มนัส สัตยารักษ์ : ความจริง

 

“ความจริง” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในครรลองของกระบวนการยุติธรรม (ว่ากันอันที่จริง “ความจริง” สำคัญต่อทุกการงานนั่นแหละ) เหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้ายังหาความจริงไม่ได้หรือความจริงถูกทำให้เบี่ยงเบน บิดเบี้ยวหรือเลอะเลือน ความเสียหายถึงขั้นพินาศก็จะตามมา

งานข่าวก็คือการแสวงหาความจริง

หนังสือพิมพ์ในเครือ “มติชน” เคยตั้งม็อตโต้ว่า “ทำความจริงให้ปรากฏ” ฟังดูไม่เป็นมิตรกับคนขี้ฉ้อเลย เพราะคนทุจริตมักจะเกลียดกลัวความจริง

ล่วงมาถึงทุกวันนี้ “ความจริง” จะยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้น กลายเป็นของหายาก สังคมที่ประกอบด้วย “สื่อ” สมัยใหม่สะดวกรวดเร็วต่อการสร้างความไม่จริงหรือความเท็จเพื่อนำมาใช้ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีการสำรวจกันว่า ผู้เสพสื่อจะเชื่อถือสื่อประเภทใดมากกว่ากัน ระหว่าง “หนังสือพิมพ์” กับ “ทีวี”

ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเชื่อถือทีวีมากกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ อาจจะด้วยสาเหตุที่ทีวีรับข่าวส่วนหนึ่งจาก “ราชการ” ผลิตข่าวออกมาได้เร็วกว่า อัพเดตกว่า ในขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับและนักหนังสือพิมพ์บางคนในห้วงเวลานั้น “หาแดก” ด้วยความเท็จอย่างเปิดเผยจนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า “ข่าวจากราชการ” จะเป็นตัวบ่งชี้ถึง “คุณภาพ” ของข่าวหรือคุณภาพของหนังสือพิมพ์นะครับ

ที่พูดอย่างนี้เพราะเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ผมถูกส่งเข้าไปเรียนหลักสูตรอะไรสักอย่างของกรมประชาสัมพันธ์ อาจารย์ชิต วิภาสธวัช (บรรณาธิการข่าวทีวี) สอนเรื่อง “ข่าว” อาจารย์ชิตได้พูดเหมือนไม่ยอมรับคุณภาพข่าวของ “นสพ.สยามรัฐ” ทำนองว่า “รับแต่ข่าวแจกของทางราชการ”

ถึงแม้ผมจะไม่ใช่คนของสยามรัฐ แต่ก็เขียนเรื่องสั้นอยู่ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์กับนิตยสารรายเดือน “ชาวกรุง” (ไม่ได้เขียนที่อื่นอีก) มีเพื่อนกับคนที่เคารพนับถือเป็นครูอยู่หลายคนประจำทำงานอยู่ในค่ายนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะโต้เถียงกับอาจารย์ชิต แต่แล้วในที่สุดก็ยอมรับว่า ข่าวของสยามรัฐคุณภาพน้อย-เป็นความจริง

“สยามรัฐ” ยุคนั้นเหมือนไม่ได้ขายข่าว แต่ขายบทความหรือบทวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า โดยเฉพาะคอลัมน์หน้า 5 ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

มาถึงวันนี้บ้านเรามีสื่ออีกประเภทหนึ่งในตลาดการข่าว นั่นคือ “สื่อโซเชียล” หรือ “สื่อออนไลน์”

หากจะมีโพลสำรวจ “ความน่าเชื่อถือของสื่อ” กันอีกครั้ง สื่อประเภทใหม่ที่ว่าอาจจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเลยหรือได้รับน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็น “ข่าวปั้น” หรือ “ข่าวตามกระแส” ขณะเดียวกัน ทีวีซึ่งเคยมีตัวเลขน่าเชื่อถือสูงกว่าหนังสือพิมพ์ก็จะกลายเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า ทั้งนี้เพราะทีวียุคใหม่เกือบทุกช่องล้วนก๊อบปี้ข่าวจากสื่อออนไลน์

รวมไปถึงข่าวจากราชการระดับสูงก็เป็นข่าวที่ต้องฟังหูไว้หู เพราะจะมีการพลิกข่าวเป็นตรงข้าม หรือแก้ข่าวตามมาเกือบจะทุกครั้ง (ฮา)

โดยเฉพาะข่าวจากผู้แสวงหาผลประโยชน์ (ทั้งหลายแหล่) นั้นแทบจะเชื่อถือไม่ได้เอาเสียเลย ยกตัวอย่างจากกรณี ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมการที่ปรึกษา ปปง. แถลงข่าวดิสเครดิตประสิทธิภาพ ปปง. ว่า

