คุยกับปิยบุตร แสงกนกกุล 3 เปลี่ยนที่ต้องเกิดในเลือกตั้ง 2566 เบื้องลึกบทบาท-ความสัมพันธ์ก้าวไกล ให้ผลโหวตประชาชนชี้วัด ‘สำเร็จ’ – ‘ไม่สำเร็จ’

รายงานพิเศษ | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

คุยกับปิยบุตร แสงกนกกุล

3 เปลี่ยนที่ต้องเกิดในเลือกตั้ง 2566

เบื้องลึกบทบาท-ความสัมพันธ์ก้าวไกล

ให้ผลโหวตประชาชนชี้วัด ‘สำเร็จ’ – ‘ไม่สำเร็จ’

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มองการเลือกตั้งในปี 2566 ว่า ควรเป็นเครื่องมือของกระบวนการประชาธิปไตย 3 เรื่องใหญ่ๆ โดยจะเรียกว่า “3 เปลี่ยน”

เปลี่ยนแรก ก็คือ “การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล” ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ หรือพรรคไหนจะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

ใจความสำคัญคือต้องเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากที่เป็นอยู่ให้ได้ เพราะรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นชุดของการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมา 8 ปี และเข้าสู่ปีที่ 9 ก็พบว่าปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ได้ถูกแก้ไข ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังมีอยู่ และปัญหาทางการเมืองจากการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ของเยาวชน

ถ้ารัฐบาลยังเป็นขั้วเดิมอยู่ ความคิดและการปฏิบัติแบบอำนาจนิยมก็จะยังดำเนินอยู่ต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการให้ระบบการเมืองกลับมาอยู่ในแบบปกติ หรือแบบก่อนจะมีการรัฐประหารปี 2557 หรือรัฐประหารปี 2549 “จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนขั้วรัฐบาลให้ได้”

เปลี่ยนที่สอง “เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ” สภาพปัญหาการเมืองตลอด 4 ปีมันเป็นผลมาจากพิษร้ายของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตัว ส.ส. และทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถส่งออกนโยบายได้อย่างครบถ้วน หรือแม้กระทั่ง ส.ว. 250 คน และอย่างที่ทุกคนทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้ยากมาก

“แต่ผมเชื่อว่าถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้เสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย น่าจะเป็นประตูบานแรกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมามันไม่มีกระบวนการอะไรในการแก้รัฐธรรมนูญเลย เหตุเพราะโดน ส.ว.ขัดขวางไว้”

“เพราะฉะนั้น ถ้ารอบนี้หากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คะแนนเสียงมาเยอะ ผมเชื่อว่า ส.ว.ก็คงจะต้านได้ยาก”

เปลี่ยนที่สาม “เปลี่ยนการเมืองให้เป็นการเมืองใหม่”

ปิยบุตรอธิบายว่า “การเมืองเก่า” หมายถึง สไตล์การทำงานทางการเมืองในเรื่องต่างๆ พูดง่ายๆ ว่าเป็นลักษณะการทำงานที่เป็นกลุ่มก้อน หรือคนที่เข้ามาเป็นนักการเมือง และเก็บ ส.ส.เข้ามาไว้ในมุ้งของตัวเองเพื่อจะเอาไปแลกตำแหน่งรัฐมนตรี ใช้ทรัพยากร รอเก็บเงินทอนไว้เป็นเงินทุนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป และเป็นการเมืองลักษณะประคับประคอง ไม่ยอมปรับเปลี่ยนเรื่องสำคัญๆ เพื่อที่จะให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาก็มักจะเป็นระบบอุปถัมภ์โยงใยคอยค้ำจุนกันเอง พูดง่ายๆ ว่าคุณจะไปอยู่พรรคไหนก็ได้ขอให้ได้เป็นรัฐบาล

ส่วนนิยามของ “การเมืองใหม่” ปิยบุตรบอกว่าหมายถึง เป็นการเมืองของกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยที่รู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ

บทพิสูจน์ง่ายๆ เวลาเราดูข่าวสารการเมืองต่างๆ เราจะเห็นข่าวว่า พรรคไหนดึง ส.ส.ไป พรรคไหนได้มุ้งนี้มา บางทีนักวิเคราะห์ข่าวการเมืองก็ชอบจับช้างชนช้าง ใครมี ส.ส.มากกว่ากัน ใครมีอาวุธอยู่มากกว่ากัน มาชนกันใครจะชนะ

