‘หลับตา’ แรงบันดาลใจ ‘สุดเศร้า’ ของ ‘เพลงรักโรแมนติก’

คนมองหนัง

“หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน จะไม่มีผู้ใดคิดทำร้ายเธอได้ หลับตาซิที่รัก ขอเธอนอนหลับฝัน เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน”

หลายคนคิดว่าเพลง “หลับตา” ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “คืนรักที่อบอุ่น” ของ “ชรัส เฟื่องอารมย์” ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2531 นั้นเป็นเพลงรักโรแมนติกหวานซึ้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพลงเพลงนี้กลับมีที่มาจากเรื่องราวชวนเศร้าเกือบๆ จะเป็น “โศกนาฏกรรม” เลยทีเดียว

ดังที่ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีเพลง “หลับตา” เปิดเผยเอาไว้ในงาน “เล่นไป คุยไป” ที่ร้านอาหารอิมเมจิ้นเฮ้าส์ บ้านสวน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม

 

“พี่จะเป็นคนเก็บรายละเอียดอะไรที่มันซึ้งๆ เรื่องที่แต่งเพลงนี้ จริงๆ เรื่องมันมาตั้งแต่ตอนที่พี่เด็กๆ แต่ว่าเพลงนี้พี่มาแต่งตอนที่พี่ทำงานแต่งเพลงอาชีพแล้ว

“คือตอนนั้นพี่ดูทีวี จะมีละครอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่ง ‘อาเชิด ทรงศรี’ เป็นผู้กำกับหนัง ที่เป็นผู้กำกับข้างหลังภาพ ตอนนั้น อาเชิดทำละครเรื่องนี้ออกทีวี แล้วเป็น based on a true story (ละครที่สร้างจากเรื่องจริง)

“พี่ก็นั่งดู ขึ้นมาก็จะเป็นอาเชิด ทรงศรี นั่งอยู่บนรถไฟ จากแถวๆ น่าจะนราธิวาส นั่งรอรถไฟออกเพื่อจะกลับมากรุงเทพฯ ทีนี้ มีสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง คือ เมียแกก็เดินจูงผัวซึ่งตาบอด มาขายของให้คนที่นั่งอยู่บนรถไฟ นั่งรอรถไฟ ผู้หญิงตาดีนะจูงผัวตาบอดขาย (ของ) ไปเรื่อยๆ แก (เชิด ทรงศรี) สนใจ แกก็เลยขอคุยด้วย เขา (สามีภรรยาคู่นั้น) ก็เล่ามา

“พอเล่าปั๊บ ละครมันก็แฟลชแบ็ก (ย้อนภาพกลับไปยังอดีต) เป็นผู้ชายกับผู้หญิงคู่นี้แหละ ผู้ชายตอนนั้นตาดีนะ แต่งงานกัน เป็นอิสลาม เป็นคนใต้ ในงานแต่งงาน พอแต่งงานเสร็จ ผู้ชายก็นั่งกล่อมผู้หญิง ผู้หญิงหนุนตัก แล้วก็ร้องเพลงเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงคือชื่อละครเรื่องนี้ ‘บุหลันลันตู’ พี่ก็โอเค ฟังแล้วเพราะ ซึ้ง ก็ดูละครต่อไป

“(สามี-ภรรยาคู่นี้) เขาก็ใช้ชีวิตด้วยกัน ก็เป็นคนใต้ ผู้ชายก็จะออกไปกรีดยางกลางวัน ตั้งแต่เช้ามืด ผู้หญิงก็จะเป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน ฐานะไม่ได้ร่ำรวย ฐานะก็คือยากจน ก็เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ใช้ชีวิตไป

