟนไม่ยอมรับสาย หากได้เห็นตาละห้อยๆ และสีหน้าน่าสงสารเหมือนลูกหมา ก็อาจจะยอมกดรับได้ค่ะ (แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาซึ่งโมเมนต์สยองที่เราไม่อยากเห็น ซึ่งซู่ชิงเชื่อว่าฟีเจอร์นี้จะสามารถเลือกเปิดปิดได้ค่ะ)

คราวนี้มาถึงเรื่องเทคโนโลยีวีอาร์หรือโลกเสมือนจริงที่กูเกิลไม่พลาดที่จะอัพเดตค่ะ กูเกิลเปิดตัวเดย์ดรีม (Daydream) แพลตฟอร์มสำหรับวีอาร์ ที่ประกอบไปด้วยสมาร์ตโฟนที่รองรับเดย์ดรีมโดยจะมาจากผู้ผลิตหลากหลายค่ายที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกูเกิล และเผยดีไซน์ของอุปกรณ์สวมใส่ศีรษะเพื่อชมภาพวีอาร์และตัวคอนโทรลเลอร์ให้ใช้ควบคู่กัน ทั้งหมดนี้กูเกิลสนับสนุนให้นักพัฒนาช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชันและทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มวีอาร์ที่ได้รับความนิยมให้ได้ค่ะ

อีกเรื่องที่เซอร์ไพรส์ไม่น้อยก็คือก่อนจะเริ่มงานในครั้งนี้เราทุกคนคาดหวังให้กูเกิลเปิดเผยเสียทีว่า ตกลงแล้วชื่อของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ โค้ดเนม Android N นั้น ตัว N ย่อมาจากอะไรกันแน่ แต่มาคราวนี้กูเกิลเกิดเปลี่ยนใจแล้วบอกว่าจะไม่ตั้งชื่อเองและขอเชิญชวนให้คนทั่วโลกเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะต้องเป็นของหวานที่ขึ้นชื่อด้วยตัว N ค่ะ ใครมีไอเดียดีๆ ก็ส่งไปได้ที่ android.com/n นะคะ ซึ่งซู่ชิงนึกจนหัวแทบแตกก็นึกไม่ออกว่านอกจาก นูเทลล่า ช็อกโกแลตสเปรดยอดฮิตแล้วจะยังมีขนมอะไรที่นำหน้าด้วยตัว N อีกบ้าง คิดไปคิดมาก็เริ่มเลยเถิดไปออกเป็นน้ำพริก หรือน้ำปลาหวาน ไปเลย

ปิดท้ายด้วยการพูดถึงฟีเจอร์ใหม่ในระบบปฏิบัติการ Android N และการอัพเดตระบบปฏิบัติการ Android Wear สำหรับสมาร์ตวอตช์ ให้เป็นเวอร์ชัน 2.0 และมีของใหม่ๆ มาแชร์สำหรับวงการนักพัฒนาอีกไม่น้อยค่ะ

แม้ซู่ชิงจะได้ยินเสียงฟีดแบ็กมาบ้างว่าไม่มีอะไรน่า “ว้าว” สำหรับงานในครั้งนี้ แต่ซู่ชิงกลับรู้สึกว่าภาพรวมของงานตั้งใจจะเป็นการเซ็ตเทรนด์เทคโนโลยีและป่าวประกาศว่ากูเกิลจะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่าที่จะเน้นการเปิดตัวโปรดักต์ที่น่าตื่นตะลึง เช่นงานครั้งนี้คีย์เวิร์ดก็ชัดเจนว่าอยู่ที่ แมชชีน เลิร์นนิ่ง และวีอาร์ นั่นเองค่ะ

ของใหม่ทั้งหมดจะดีเหมือนที่กูเกิลบอกแค่ไหนก็คงต้องรอเวลาที่จะปล่อยออกมาให้ได้ทดลองใช้จริงกันก่อนถึงจะรู้ แต่ก็ดูมีแนวโน้มที่ดีค่ะ สัปดาห์ต่อๆ ไปซู่ชิงก็ยังมีเรื่องน่าสนใจจากงานในครั้งนี้มาแชร์อีกมากมาย อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