แต่ถ้าเป็นต่างประเทศเวลาเขาเลือกตั้ง บทสนทนาจะประมาณว่า นโยบายเป็นยังไง เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาคุยกันแบบนี้

สภาพการเมืองแบบเก่าไม่ได้ถูกไม่ได้ผิดอะไร แต่มองว่ามันไปต่อไม่ได้ ควรถึงเวลาที่จะเปลี่ยนสภาพการเมืองเป็นแบบใหม่ ที่หันมาสนใจเรื่องนโยบาย ความคิด มากกว่าเรื่องการหา ส.ส.มาเข้าพรรคเพื่อหวังจะเป็นรัฐบาลกันอย่างเดียว

มีคนพูดอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยต้องรวมกันเป็นปึกแผ่นให้ได้ก่อนถึงจะชนะ?

คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มันมีพัฒนาการของมันมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยภายในก็จะมีสองฝั่งใหญ่ๆ คือฝั่งของแฟนพันธุ์แท้ของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย

กับอีกฝั่งที่เขาเชื่อในอุดมการณ์ความคิดแบบประชาธิปไตย และไม่เอากับรัฐประหาร

ทีนี้พอพรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาตอนการเลือกตั้งปี 2562 ก็ดูดซับเอาฝั่งที่ไม่เอารัฐประหารมา มันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนเห็นว่าเกิดกรณีขัดแย้งกันระหว่างสองกลุ่มนี้

คราวนี้เมื่อมีคนถามว่า ถ้าหากฐานเสียงของฝั่งประชาธิปไตยมันแยกกันแล้วจะไปสู้เขาไหวหรือเปล่า ปิยบุตรตอบว่า ครั้งนี้เราจะเห็นชัดว่าฐานเสียงของทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกันเหมือนตอน 2562 ที่ฐานเสียงอาจซ้อนกันอยู่ รอบนี้จะเริ่มเห็นแล้วว่ามันคนละชุดกัน

ผมคิดว่าเพื่อไทยควรจะกังวลกับทางฝั่งภูมิใจไทย-พลังประชารัฐมากกว่า เพราะฐานการเมืองคล้ายๆ กัน

 

กลับมาที่คำถามว่า “แล้วทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง” ปิยบุตรบอกว่า ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ก็คิดเหมือนเดิมว่า พรรคเพื่อไทยจะได้อันดับที่ 1 แน่นอน เชื่อว่าน่าจะได้ที่นั่งในสภา 200 ที่ขึ้นไป แต่จะถึง 250 หรือไม่ก็ยังไม่แน่

แต่ที่สำคัญ เราจำเป็นที่จะต้องเอาธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า “พรรคไหนที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1 ต้องให้เขาตั้งรัฐบาล และให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี” กลับมาให้ได้

ตอนหลังพฤษภาคม 2535 การเลือกตั้งก็ใช้ธรรมเนียมแบบนี้มาตลอด จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เริ่มใช้ ‘วิชามาร’ ที่หากได้ 25 ที่นั่งขึ้นไปก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เราอุตส่าห์สร้างธรรมเนียมขึ้นมาเพื่อจัดการยุค ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องเอาธรรมเนียมเดิมนี้กลับมาให้ได้

 

ส่วนกรณีร้อนเรื่องความสัมพันธ์-บทบาท ระหว่างปิยบุตรกับพรรคก้าวไกล ส่วนตัวยืนยันว่ายังสนับสนุนพรรคเหมือนเดิม หากต้องกากบาทลงคะแนนเสียงก็เลือกพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม ถ้ากฎหมายไม่ห้าม ไม่ตัดสิทธิผมก็คงจะไปลงสมัครสมาชิคพรรคก้าวไกลแน่ๆ

แต่กฎหมายตัดสิทธิผมไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคด้วย ไม่ใช่แค่ห้ามลงสมัคร ส.ส. แล้วตอนนี้ก็อยากฝากถาม กกต. ว่าถ้าผมบริจาคให้พรรคก้าวไกลจะเข้าข่ายครอบงำหรือเปล่า ถ้าไม่ก็อยากจะตัดบัตรเครดิตให้ทุกเดือน

