วิกฤติหลักการ-เหตุผล ยุติธรรมไทยเสื่อมลง

เปาบุ้นจิ้นเปรียบว่า “หลักการ” คือสี่เหลี่ยม ส่วน “เหตุผล” คือทรงกลม ความหมายก็คือ เหตุผลดิ้นได้สุด แล้วแต่ใครจะพูดไปทางไหน แต่ไหนแต่ไรมนุษย์เรายึดมั่นถือมั่นจนตกหลุม “หลง” ได้ทั้ง “หลักการ” และ “เหตุผล”

สงครามศาสนายังหาเหตุผลมาให้คนฆ่ากัน

โสเครติสก่อนถูกประหาร ประกาศว่า นักปรัชญาเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์ แต่การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ วิญญาณที่ถูกคุมขังอยู่ในร่างกายยังขาดอิสรภาพในการเข้าถึงสัจธรรม ความตายคือการได้ปลดปล่อยวิญญาณจากเครื่องพันธนาการ นักปรัชญาผู้แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์จึงไม่กลัวความตาย

ความลุ่มหลงในหลักการและเหตุผลสามารถทำให้คนฆ่าคน

โสเครติสเป็นชาวเอเธนส์ เคยสมัครเป็นทหารเอเธนส์ไปออกรบกับสปาร์ตาถึง 3 ครั้ง น่าเชื่อว่าชีวิตจิตใจเลือดเนื้อของ “โสเครติส” มีความเข้มข้นไม่แพ้ใคร

แต่โสเครติสมีความศรัทธาในหลักการและเหตุผลมากเกินไปถึงกับเข้าขั้นตั้งตนเป็นศาสดา

กระทั่งในวัยชราอายุ 70 ได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยของเอเธนส์ เป็นเหตุให้นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยฟ้องศาล ฐานมอมเมาจิตใจเยาวชน ไม่นับถือเทพเจ้าประจำชาติและสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่

ในที่สุด โสเครติสถูกศาลประชาชน 500 คน ซึ่งมาจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ พิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยคะแนน 360 ต่อ 140 เสียง

 

ถ้าคนเราถึงขั้นลุ่มหลง-งมงายกับ “เหตุผล” และ “หลักการ” จะหาทางออกไม่เจอ!

กล่าวตามหลักพุทธปรัชญา หากไม่สุดขั้วไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่มีขาว ไม่มีดำ ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา ทุกปัญหาจะมีทางออก

แต่ผู้รู้หรือนักคิดมักติดกับดักที่เรียกว่า “ความลำเอียง” ดังนั้น เพื่อที่จะให้หลุดออกจาก “บ่วง” ทางความคิดความเชื่อที่สุดโต่ง พระพุทธองค์จึงสอนให้ครุ่นคิด ใคร่ครวญ สงสัย ไตร่ตรอง ทบทวนตรวจสอบ จำแนกแยกย่อยให้ละเอียดถี่ถ้วนด้วยหลักกาลามสูตร

ที่จริงแล้วหลักกาลามสูตรควรจะเจริญงอกงามในประเทศเสรีประชาธิปไตยเช่นประเทศไทย ความรู้ไม่ใช่แค่สิ่งที่ครูบอก หรือตำราเขียน ทุกความรู้สามารถจะถูกตรวจสอบ ทดลอง พิสูจน์และพัฒนาต่อยอด

ในทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย “นักกฎหมาย” ถูกสอนถูกอบรมบ่มเพาะให้ “เลื่อมใส” ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย

เช่น ปลูกฝัง ตอกย้ำให้เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยดีกว่าระบอบอื่นๆ (เช่น ระบอบ 3 ป.)

นักกฎหมายจะต้องบัญญัติหรือบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ใช้กฎหมายปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตย คัดค้านต่อต้านผู้คิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

ไม่ใช่ประพฤติตัวเป็นเนติบริกร จะต้องเคารพกติกา ร่วมกันสร้างและส่งเสริมค่านิยมสันติวิธี ไม่เห็นดีเห็นงามกับการใช้กำลัง ใช้อาวุธ

การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นไปในทางทำลาย

แต่ในความเป็นจริง “สิ่งที่สอน” กับ “สิ่งที่ทำ” มักจะไปคนละทาง!

 

กฎหมายอาญา มาตรา 116 ของไทยที่ว่าด้วยการ “ปลุกปั่น ยุยง” นั้น ในประเทศอื่นก็มีบัญญัติไว้เหมือนกัน หากแตกต่างกันตรงที่ “การใช้”

“ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขื่นใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ตั้งแต่ได้ชื่อว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” ประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 116 ของไทยไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

ส่วนมากใช้ไปเพื่อ “ทำลาย” ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กับ “ขจัด” คนเห็นต่างทางความคิด

ระบบกฎหมายของไทยมีความเป็น “เสรีประชาธิปไตย” และระบบการเมืองกับระบบยุติธรรมนั้นก็ย่อมจะต้องไปด้วยกัน

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบใดกัน

ตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม

“กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ ศรีบูรพา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์อมตะผู้เลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยก็ถูกจับกุม ครั้งแรกในปี พ.ศ.2485 จากเรื่อง “ใบปลิว” ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานก็ถูกขังไปเฉยๆ 84 วัน ต่อมาในปี 2495 ถูกจับอีกครั้งฐานเป็น “กบฏ” ถูกขังบางขวาง ยาว 5 ปี

 

ล่วงผ่านไป 80 กว่าปี แม้ “นักกฎหมาย” จะเปลี่ยนรุ่น คนเก่าตาย คนใหม่มาทำหน้าที่ ตำรวจรุ่นใหม่ พนักงานอัยการรุ่นใหม่ ผู้พิพากษารุ่นใหม่ แต่กฎหมายอาญา มาตรา 116 ยังคงถูกใช้ไปในทางเป็น “เครื่องมือ” ขจัดคนเห็นต่างจากรัฐเหมือนเดิม

ไม่เคยมีสักครั้งที่คณะทหารที่รวมตัวกัน โน้มน้าวจูงใจ ตระเตรียม และสั่งการเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลโดยใช้ใช้กำลังคนและอาวุธสงครามข่มขืนใจหรือประทุษร้าย จะถูกเล่นงาน

จวบจนถึง พ.ศ.นี้ กฎหมายนี้ก็ยังคงเป็น 1 ในเครื่องมือที่ถูกใช้จัดการกับ “แกนนำ” ซึ่งเป็นลูกหลานเยาวชนผู้ไม่ทนกับ “ระบอบ 3 ป.”

การแบ่งฝ่ายแบ่งข้างกันสุดโต่งทำให้คนเรา “หลงผิด”

ผิดแล้วยังเดินหน้าต่อไปด้วยการอ้างหลักการหรือหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองกระทำ ก็จะเกิดพฤติการณ์ที่เรียก “ดันทุรัง”

แน่นอนว่า ในโลกแห่งความจริงช่างซับซ้อนยอกย้อน เต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้น บางทีก็ถึงขั้นฉ้อฉล ไร้คุณธรรม ไม่มีมาตรฐาน

เมื่ออยู่ใน “วงจรอำนาจ” นักกฎหมายจำนวนไม่น้อยก็ชอบที่จะทำให้ความเห็นผิดเป็นถูก ทำสิ่งที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้เห็นเป็น “ความปกติ”

จนบัดนี้ “ความเชื่อมั่น” ของผู้คนทั่วไปที่มีต่อระบบยุติธรรมกำลังตกอยู่ภาวะวิกฤต!?!!