“สถิติยื่นคำร้องต่อศาลของ ปปง. เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,200 ราย แต่ศาลให้เป็นไปตามคำขอเพียง 12 ราย”

สำนักงาน ปปง. ต้องออกเอกสารตอบโต้การแถลงข่าวนี้อย่างสุภาพว่า

“ปปง. ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 1,225 คดี ศาลให้ตามขอ 1,128 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.08”

ผมเขียนซ้ำถึงประเด็น “ความไม่จริง” เปรียบเทียบกับ “ความจริง” นี้ 2 ครั้ง 2 หนราวกับติดอกติดใจความผิดพลาดของกรรมการที่ปรึกษา

หามิได้…ผมเขียนย้ำเพื่อชี้ให้เห็นว่า “ความไม่จริง” ที่อาจจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดอย่างมหันต์ ไม่ได้รับการแยแสและใส่ใจจากคนที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญระดับ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เลย!

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราต้องการ “ความจริง” มาประกอบการตัดสินใจ เราต้องไม่ใช้ความไม่จริง ไม่ใช้ความเท็จ และต้องไม่ใช้กระแส

พูดกันอย่างภาษาชาวบ้านให้พอเข้าใจกรรมวิธีของกระบวนการยุติธรรมก็คือ เมื่อเกิดเหตุอาญา พนักงานสอบสวนรับแจ้งเหตุแล้ว จะทำการสืบสวนและสอบสวนหาความจริง การสอบสวนคือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยืนยัน “ความจริง” แล้วพนักงานสอบสวนก็จะปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อกฎหมาย ส่งอัยการพร้อม “ความเห็น” (เท่านั้น)

เราใช้ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนขั้นต้น หรือเรียกว่าเป็น “ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม” เพราะตำรวจทำงาน 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด (แถมเงินเดือนไม่แพงอีกต่างหาก) ประกอบกับ “ความจริง” ส่วนใหญ่ตำรวจท้องที่ชั้นประทวนซึ่งอยู่แบบ “ฝังราก” ย่อมรู้จริงกว่าใคร รู้ดีกว่าสารวัตรหรือผู้กำกับการที่ย้ายสับเปลี่ยนกันตามวาระ

พนักงานอัยการมีอิสระและอำนาจที่จะพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่อัยการคิดว่าควรจะได้ข้อเท็จจริงและมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งมีอำนาจที่จะทำการสอบสวนหรือร่วมสอบสวนในคดีที่ซับซ้อนและมีอัตราโทษสูง ทั้งนี้เพื่อ “คาน” หรือ “ถ่วงดุล” กับพนักงานสอบสวน

เท่าที่ผ่านมา อัยการกับตำรวจมีกฎหมาย ป.วิ.อาญา ที่คานและถ่วงดุลกันอยู่หลายตลบอย่างรอบคอบ มีตัวอย่างมากมายหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการถ่วงดุลดังกล่าว

เมื่ออัยการนำคดีไปสู่ศาล ศาลก็มีถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อความรอบคอบในกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ปลายธารของกระบวนการยุติธรรม คือ “ราชทัณฑ์” ซึ่งนอกจากจะลงทัณฑ์ตามคำสั่งศาลแล้ว กระทรวงยุติธรรมยังมีระบบ “เยียวยา” อันเกิดจากความผิดพลาดอีกด้วย

ทำไมเกือบทุกประเทศทั่วโลกจึงวางระบบยุติธรรมซับซ้อนหลายชั้นหลายตอนถึงปานนี้ เพราะทั่วโลกต่างเข้าใจซาบซึ้งถึงธรรมชาติอันบกพร่องของความเป็น “มนุษย์”

ถึงกระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงก็ยังคงมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ตำรวจยังถูกไล่ออก ปลดออก และถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกลงทัณฑ์ในความผิดที่ตนได้กระทำตลอดมา

ในความเป็นจริง อัยการซึ่งถือว่ามีความรู้ทางการกฎหมาย ตลอดจนฐานะและอำนาจหน้าที่เหนือกว่าพนักงานสอบสวนที่เป็นตำรวจ ก็เคยมีประกาศราชกิจจาฯ โปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในความเป็นจริง มีประกาศราชกิจจาฯ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งที่ผู้ที่จะเป็นตุลาการได้นั้นได้ผ่านการตรวจสอบประวัติและความประพฤติมาอย่างเข้มข้น

ความจริง คือความบกพร่องของมนุษย์มันเป็นธรรมชาติ