แค่ตอนนี้ผมถอยออกมาส่วนหนึ่งก็มาจากเวลาเราคิด เราทำอะไรแล้วเราก็อยากให้มันเป็นอย่างที่เราคิด อย่างที่เราเสนอ อีกด้านหนึ่งชุดปัจจุบันที่เขากำลังทำอยู่เขาอาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ แล้วถ้าหากผมไปพูดไปชี้นำอะไรต่างๆ แล้วสุดท้ายเขาทำไม่ได้ผมก็ผิดหวัง หรือถ้าเขาทำอีกอย่างหนึ่งแล้วผมไม่ชอบผมก็ผิดหวัง

ในขณะเดียวกันใครต้องเป็นคนรับผิดรับชอบ? ก็ต้องเป็นผู้นำพรรคชุดนี้ ผมไม่เกี่ยว

ดังนั้น เพื่อความแฟร์ต่อทั้งเขาทั้งผม ผมเลยถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ หรือนักวิชาการที่อยากนำเสนออะไรต่างๆ เข้าไป

แล้วให้การเลือกตั้งมันผ่านไป ให้ผลเป็นเครื่องชี้วัดว่าเขาสำเร็จ ไม่สำเร็จ แล้วงวดหน้าจะเป็นยังไงต่อไป

แต่ผมในฐานะผู้สนับสนุน ในฐานะคนติดตามการเมืองก็จะมีข้อสังเกต หรือการตั้งคำถามไปตลอดเวลา

ดังนั้น พออ่านข่าว และตัวผมเองไม่ได้ออกมาพูด คนก็อาจวิเคราะห์เชื่อมโยงไปต่างๆ นานา เอาเคสของคริส โปตระนันทน์ หรือเคสของคนนั้นคนนี้ เอามาโยงเกี่ยวกับกรณีของผม มันเป็นคนละประเด็นกัน

ของผมมันมาจากเรื่องที่ว่าผมต้องการถอยออกมาทำอีกบทบาทหนึ่ง ผมก็ยังยืนยันว่ายังสนับสนุนพรรคนี้ต่อไป

 

ส่วนเคสของคนอื่นๆ เขาก็คงผิดหวังในการทำงานของผู้บริหาร สิ่งที่เขาอยากทำเขาไม่ได้ทำ มันก็เป็นปัญหาภายในของพรรคการเมืองทั่วไป

เพียงแต่ถ้าผมจะฝากอะไรไปได้ก็คือ เวลาเราเริ่มต้นกันมาทุกคนก็เริ่มกันด้วยดี และเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะมีความขัดแย้งและจะมีคนออก

ตั้งแต่ผมตามการเมืองมา พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 6 มกรา คุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน ก็มีเรื่องยกคนออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน คุณเนวิน ชิดชอบ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยกคนออก เป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมืองที่อยู่กันไปแล้วรู้สึกว่าไปไม่ได้ก็ถอยออก แค่นั้นเอง

แต่สำหรับผมคิดว่าเวลาออก แน่นอนหลายๆ คนออกเงียบๆ ก็ได้ หรือบางคนถ้ามีคนถามก็จำเป็นต้องตอบ ต้องอธิบายว่าออกเพราะอะไร

ทีนี้เวลาอธิบายผมเชื่อว่าเอาพอสมควรแก่เหตุ อธิบายแค่ว่าเราออกเพราะอะไร เพราะในท้ายที่สุดผมเชื่อว่านักการเมืองไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน สิ่งหนึ่งที่คนจะตัดสินใจเลือกคุณ ไม่เลือกคุณ หรือคุณจะกลายเป็นดาวฤกษ์ได้จริงๆ น้องๆ หลายๆ คนที่เริ่มต้นกันมาแล้วแยกย้ายกันไปผมก็มีความปรารถนาที่อยากให้ทุกคนเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งแสงของคนอื่น

แต่ถ้าหากเราออกไปแล้ววิพากษ์วิจารณ์ที่เดิม ในแบบที่วิจารณ์ไม่หยุดและขยายผลมันออกไปเรื่อยๆ นั่นก็แปลว่าเรากำลังเป็นดาวเคราะห์ที่ต้องใช้แสงจากพรรคเก่ามาฉาย

ผมเชื่อว่าทุกคนคิดต่างทางนโยบาย ทางการเมือง หรือมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ต้องแยกย้ายกันไปและไปหาที่หาทางสร้างตัวเอง

ให้เป็นดาวฤกษ์ดีกว่าใช้วิธีการด่ากันไปด่ากันมา เผาบ้านตัวเอง

ผมคิดว่าเวลาที่พี่น้องประชาชนจะตัดสินใจเลือกใครเขาก็คงจะเลือกจากเรื่องเหล่านี้ด้วย

ชมคลิป