Forest Bathing ป้องกันโรค ‘ตายคาโต๊ะ’ ได้

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Forest Bathing

ป้องกันโรค ‘ตายคาโต๊ะ’ ได้

 

โรค “ตายคาโต๊ะ” หรือ Karoshi Syndrome เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น จากการที่พนักงานสถานีโทรทัศน์เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว อันเป็นผลจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก

หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่บริษัทเอเยนซี่อีกคนที่ทนความเครียดจากการทำงานไม่ไหว จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง ทำให้ญี่ปุ่นหันมาสนใจผลกระทบจากการทำงานหนักมากไปอย่างกว้างขวาง

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค “ตายคาโต๊ะ” ไว้ดังนี้

เริ่มจากโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูงจากการดื่มสุรา และสูบบุหรี่หนัก เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ

เมื่อมาบวกกับภาระงานหนัก กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน อันนำไปสู่โรค “ตายคาโต๊ะ” ดังนั้น จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน

เพราะการสะสมความล้าเรื้อรัง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเวลาก่อนจะเกิดโรคดังกล่าว แต่เป็นช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งชัดเจนว่ามีการทำงานหนักมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ปริมาณงานจำนวนมากในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจ ถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นสาเหตุให้เกิดโรค “ตายคาโต๊ะ”

ดังนั้น แนวคิดที่ว่า การทำงานหนักทำให้เป็นโรค “ตายคาโต๊ะ” จึงถูกต้องตามความเห็นของแพทย์

นำไปสู่การประเมินภาระงานหนักเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเกิดโรค “ตายคาโต๊ะ” จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชั่วโมงการทำงาน ระบบเข้ากะ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ความไม่สม่ำเสมอของงาน และข้อจำกัดในงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเครียดทางจิตใจที่เกิดจากงานหนัก

แต่…ชีวิตคนไม่มีวันอับจนหนทาง

เมื่อมีโรค “ตายคาโต๊ะ” ก็มีทางป้องกันได้เช่นกัน

ขออ้างอิงข้อเขียนของอาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ชื่อบทความว่า “อาบป่า” ครับ

การ “อาบป่า” หรือ Forest Bathing เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่าง “คน” กับ “ป่า” จากแนวคิด Shinrin Yoku

โดย Shinrin แปลว่า “ป่า” ส่วน Yoku แปลว่า “อาบ” Shinrin Yoku จึงแปลว่า “อาบป่า” หรือ Forest Bathing

แนวคิด Forest Bathing ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1982 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์ ดร. Qing Li แห่ง Nippon Medical School กรุงโตเกียว เจ้าของงานวิจัย “อาบป่าศึกษา” หรือ Forest Bathing Study

ปัจจุบัน Forest Bathing เป็นที่สนใจในตะวันตก และขยายเป็นแนวคิด Forest Therapy

Forest Bathing คือการที่ “คน” ก้าวเข้าไปใน “ป่า” เพื่อประสานสัมผัส (Reconnect) เป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ เพื่อรับพลังจาก “ป่า” ให้ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ คล้ายการชาร์จแบตมือถือ

Forest Bathing ไม่ใช่การออกกำลังในเชิงกายภาพ ทั้งเดินป่า ปีนเขา วิ่ง Trail หรือจักรยานภูเขา

แต่เป็นการแค่ “เข้าไป” อยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ และ “เชื่อมต่อ” ผ่านการเปิด “ประสาททั้ง 5” ได้แก่ 1) รูป 2) รส 3) กลิ่น 4) เสียง และ 5) สัมผัส

ซึมซับกับธรรมชาติ ให้รู้สึก และรับรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งซึ่งกันและกัน จับเสียงของสรรพสิ่งในป่า สูดไอดินกลิ่นต้นไม้ สัมผัสก้อนหินที่แน่นิ่งราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ขณะเดียวกันก็ได้สังเกตสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ที่ปกติแล้วอาจจะถูกมองข้ามไป เช่น ปลาตัวจิ๋วที่ว่ายเวียนเป็นฝูงอยู่ในน้ำ หรือจิงโจ้น้ำที่คอยเคลื่อนไหวแบบขึ้นๆ ลงๆ เพื่อหาอาหารกินบนผิวน้ำ

หากโชคดีสักหน่อย บางทีอาจได้พบสิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติ อย่างลูกไม้ที่หล่นโปรยปรายลงมาดังสายฝนยามลมพัด

ความเพลิดเพลิน และการชื่นชมความงามของป่าแบบนี้ เป็นบรรยากาศที่ไม่สามารถพบได้ในเมือง

เพราะสิ่งวิเศษเหล่านี้ ธรรมชาติพร้อมจะมอบให้เสมอ เพียงแค่เราก้าวเท้าเข้าไป “อาบป่า”

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การอาบป่า” ไม่ใช่เป็นการไป “อาบน้ำในป่า”