“ทีนี้ มันจะมีอยู่วันหนึ่ง ซึ่งแบบว่าผู้ชายกลับบ้านเร็ว เพราะทำงานเสร็จเร็ว โดยที่ไม่รู้เลยว่าเมียตัวเองนี่มีผู้ชาย (อื่น) มานอนในบ้าน คือ จริงๆ แล้ว แฟนเขาอยากจะช่วยผัวหาเลี้ยง (ครอบครัว) ก็เลยขายตัวกับคนแถวหมู่บ้าน พอผู้ชายกลับมาที่บ้าน เปิดประตูมาเจอภาพเข้า เขาก็เสียใจมาก

“แต่ว่า ไอ้อันนี้ทำให้พี่รู้เลยว่าแบบ โอ้โห มันสะเทือนใจ คือ แทนที่เขาจะทำร้ายเมียเขา หรือทำร้ายผู้ชาย (อื่นที่มานอนกับเมีย) เขาไปคว้าเอาคบเพลิงมาจี้ตาเขา เขาบอกว่าเขาไม่เห็นดีกว่า เขายอม

“พี่ก็เลยรู้สึกว่า นี่ถ้าเผื่อเป็นคนอื่น เขาแทนที่จะทำร้ายตัวเอง เขาทำร้ายแฟนเขาแล้วใช่ไหม หลังจากนั้น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องนี้ ก็คือว่า (เมีย) ต้องจูงผัวออกมาทำมาหากิน

“อันนี้มันอยู่ในใจพี่มาตลอด มันสะเทือนใจ ก็เลยเก็บเอาไว้ แล้วกะว่าวันหนึ่งจะต้องแต่งเพลง ก็เลยย้อนกลับไปที่เพลงที่เขาร้องวันแต่งงาน มันคือเพลง ‘บุหลันลันตู’ ซึ่งมันจะเป็นแบบนี้

“(จากนั้น พนเทพได้ร้องเนื้อหาท่อนที่เขารู้สึกประทับใจในเพลงดังกล่าว) ‘ไม่มีความสุขใดจะซึ้งใจ เท่ากับได้กล่อมเธอที่รักให้นอน หลับตาเถิดยอดรักอย่าอาวรณ์ นอนในอ้อมแขนคนที่รักเธอ’

“มันก็จะมาเป็น ‘หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน จะไม่มีผู้ใด คิดทำร้ายเธอได้’ คือความหมายเดียวกัน เพียงแต่ว่าพี่มาแต่งใหม่เท่านั้นเอง”

 

ทั้งนี้ ในกระบวนการประพันธ์เพลง หลังจากพนเทพแต่งทำนองเพลง “หลับตา” เสร็จเรียบร้อย เขาก็ได้ส่งมอบงานให้เพื่อนรักที่เป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงฝีมือดีอย่าง “ชรัส เฟื่องอารมย์” ไปเขียนเนื้อร้องต่อ

โดยมีเงื่อนไขพิเศษ คือ พนเทพได้เขียนคำร้องท่อนฮุกบางส่วนล็อกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

“เรื่อง (เพลง) นี้ แต๋ม ชรัส เป็นคนแต่งเนื้อ แต่ว่าพี่เอาเรื่องทั้งหมดมาแต่งทำนอง แล้วพี่ใส่เนื้อตรงท่อนฮุกเอาไว้ (แล้วบอก) ว่าแต๋ม ท่อนนี้เนื้ออย่างนี้นะ ‘หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน’ เพราะว่าพี่ต้องการจะให้เรื่องมันเป็นแบบนี้ ก็เลยกำหนดเอาไว้ว่าตรงท่อนนี้ ขอคำนี้ ประโยคแบบนี้ แล้วส่วนตรงอื่น แต๋มเขาก็ไปจินตนาการต่อ”

ในที่สุด “หลับตา” ก็กลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ “พนเทพ-ชรัส” ซึ่งมีความเป็นอมตะยืนยงข้ามกาลเวลา เห็นได้จากการถูกนำมาคัฟเวอร์หรืออ้างอิงโดยศิลปินรุ่นใหม่หนแล้วหนเล่า •

| คนมองหนัง