 

Edward Wilson นักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอเมริกัน ได้อ้างอิงตามทฤษฎี Biophilia หรือ “ความใฝ่หาชีวภาพ” ว่า มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ และธรรมชาติสามารถหล่อเลี้ยงชีวิต มนุษย์จะรู้สึกเบิกบานยามเห็นดอกไม้ ต้นไม้ใหญ่ ใบไม้ผล หรือสายน้ำไหลเอื่อย

จากการเก็บสถิติของหลายสถาบันพบว่า ผู้ป่วยจะฟื้นตัวในสวนท่ามกลางต้นไม้ได้ดีกว่าในห้องที่มีหน้าต่างมองเห็นวิวต้นไม้เขียวๆ ไกลๆ โดยเฉพาะการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต

ที่ผ่านมา มีการศึกษา “การอาบป่า” ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งใน “ศาสตร์การรักษาเชิงป้องกัน” หรือ Preventative Healthcare

ผลการวิจัยระบุว่า “การอาบป่า” ส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ ทำให้คุณภาพในการนอนหลับ และการมีสมาธิดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดฮอร์โมนความเครียด ลด “ซึมเศร้า” และปรับสมดุลความดันโลหิตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตัวยาสำคัญ” ที่ป่ามอบให้เราก็คือ Phytoncide ซึ่งมาจากภาษากรีก คำว่า Phyto แปลว่า “ต้นไม้” และ Cide หมายถึง “การกำจัด”

Phytoncide คือ “น้ำมันหอมระเหย” ที่บรรดาต้นไม้ปล่อยออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค เชื้อรา และเหล่าแมลงร้าย

ทว่า ธรรมชาติไม่ได้เห็นแก่ตัวขนาดนั้น ต้นไม้ก็ป้องกันเราเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเราสูดอากาศสดๆ จากในป่า เราก็จะได้รับสารตัวนี้เข้าไปด้วย

เพียง 2 ชั่วโมงในป่า การได้รับ Phytoncide จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Phytoncide จะช่วยเพิ่มเซลล์เพชฌฆาต (NK Cell หรือ Natural Killer Cell) ที่เป็นตัวทำลายเซลล์มะเร็งตัวสำคัญ

 

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากพืช เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งซึ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเมื่อเดินเข้าไปในป่า เมื่อโมเลกุลน้ำมันหอมระเหยพืชลอยเข้าสู่ร่างกายเราผ่านจมูก

เมื่อต่อมสัมผัสรับกลิ่นได้ ก็จะส่งปฏิกิริยาต่อไปยังสมองส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ Limbic สมองส่วนลึก ซึ่งทำหน้าที่ด้านอารมณ์ และความจำ ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับระบบหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ความเครียด และความสมดุลของฮอร์โมน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลิ่นเหล่านี้มีพลังในการกระตุ้นความรู้สึกในระดับลึก สามารถแตะถึงความทรงจำเก่าแก่ในจิตไร้สำนึก

นอกจากนี้ โมเลกุลจากสารระเหยดังกล่าวยังเคลื่อนเข้าสู่ปอด ทำปฏิกิริยากับระบบหายใจ และมีงานวิจัยยืนยันว่า น้ำมันหอมระเหยพืชส่วนใหญ่มีคุณสมบัติโดดเด่น เป็นแอนตี้แบคทีเรียบ้าง แอนตี้ไวรัสบ้าง แอนตี้เชื้อราบ้าง

จึงมีส่วนในการเกื้อหนุนระบบภูมิต้านทาน ช่วยบำบัดรักษาร่างกาย และยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยพืชในป่า ช่วยส่งเสริมเกื้อกูลจุลินทรีย์ สร้างสภาวะที่เป็นมิตรแก่การดำรงอยู่ตามระบบธรรมชาติ

การสังเคราะห์แสงของพืชนั้นทำให้เกิดโมเลกุลออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าลบอ่อนๆ เมื่อเราสูดดมเข้าไปก็จะไปประกบกับประจุไฟฟ้าขั้วบวกของอนุมูลอิสระในร่างกายจนเปลี่ยนเป็นกลาง แล้วร่างกายก็หลั่งสาร Serotonin หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสงบสุขออกมา”

ทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า ลดอาการ “ซึมเศร้า” ลดความเครียด และที่สำคัญระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกายก็จะดีขึ้นด้วย

 

สิ่งวิเศษเหล่านี้ ธรรมชาติพร้อมจะมอบให้เสมอ เพียงแค่เราก้าวเท้าเข้าไป “อาบป่า”

นอกจากนี้ “การอาบป่า” ยังช่วยแก้ “ซึมเศร้า” และเยียวยาสุขภาพจิต จากแบคทีเรียซึ่งอยู่ในดินที่เรียกว่า Microbiome ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ลดความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับดีขึ้นครับ